'ประเพณี12เดือน' ภาพถ่ายทันสมัย เปิดมุมมองใหม่

มุมมองใหม่ๆ ที่เปิดเผยความงดงามของประเพณีไทยและบอกเล่าวิถีชีวิตผ่านเลนส์กว่า 200 ภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย“ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นไทยที่น่าภาคภูมิใจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เห็นได้จากที่มีภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดมากกว่า 3,600 ภาพ ทั้งจากช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพคลื่นลูกใหม่ที่สนใจถ่ายภาพจากการจัดประกวด 4 ซีซั่น

นิทรรศการครั้งใหญ่จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอผลงานภาพถ่ายของผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ  4 คน  นายอัครายช์ เพ็ชร์อำไพ ภาพประเพณีสงกรานต์ ก่อพระเจดีย์ทราย ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี นายรุสลี แยนา ภาพประเพณีแข่งเรือ เทศกาลแข่งเรือบ้านฉัน จ.ปัตตานี  นายสมชาย อิ่มชู ภาพประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ รวมใจเป็นหนึ่ง วัดสระเกศ กรุงเทพฯ  และนายพิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ ภาพประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช และผลงานรางวัลดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการร่วมแสดงให้ได้ชมบริเวณผนังโถง ชั้น 4-5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งหมดเป็นภาพถ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นภาพที่ทันสมัยของประเพณีและเทศกาลของไทย โดยมีพิธีมอบรางวัลและเปิดนิทรรศการเมื่อวันก่อน

นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดี สวธ กล่าวว่า การประกวดภาพถ่ายครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมถ่ายทอดมุมมองความงามของประเพณีและวิถีชีวิตไทยผ่านเลนส์กล้อง สะท้อนให้เห็นถึงพลังของวัฒนธรรมที่ยังงดงามและน่าภาคภูมิใจ ซึ่งโครงการประกวดใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็มในการเก็บบันทึกภาพประเพณีและเทศกาลต่างๆ รวม 59 รายการจากทั่วประเทศ  โดยมีรายการที่ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล (ระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2565)  35 รายการ อาทิ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีออกพรรษา ประเพณีปอยส่างลอง  ประเพณีแข่งเรือ งานวิวาห์บาบ๋า และผีตาโขน เป็นต้น ผลงานที่เข้าประกวดไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชม แต่ยังเป็นสื่อที่ทรงพลังส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในยุคโซเชียลมีเดียเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ภาพถ่ายเหล่านี้ก็เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศให้มาเยือนไทย

“ ช่างภาพแต่ละคนมุ่งมั่นเดินทางไปค้นหามุมมองใหม่ๆ ถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าประทับใจเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ทั้งความเชื่อ ความศรัทธา และพลังของชุมชนออกมาได้อย่างน่าสนใจ” นางสาวลิปิการ์ กล่าว

นายพิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ ช่างภาพมืออาชีพ เดินทางไปเหนือจรดใต้เพื่อเก็บบันทึกภาพประเพณี เจ้าของผลงานชนะเลิศ “ภาพประเพณีแห่ผ้าพระนฎพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช“ ในซีซั่น 4  เล่าถึงที่มาว่า  เริ่มจากตนส่งภาพงานวิวาห์บาบ๋าร่วมประกวดซีซั่น 1 ได้รางวัลดีเด่น จึงตั้งใจส่งภาพประกวดซีซั่นต่อไป ซึ่งก็ได้รางวัลดีเด่น กระทั่งมาถึงซีซั่นล่าสุดยอมรับว่ากดดันมาก เวทีนี้ช่างภาพล้วนมีฝีมือมาก ต้องทำการบ้านเยอะ ซึ่งประเพณีแห่ผ้าพระบฎถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในรายการประเพณืที่กำหนด ก็ศึกษาเกี่ยวกับประเพณีเพื่อให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ผ้าพระราชทานสำหรับห่มพระธาตุฯ จะมาถึงในช่วงเย็น รวมถึงผ้าของชาวบ้าน  ช่วงตลอดทั้งวันที่รอเวลา เดินหามุมที่น่าสนใจ กระทั่งเห็นครอบครัวหนึ่งกำลังแห่ผ้าเดินเวียนรอบพระบรมธาตุ ภาพที่เห็นเป็นเงาของเด็กชายถือดอกบัวปรากฎบนผ้าที่พ่อแม่ถือ ฉากหลังเป็นพระธาตุ ประทับใจในแสง เงา องค์ประกอบ  ทั้งยังสื่อถึงความศรัทธา ตนเองรีบวิ่งตามไปบันทึกจนได้ภาพที่ชนะเลิศครั้งนี้

“ การประกวดภาพถ่ายไม่เพียงเป็นกำลังใจให้คนรักการถ่ายภาพมีแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ยังช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องราวความงดงามของวิถีวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ของไทยมากขึ้น ทั้งยังรวบรวมภาพถ่ายสื่อให้เห็นประเพณีของไทยมีตั้งแต่เหนือยันใต้ให้เรียนรู้มากที่สุด ช่างภาพหรือคนที่ชอบท่องเที่ยวชมนิทรรศการนี้ไม่ผิดหวังแน่ บางประเพณีหลายคนอาจยังไม่รู้จัก เป็นอะไรที่อเมซิ่ง “ นายพิชญวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายสมชาย อิ่มชู ช่างภาพอิสระ กล่าวว่า ชอบบันทึกภาพเพื่อเก็บเป็นสตอรี่ส่วนตัว เลือกประเพณีห่มผ้าแดงภุเขาทอง เพราะหนึ่งปีมีครั้งเดียว เห็นถึงความสนใจของคนกรุงเทพฯ ร่วมประเพณี  ซึ่งพบไม่บ่อยนัก ผลงานดูเรียบง่าย ได้แสงเงา พลังศรัทธาคนจำนวนมากเดินขึ้นภูเขาทองและความสวยงามของสถาปัตยกรรม  ตั้งใจให้ภาพเป็นธรรมชาติที่สุด ส่งภาพเดียวเข้าประกวดในซีซั่นนี้ ไม่คาดคิดจะชนะเลิศ ปกติภาพประกวดจะเป็นประเพณีในต่างจังหวัด จากภาพนี้เชื่อว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพไปค้นหามุมนี้หรือมุมมองใหม่ๆ ของงานห่มผ้าแดงวัดสระเกศฯ ปีหน้าตนมีมุมในใจที่อยากจะบันทึกที่นี่เช่นกัน การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง วาดภาพผ่านเลนส์กล้อง ยุคสมัยนี้การถ่ายภาพง่าย มีการผสมเอไอ ถ้ามีใจรักแนะนำให้มุ่งมั่นตั้งใจ

มาไกลจากปัตตานี นายรุสลี แยนา ลั่นชัตเตอร์ภาพเทศกาลแข่งเรือบ้านฉัน จ.ปัตตานี คว้าขนะเลิศ  กล่าวว่า ทำอาชีพค้าขาย แต่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก และส่งผลงานประกวด  ตั้งใจเก็บบันทึกภาพประเพณีแข่งเรือที่ปัตตานีบ้านเกิด ซึ่งจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ในภาพมีการตีกลองเชียร์คนแข่งเรือให้มีความฮึกเหิม ถือเป็นอีกไฮไลต์นอกจากแข่งพายเรือ ใช้เวลานานนับชั่วโมงเฝ้าคอยจังหวะและระยะเรือพายสองลำให้อยู่ในตำแหน่งที่พอดี  ชอบถ่ายภาพวิถีวัฒนธรรมที่แสดงพลังวัฒนธรรมภาคใต้ที่สวยงาม เล่าเรื่องในจังหวัดให้คนอยากมาสัมผัส นิทรรศการนี้สร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างพื้นที่ อาจไม่ใข่ประเพณีเทศกาลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย

ตามมาดูนิทรรศการภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 – 22 ก.ย. 2567 บริเวณผนังโถง ชั้น 4-5 หอศิลป์กรุงเทพ หรือชมความงดงามผ่านทาง e-book ภาพถ่ายประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย ที่ลิ้งค์ http://book.culture.go.th/12Traditions/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หออัครศิลปินจัดวันเด็ก สืบสานงานศิลป์เพื่อเด็กไทย

วันเด็กแห่งชาติปี 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมวันเด็กที่หออัครศิลปินสร้างรอยยิ้มและความสุข โดยมี วราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน เปิดงาน "หออัครศิลปิน

วันเด็กหออัครศิลปินคึกคัก สร้างสุขและรอยยิ้มน้องๆ หนูๆ แห่ชมหมูเด้ง ตัวตึงถึงไทย

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ณ โถงตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

สวธ. จัดวันเด็กปี 68 ชวนเรียนรู้งานศิลป์ พบมาสคอต 'น้องหมูเด้ง Thai Cuteness ตัวตึง ถึงไทย'

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมวันเด็กแบบจัดเต็มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทย เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และมุ่งปลูกฝังให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม รักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไว้

สวธ.ชวนประกวดเยาวชนต้นแบบมารยาทไทย ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ กองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศจัดการประกวด "เยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทยและมารยาทในสังคม ปี 2568"

วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท