ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว จ.ร้อยเอ็ด ไร้การเผาป่า 30 ปี คว้ารางวัลป่าชุมชน ปี 67

ต้นพะยูง ไม้ล้ำค่าของผืนป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว 

ท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งดินภล่ม น้ำท่วม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ปัจจัยส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ปัจจุบันนานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นอีกหนทางที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์

ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว

อย่างไรก็ตาม แม้ผืนป่าจะมีความสำคํญ แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นความกระหายของมนุษย์ที่เข้ามาบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า แสวงหาผลประโยชน์จากป่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นแนวทางการสร้างป่าชุมชน จึงเป็นอีกทางออกที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ เพราะป่ามีพืชพรรณ สมุนไพร และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ การสร้างแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลอนุรักษ์และพึ่งพิงป่าโดยไม่ทำร้ายป่า ถือเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพเพราะมนุษย์ก็เป็นอีกกำลังสำคัญในการปกป้องผืนป่า 

ด้วยเหตุนี้ทุกๆ ปี จะมีการเฟ้นหาป่าชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการดูแลรักษาป่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าให้มีความยั่งยืน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างพอเพียง จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อมอบรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ชุมชน โดยกรมป่าไม้ และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้โครงการ  “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน”  เป็นการช่วยปลุกสังคมให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกรวนและยังเป็นกลไกในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ

ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว คว้ารางวัลชนะเลิศคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน

สำหรับรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2567 รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศได้แก่ ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว ต.ช้างเผือก อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมรับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง ต.นาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ป่าชุมชนบ้านพุบ่อง  ต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และป่าชุมชนบ้านวังไทร (ถ้ำพระหอ) ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และยังมีมีป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลในระดับภาคจำนวน 8 แห่ง และรางวัลดีเด่นด้านการพัฒนา4  แห่ง รวมป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 16 แห่ง มีพื้นที่ป่า 37,062.61 ไร่ สามารถในการกักเก็บคาร์บอนได้ 233,494.443 ตันคาร์บอน เฉลี่ยอัตราการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ประมาณ 6.3 ตัน/ไร่ ทั้งนี้ในตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา โครงการได้สนับสนุนป่าชุมชนไปแล้ว 1,779 แห่ง พื้นที่ป่ารวมกว่า 1.6 ล้านไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บและดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า  10 ล้านตันคาร์บอน

ผู้บริหารจากภาครัฐและราช กรุ๊ป

สุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ถึงร้อยละ 55 ของประเทศ ตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ตามนโยบาย ป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตลอดจนร่วมเป็นแรงหนุนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การส่งเสริมให้ชุมชน เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลร่วมกับภาครัฐ ในรูปแบบของป่าชุมชน ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ถือเป็นยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้ให้ความสำคัญ ด้วยเล็งเห็นว่าการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้จะยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากองคาพยพของสังคม โดยเฉพาะประชาชนและชุมชนซึ่งเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดป่ามากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศให้ถึง 15,000 แห่ง รวมพื้นที่ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2570

หน่วยลาดตระเวนดูแลป่าตอนกลางวัน ในป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว

“ผลสำเร็จของป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลเป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดว่า คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและเกื้อกูลกัน เมื่อมีการพัฒนาและบริหารจัดการป่าที่ดี ชุมชนก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจากป่าที่สมบูรณ์ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ต่อยอดพัฒนาอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องบุกรุกทำลายป่า และป่าชุมชนต้นแบบเหล่านี้จะเป็นแหล่งข้อมูลด้าน การบริหารจัดการป่าชุมชนที่สำคัญ ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการดูแล  ป่าชุมชน เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาป่าชุมชนของตนเองต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้  กล่าว

ส่งต่อแนวคิดอนุรักษ์สู่เยาวชนในชุมชน 

ด้านนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ จะช่วยลดปัญหาด้านภัยพิบัติและภาวะโลกร้อน ป่าชุมชน จึงเป็นความหวังและพลังในการรักษา ฟื้นฟู ดูแลผืนป่าและขับเคลื่อนสังคม ซึ่งในปีนี้ป่ารักชุมชนทั้ง 16 แห่ง ที่ร่วมมือร่วมใจมุ่งมั่นดูแลป่าไม้อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน ทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของประเทศ ที่ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพที่ทุกคนในสังคมพึ่งพาอาศัย และจากนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนป่าชุมชนเพื่อตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ของชาติ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ต่อไป

พืชพรรณในป่าอุดมสมบูรณ์ 

ดวงจันทร์ พาลำโกน ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว เล่าว่า  ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว เป็นป่าชุมชนพื้นราบ มีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่  เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นจึงมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่ป่าผืนนี้ก็ถูกบุกรุกตัดไม้พยุงอยู่บ่อยครั้ง เพราะในป่ามีต้นพะยูงเส้นรอบวงกว่า 80 ซม. ขึ้นไปมากกว่า 1,400 ต้น และไม้รุกขมรดกหลายต้น  จึงได้เกิดจิตอาสาของชาวบ้านกว่า 200 คน ในการดูแลพิทักษ์ป่า  และจัดตั้งเป็นป่าชุมชนมีคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ในการดูแลป่า ซึ่งจะมีกลุ่มจิตอาสาทำหน้าที่ในช่วงกลางวันจะลาดระเวนและกลางคืนจะอยู่ประจำจุด เพื่อคอนสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังกลุ่มที่จะมาลักลอบตัดไม้ หากจุดไหนที่สุ่มเสี่ยงจะมีการขุดคูคลองและล้อมรั่วลวดหนามโดยรอบ และผืนป่าแห่งยังปลอดไฟป่ามาแล้วกว่า 30 ปี ตอนนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายและขยายให้มากขึ้น เพื่อให้คนรักษ์ป่า เพราะป่าก็ถือเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์เช่นกัน

ป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง

วิเชียร สมฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง  ได้เล่าว่า ผืนป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่อยู่บนที่สูงที่สุดของต.นาพูน มีประชากรอาศัยหลายชาติพันธุ์ มีพื้นที่กว่า 2,600 ไร่ ในอดีตป่าแห่งนี้ถูกทำลายจากการสัมปทานป่า และการตัดไม้ทำลายป่าจากกระบวนการไม้เถื่อน และการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนบางส่วนก็เคยเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า แต่ได้กลับใจมาดูแลป่าชุมชน และดึงตัวแทนของชาติพันธุ์เข้ามาร่วมกิจกรรมในการดูแลป่า เพราะป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหาร ทั้งเห็ด สมุนไพรป่า ที่ชาวบ้านได้าเก็บในการไปประกอบอาหารหรือจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังได้ส่งต่อแนวคิดไปสู่ลูกหลานในชุมชนให้เห็นความสำคัญของป่าที่จะเป็นสมบัติในอนาคต 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รัฐบาล' ยันเกาะติดสถานการณ์ 'ดีเปรสชันโนรู'

รัฐบาลติดตามสถานการณ์-เฝ้าระวังพายุโนรูอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือเต็มที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน.รับทราตลอด รวมทั้งดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ