อว.มอบ70 รร.สาธิต นำทัพสู้ศึกสอบPISA

หลังจากที่ผลคะแนนการสอบPISA เมื่อปี 2022ของเด็กไทยออกมา ในทิศทาง ที่มีคะแนนลดลง ใน3วิชาหลัก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน เมื่อเทียบกับผลการสอบ PISAเมื่อปี 2018 ทำให้หลายฝ่าย ที่เกี่ยวข้องไมนิ่งนอนใจ ล่าสุด กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกมาขับเคลื่อน เพิ่อยกระดับผลการสอบPISAครั้งต่อไปในปี2025 ให้สูงขึ้น

 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงอว. ได้ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานตามแนวทางและดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว.โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะผู้บริหาร และคณาจารย์จากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ เข้าร่วม ที่ห้องประชุม Chatrium Ballroom 1 โรงแรม Chatrium Grand Bangkok กรุงเทพฯ

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวง อว.กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับผลการประเมิน PISA ของประเทศไทย โดยตนขอมอบนโยบายสำคัญ 3 เรื่องในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียน คือ 1.การพัฒนาทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาช่วย ตลอดจนพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ที่ทันสมัย และ 3.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และภาคเอกชน

“ถึงแม้ว่าการพัฒนาสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA จะเป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลได้อย่างแน่นอน” รมว.อว. กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว.รับผิดชอบเรื่องการเตรียมยกระดับผลการประเมิน PISA 2 เรื่องคือ 1.เรามีโรงเรียนสาธิตซึ่งจะต้องมีการสอบ PISA 2.กระทรวง อว. ดูแลคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ผลิตครูที่จะไปพัฒนาเด็ก เราต้องทำ 2 เรื่องนี้ คือ การทำความเข้าใจกับครูในการที่จะพัฒนาและเตรียมพร้อมเด็กที่จะสอบในปี 2568 และวิธีการที่จะพัฒนาเด็กเหล่านี้จะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็มีหลายแบบ ทั้งเรื่องการเรียน ซึ่งต้องมีการปรับกระบวนการเรียนเพื่อที่จะให้สอดรับการประเมิน PISA  ได้ด้วย เรื่องของการทดลองทำข้อสอบ รวมถึงกระบวนการที่จะต้องพัฒนาวิธีคิดของเด็ก เพื่อให้สามารถนำไปสู่การทำข้อสอบที่ตอบโจทย์ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ต้องทำที่โรงเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำร่วมกับครอบครัว ทำร่วมกับครูรวมถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งดูแลคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์

“จริงๆ เด็กไทยและโรงเรียนต่างๆ มีศักยภาพ เพียงแต่เราต้องทำให้ถูกจุด มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะพัฒนา ตามสถิติที่ผ่านมา นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีคะแนนสอบเฉลี่ยสูงกว่าโรงเรียนในกลุ่มอื่นๆ และมี นักเรียนในบางกลุ่มโรงเรียนจะมีคะแนนต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจน  ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัย ดังนั้น ถ้าเราสามารถที่จะลงไปร่วมทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนในกลุ่มนี้ เอาโรงเรียนในกลุ่มสาธิตนำร่อง พร้อมไปกับการลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียนในกลุ่มต่างๆ และยกระดับโรงเรียนกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยขึ้นมาได้ คะแนนก็น่าจะดีขึ้น ขณะที่โรงเรียนตามพื้นที่จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฎที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้าไปช่วย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเข้าไปช่วยยกระดับ” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ขณะที่ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการพัฒนาทักษะและความสามารถการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้พัฒนาผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งเสริมการบูรณาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของเด็กไทย พร้อมปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อีกทั้ง โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทางของโครงการประเมินผลระดับนานาชาติ (PISA) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว. ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน PISA ในปี 2568 นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'

เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล  โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ

วิจัยเฝ้าระวัง รับมือ ก.ย.-ต.ค.เสี่ยงน้ำท่วมสูง

สถานการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบอุทกภัยหนักสุด  ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ส่วนภาคอีสานเริ่มเจอน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม