17 ก.ย. 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมของ สปสช. เพื่อรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ขณะนี้อยู่ในช่วงการขับเคลื่อนในเฟสที่ 3 โดยมี 46 จังหวัดที่ดำเนินการแล้ว และในที่ 27 ก.ย. นี้ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้งาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดงาน และมีผู้แทนหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย และหน่วยบริการต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ร่วมกันประกาศเดินหน้านโยบายฯ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สปสช. จึงได้ทำการออกประกาศจำนวน 4 ฉบับ เพื่อรองรับการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย ประกอบด้วย 1.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการรับบริการสาธารณสุข ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเข้ารับบริการทุกครั้งขอให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ
3.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ ที่ให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานและกฎหมาย อย่างปลอดภัย และ 4.ประกาศการกำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับหน่วยบริการที่ให้บริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สำหรับติดตั้งที่หน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงจุดบริการ
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของการดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการให้บริการโดยหน่วยบริการในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ให้บริการไปแล้วจำนวน 7.57 ล้านครั้ง เป็นเงินเบิกจ่ายค่าบริการทั้งสิ้นกว่า 5,910 ล้านบาท ส่วนหน่วยบริการนอก สป.สธ. แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการจำนวน 251,172 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการเป็นจำนวนกว่า 181 ล้านบาท
หน่วยบริการภาครัฐอื่นๆ นอกสังกัด สธ. ให้บริการตามนโยบายฯ แล้วจำนวน 419,428 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวนกว่า 314 ล้านบาท, หน่วยบริการรัฐพิเศษ ให้บริการจำนวน 10,909 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวน 20.02 ล้านบาท หน่วยบริการที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 267,275 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวน 24.64 ล้านบาท สำหรับในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภทนั้น ได้แก่ คลินิกเอกชนต่างๆ และร้านยาคุณภาพ ภาพรวมให้บริการตามนโยบายฯ แล้วจำนวน 416,315 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวนกว่า 168.13 ล้านบาท
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 5.4 ล้านคน ไม่รวมประชากรแฝง โดยผู้มีสิทธิบัตรทองนอกจากการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิแล้ว ยังสามารถรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 280 แห่ง และ สปสช. ยังอำนวยความสะดวกให้สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่อีก 1,369 แห่ง ที่มีตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า หน่วยบริการทางเลือกใหม่ทั้ง 1,369 แห่ง สามารถแยกตามเป็นประเภทวิชาชีพ ดังนี้ 1.คลินิกเวชกรรม จำนวน 171 แห่ง ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปแบบผู้ป่วยนอก เช่น เจ็บ ไข้ ไอ ปวด เป็นต้น 2.คลินิกทันตกรรม จำนวน 195 แห่ง ให้บริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ 3 ครั้งต่อปี 3.ร้านยาคุณภาพ จำนวน 910 แห่ง ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาตามอาการ
4.คลินิกกายภาพบำบัด จำนวน 23 แห่ง ให้บริการฟื้นฟูผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ช่วง 6 เดือนหลังพ้นวิกฤต จากโรงพยาบาลที่ทำการรักษา ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และกระดูกสะโพกหัก 5.คลินิกพยาบาล จำนวน 13 แห่ง ให้บริการการพยาบาลพื้นฐาน อาทิ ทำแผล ล้างตาล้างจมูก เปลี่ยนสายอาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ และตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ไอ ปวดศรีษะ ปวดท้อง เป็นต้น
6.คลินิกแพทย์แผนไทย จำนวน 28 แห่ง ให้บริการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา และ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 4 กลุ่ม โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคสันนิบาต และฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอด และ 7. คลินิกเทคนิคการแพทย์ จำนวน 29 แห่ง ให้บริการตรวจแล็บ 22 รายการตามใบสั่งแพทย์ บริการตรวจจากโรงพยาบาลที่ให้การรักษา เช่น ตรวจความเข้มข้นและผิดปกติของเม็ดเลือด ตรวจระดับไขมัน/น้ำตาล ตรวจการทำงานของตับ ไต เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและสะดวกมากที่สุด สปสช. ยังได้ขยายนวัตกรรมบริการในพื้นที่ กทม. เพิ่มเติมอีก 10 ประเภท ประกอบด้วย 1.บริการการแพทย์ทางไกลพร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน จำนวน 4 แอปพลิเคชัน 2.บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำนวน 16 แห่ง 3.รถทันตกรรมเคลื่อนที่ จำนวน 3 คัน ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง 4.รถเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น 5.บริการการระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปสุขภาพ ณ ห้องพยาบาลโรงเรียน จำนวน 93 แห่ง
6.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ที่ห้างสรรพสินค้า และสถานประกอบการต่างๆ ฯลฯ จำนวน 133 แห่ง 7.สถานีสุขภาพ (Health station) รับบริการผ่านตู้เทเลเมดิซีน ติดตั้งที่ชุมชน 22 แห่ง 8.หน่วยบริการในสถานีบริการน้ำมัน จำนวน 4 แห่ง 9.หน่วยบริการบนสถานีรถไฟฟ้า, สนามบิน จำนวน 2 แห่ง และ 10.หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ
ด้าน นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า การให้บริการของหน่วยบริการจะใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โดยกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ประชาชนนอกพื้นที่รับผิดชอบ สปสช. จะจ่ายเงินแก่หน่วยบริการตามรายการบริการ (Fixed Fee Schedule) ซึ่งข้อมูลการให้บริการจะถูกเชื่อมต่อผ่าน API กับระบบเบิกจ่ายของ สปสช. และจะได้รับเงินค่าบริการภายใน 3 วันนับจากวันที่ส่งข้อมูล
ขณะที่ นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงความคืบหน้าของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแต่ละแพลตฟอร์มของสถานพยาบาลกับ สปสช. ว่า ในการเชื่อมโยงข้อมูลจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การเชื่อมข้อมูลให้ประชาชนใช้ยืนยันตัวตนและการรับบริการ ซึ่ง สปสช. จะเชื่อม API กับทุกแอปพลิเคชันที่ประชาชนใช้ เช่น เป๋าตัง ทางรัฐ ThaID แอปฯ สปสช. และไลน์ออฟฟิเชียล @nhso นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมข้อมูลระหว่าง สปสช. กับหน่วยบริการ เช่น เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการ ที่ upload ไว้บน Cloud ทุกแหล่ง cloud หมอพร้อม, กลาโหม, UHOSNET ฯลฯ และสุดท้ายคือการเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกนวัตกรรม เช่น คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น ทั้งนี้ สปสช. มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 1,619 แห่ง ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสำเร็จแล้ว 1,535 แห่ง และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลอีก 84 แห่ง
น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าเพื่อรองรับการให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. สปสช. ได้เปิดช่องทางพิเศษ คือ “สายด่วน สปสช. 1330 กด 6” เป็นการเฉพาะ ซึ่งประชาชนที่ต้องการรับบริการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือกรณีติดขัดการเข้ารับบริการใดๆ ก็สามารถสอบถามโดยใช้ช่องทางนี้ได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังให้บริการนัดหมายและจองคิว การรับรองสิทธิการเข้ารับบริการ ประสานโรงพยาบาล ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยบริการนวัตกรรมกรณีที่ผู้ป่วยต้องการเข้ารับบริการที่หน่วยนวัตกรรม เช่น กายภาพบำบัด เป็นต้น และประสานรับบริการกรณีที่ไม่ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก อาทิ บริการแว่นตาเด็ก เป็นต้น
ในส่วนของผู้ให้บริการ สปสช. ได้เปิดสายด่วนเฉพาะ 1330 กด 5 เพื่อให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกสำหรับหน่วยบริการ เช่น สอบถามข้อมูล ตรวจสอบและรับรองสิทธิการเบิกจ่าย เชื่อมโยงบริการ ขอรหัสการเบิกจ่าย (Claim code)ตรวจสอบการจ่ายเงิน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
นายกฯอิ๊งค์ แถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 100 วันจะเป็นช่วงใด ว่า ประมาณเดือน ธ.ค.
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.
‘อิ๊งค์’ตีปี๊บผลงาน100วัน
“นายกฯ อิ๊งค์” ต่อสายยินดี “ทรัมป์” พร้อมชวนมาเมืองไทย นายกฯ
'อิ๊งค์' นำประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย ขอบคุณ สส.ทำงานหนัก
พรรคเพื่อไทย จัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/ 2567 มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา