วิจัยเฝ้าระวัง รับมือ ก.ย.-ต.ค.เสี่ยงน้ำท่วมสูง

สถานการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบอุทกภัยหนักสุด  ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ส่วนภาคอีสานเริ่มเจอน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ และเตรียมความพร้อมรับมือตลอดช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้สูญเสียไปมากกว่านี้

ในช่วงเชียงรายวิปโยคน้ำท่วมสูง น้ำป่าไหลหลาก  นอกจากการช่วยเหลือของทีมกู้ภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกอบกู้สถานการณ์ ได้เห็นภาพกองทัพโดรนขนส่งและเทคโนโลยีทันสมัยร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด เป็นตัวอย่างการสู้ภัยน้ำท่วมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทมากกว่านั้นในการจัดการทรัพยากรน้ำ เฝ้าระวัง เตือนภัย นำมาสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญและนวัตกรรมที่มีแนวทางป้องกันและมาตรการลดความเสี่ยงน้ำท่วมระยะเร่งด่วน มาตรการระยะยาว และการฟื้นฟูหลังน้ำลดในวงเสวนา”สู้ภัยน้ำท่วมร่วมใจเยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”  จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันก่อน

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวว่า ปัจจุบันแผนงานบริหารจัดการน้ำที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนว่า แม้จะผ่านพ้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เชียงราย แต่สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ ขณะที่คนภาคกลาง  คนกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี ไม่แน่ใจจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเหมือนภาคเหนือ หลายคนมีภาพจำน้ำท่วมปี 54  เหตุการณ์สาธารณภัยขนาดใหญ่วงการวิชาการจะมีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำองค์ความรู้ใช้ป้องกันและแก้ปัญหา แม้หน่วยงานรัฐมีกลไกจัดการ มีการเชื่อมโยงวอรรูม 2 กระทรวงเข้าด้วยกัน แต่ยังมีกลไกเฉพาะหน้า ป้องกันไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้นอีก รักษาชีวิตคน ระยะกลาง คาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบต่อไป รู้ล่วงหน้าเร็วแค่ไหนยิ่งปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ภัยธรรมชาติปีนี้รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและปัจจัยเรื่องผังเมือง  หากนำผลวิจัยมาใช้กับทุกระยะจะเกิดประโยชน์

“ การขับเคลื่อนงานวิจัยเกิดขึ้นพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของพื้นที่และอุตสาหกรรมจำนวนมาก นำร่องนำวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกบริหารจัดการตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน การสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง มีน้ำดี และไม่มีน้ำเสีย เป็นเป้าหมายขับเคลื่อนผ่านงานวิจัยเข้มข้น  ตั้งเป้าปี 69 สามารถบริหารจัดการน้ำได้ทันท่วงที “ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ด้าน  รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำระยะที่ 1 ซึ่งทุนอุดหนุนวิจัยจาก วช.  กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) โดยทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่าพื้นที่ที่ยังน้ำท่วมครอบคลุม 8จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย ส่วนสถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำฝนยังมีสูงในบริเวณแนวภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนเหนือและตอนใต้ โดยมีปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพล 52%  ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 6,527 ล้าน ลบ.ม.  เขื่อนสิริกิติ์ 84% ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 1,568 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 50% ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 473 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 37% ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 41 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสรุปปริมาณน้ำคาดการณ์ระหว่างวันที่ 15-29 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ จ.เชียงรายปริมาณน้ำท่ามีแนวโน้มลดลง โดยแนวโน้มปริมาณน้ำท่าสูงสุดใน 10 วันข้างหน้า ประกอบด้วย จ.กำแพงเพชร เพิ่มจาก 120 ลบ.ม./วินาที เป็น 245 ลบ.ม./วินาที จ.พิษณุโลกเพิ่มจาก 282 ลบ.ม./วินาที สูงสุดเป็น 412 ลบ.ม./วินาที จ.อุทัยธานีเพิ่มจาก 40 ลบ.ม./วินาที เป็น 67ลบ.ม./วินาที จ.นครสวรรค์เพิ่มจาก 1,246ลบ.ม./วินาที เป็น 1,336 ลบ.ม./วินาที จ.พระนครศรีอยุธยาเพิ่มจาก 1,196 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,457 ลบ.ม./วินาที

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วม รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากภาวะน้ำท่วม ระดับตำบล ปี 2567 โดยการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมรวม  896,280 ไร่ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับผลกระทบรวม 275,535 ไร่  มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,244 ล้านบาท ภาคเหนือเสียหายมากสุด 705 ล้านบาท ส่วนผลกระทบทางสังคมต่อประชาชนกว่า 2.55 ล้านคน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีมากกว่า 5.12 แสนคน และเป็นเด็กอายุระหว่างแรกเกิดถึง 18 ปี กว่า 4.67 แสนคน ขณะที่ในระดับภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมหนักสุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่น้ำท่วมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เสียหาย 153,056 ไร่ รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะจังหวัดนครพนมและหนองคาย ส่วนพื้นที่ภาคกลางเริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ ” รศ.ดร.สุจริตกล่าว

ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์พายุและฝนจากแบบจำลองอากาศว่า สาเหตุหลักเกิดน้ำท่วมภาคเหนือเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มาจากร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนภาคเหนือ ส่งผลให้ฝนตกหนักมาก ความผิดปกติคือร่องมรสุมเคลื่อนตัวช้า บวกกับมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่แล้ว ทำให้ท่วมรุนแรง ขณะนี้ยังมีร่องความกดอากาศต่ำที่ทำให้ฝนตกอยู่ จากข้อมูลมีโอกาสร้อยละ 10 ที่จะมีพายุเข้าประเทศไทยช่วงปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม แต่ความรุนแรงไม่เท่าซุปเปอร์ไต้ฝุ่นนางิ  อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในปัจจุบัน จะส่งผลให้เกิดพายุได้ง่ายขึ้น  และมีโอกาสทำให้พายุพัฒนาตัวรุนแรง

ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้การประยุกต์ใช้แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า ในการติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำท่า  ชื่อแบบจำลอง DWCM-AgWU  กรณีฝนตกลงมาน้ำจะไหบทิศทางไหน อยู่ในแหล่งเก็บกักน้ำ ใต้ดิน หรือจุดแก้มลิง ทดลองใช้ในลุ่มเจ้าพระยาและขยายไปลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นแบบจำลองที่น่าเชื่อถือ นำฝนจากการคาดการณ์ล่สงหน้า 14 วัน มาเข้าสู่แบบจำลองเพื่อคาดการณ์ กรณีภาคเหนือจากการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าวันที่ 16-24 ก.ย. แนวโน้มน้ำท่าคาดการณ์แม่น้ำลาวและแม่น้ำกกถึงวันที่ 24 ก.ย. ขณะนี้ 68 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่สามารถรับได้เพิ่มได้ถึง 186 ลบ.ม./วินาที  ยังไม่มีสถานการณ์เอ่อล้นตลิ่ง ไม่น่าวิตก  ส่วนจ.เชียงรายแนวโน้มน้ำท่าจะลดลงตามลำดับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมฟื้นฟูได้

“ สถานการณ์น้ำในอ่างขนาดใหญ่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาความจุไม่เกินครึ่ง ยังรองรับและบริหารจัดการได้ หากไม่มีสถานการณ์พายุฝนเข้ามายังอยุ่ในเกณฑ์ปลอดภัย เราส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำท่าลุ่มเจ้าพระยาสรุปให้หน่วยงานน้ำของชาติเพื่อช่วยประกอบตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ เ “ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ กล่าวถึงการใช้งานวิจัยรับมือสถานการณ์อุทกภัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'

เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล  โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ

กรุงเทพฯ รอด! ไม่ซ้ำรอยปี 54

สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับฝนระลอกใหม่เดือนกันยายนนี้ หลังจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมภาคเหนือ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยถึง 12 จังหวัด  ขณะที่รายงานกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ฝน One Map

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม