วิจัยไทยเล็งปั้น 183เส้นทาง'ท่องเที่ยวไร้คาร์บอน '

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว นับเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันและอนาคตข้อมูลจากจากนิตยสาร CEOWORLD คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 จะสร้างรายได้มากกว่า 2.75 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี โดยรายได้ส่วนนี้ยังกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างจากภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นที่มักจะกระจุกตัวไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

ดังนั้น การรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จึงได้จัดเสวนา “บพข. กับ 5 ปี แห่งการวิจัยเพื่อขับเคลื่อน รับมือ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการส่งเสริมการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งในพื้นที่เมืองหลักของประเทศ รวมถึงเมืองน่าเที่ยวที่เต็มไปด้วยศักยภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปี ในขับเคลื่อน รับมือ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 77 จังหวัด โดยแบ่งเป็น เมืองหลัก 22 จังหวัด และเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด ใช้งบประมาณไปแล้ว 1,000 ล้านบาท มีโครงการที่อยู่ในการดูแลกว่า 200 โครงการ เสร็จสิ้นสมบูรณ์จำนวน 138โครงการ โดยอยู่ในกระบวนการอีกประมาณกว่า 70 โครงการที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

ผศ.สุภาวดี กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานวิจัยได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เพื่อขยายเส้นทางท่องเที่ยวสู่เมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด ทำให้เกิดการกระจายรายได้ทั้งผู้ประกอบการที่พัก ขนส่ง หรือไกด์นำเที่ยว ซึ่งชุมชนมีรากฐานในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ทำให้การสร้างมูลค่าทางสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ ที่ต้องสอดคล้องกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นกระแสที่ทุกฝ่ายต่างรณรงค์ต่อต้านสินค้า และบริการที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันการท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการยกระดับการท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ

ภาคีเครือข่ายพร้อมเข้าร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

“เบื้องต้นในการทำงานวิจัยท่องเที่ยวสีเขียว ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการออกแบบแผนงานทำอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา (อสทก.) เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในสถานการณ์ต่างๆ มีสมาชิกกว่า 1,000 คน ส่วน อพท. ร่วมวางแผนในการทำชุมชนสร้างสรรค์ ที่มีทุนทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในการต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และ อบก. ในการทำท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Zero Carbon ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ในการนำไปสู่การสร้าง Carbon Neutral Tourism แพคเกจท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำซึ่งมีจำนวน 183 เส้นทาง ที่ขายให้กับนักท่องเที่ยว โดยได้ทางสมาคมสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ได้ร่วมวางแผนแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เกิดการมีส่วนร่วมเที่ยวแบบรักษ์โลก  ร่วมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยทำงานขับเคลื่อนด้วย” ผศ.สุภาวดี กล่าว

เป้าหมายของการดำเนินงานในอีก 5 ปี (2568-2570) ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า จะมีความเข้มข้นในการดำเนินงานท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน ตั้งเป้าที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้ได้ 20% ของพื้นที่วิจัยจำนวน 25 แห่ง ใน 15 จังหวัด ได้แก่ เกาะฝั่งอ่าวไทย 6 แห่ง เกาะฝั่งอันดามัน 5 แห่ง อุทยาน 9 แห่ง และชุมชนวิถีสายน้ำ 5 แห่ง รวมไปถึงที่พักและธุรกิจนำเที่ยวต่างๆ ผ่านตัวชี้วัด 5 ข้อ ได้แก่  1.ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามาในพื้นที่วิจัยจำนวน 20,000 คน โดยนิยามของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง คือ เข้ามาเที่ยวอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวน 10 วัน โดยนักท่องเที่ยว 1 คน จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อ 1 ทริป 50,000 บาท เฉลี่ย 5,000 บาทต่อวัน  2.เมืองน่าเที่ยว 45 จังหวัด จะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 25 ล้านบาท ภายในรอบระยะเวลา 5 ปี 3.ผู้ประกอบการ จะต้องมีรายได้ 10 ล้านบาทขึ้นในรอบระยะเวลา 5 ปี จากการดำเนินการด้วยงานวิจัยของ บพข. 4.ชุมชนชนท้องถิ่น 500 แห่ง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 5.ในแผนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง ซอฟพาวเวอร์ ที่จะต้องสร้างรายได้จากสินค้าสร้างสรรค์ให้ได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นภารกิจสำคัญที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ในงบประมาณการวิจัย คืองบประมาณการลงทุนที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย

วลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์

ด้านวลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รักษาการรองผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. มีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับผู้ประกอบการโดยเร่งให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกการบริหารและจัดการทุนวิจัยที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภายใต้กรอบงานวิจัย การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือเป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ บพข. เร่งดำเนินการวิจัยในด้านธุรกิจท่องเที่ยวคุณค่าสูง การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และทุนทางวัฒนธรรม ที่จะเป็นกลไกในการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย สำหรับ อีก 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารมูลค่าสูง, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน, เศรษฐกิจหมุนเวียน, ดิจิทัล, ระบบโลจิสติกส์ และระบบคมนาคมแห่งอนาคต

วลัยทิพย์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่สำคัญในการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง ผู้ประกอบการในทุกระดับ คือ กลุ่มเป้าหมายที่ บพข. จะมีส่วนเข้าไปหนุนเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์ อย่าง กลุ่มมหาวิทยาลัย ที่มีการวิจัยในหลากหลายเรื่อง แต่งานวิจัยบางส่วนอาจจะไม่ได้นำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ จึงเกิดแนวคิด ย้ายงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง ผ่านการเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตั้งแต่มาตรฐาน ตลาด และเรื่องทรัคสินทางปัญญา ทั้งนี้อีกกลุ่มเป้าหมายที่มีความท้าทายคือ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้ 500-600 ล้านบาท จะต้องสร้างให้เกิดมูลค่าทางอุตสาหกรรมให้ได้ 1,000 ล้านบาท โดย บพข. ได้เริ่มนำแนวทางการวิเคราะห์กลุ่มบริษัทผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Voluntary Consultant โดยได้อดีต CEO จากบริษัทใหญ่หลายแห่งร่วมเป็นอาสาสมัคร ในการให้คำปรึกษา วิเคราะห์ปัญหา และชี้แนะแนวทางในการสร้างผลประกอบการต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายตลาดที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้มากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศุภมาส” หนุน สกสว. ขับเคลื่อนการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “TRIUP FAIR 2024” ดึงภาครัฐ-เอกชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 หรือ TRIUP FAIR 2024 ภายใต้แนวคิด “Impact Journey to Ignite Thailand :

เกาะติดน้ำท่วม ชู'แผนน้ำชุมชน'ลดเสี่ยง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 15 จังหวัด  ปัจจุบันยังมีปัญหาอุทกภัยอยู่ 10 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ได้แก่ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี

วศ.อว. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI)

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ขั