'ป่าชุมชนบ้านวังโหรา'สุพรรณบุรีคว้ารางวัลป่าชุมชนดีเด่นปี64

.ชาวบ้านบ้านวังโหรามีส่วนร่วมในการดูแลป่า

นัยสำคัญของ”ป่าชุมชน” นั้นก็คือ การให้คนอยู่ร่วมกับป่า คนพึ่งพาอาศัยป่า พร้อมกับดูแลรักษาป่าไม่ให้เสื่อมโทรม เสียหาย เกิดความยั่งยืนทั้งคนทั้งป่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ และเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์บรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ล่าสุด บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดงานมอบรางวัลป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ ประจำปี 2564   ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดยมีแนวคิดหลักคือ ปลูกป่าในใจคน ตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน สามารถสนับสนุนพื้นที่ป่าชุมชนไปแล้วกว่า 1,276,389 ไร่ คิดเป็นการกักเก็บคาร์บอนประมาณ 8,041,252.21 ตันคาร์ และในการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศปี 2564  มีชุมชนเข้าร่วมจำนวน 146 ชุมชน รวมมีพื้นที่ป่า 124,114.75 ไร่ มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนได้ 781,922.98 ตันคาร์บอนหรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยอัตราการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ประมาณ 6.3 ตัน/ไร่

สำหรับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศของปี2564 ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านวังโหรา ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี รองชนะเลิศ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด อ.ปัว จ.น่าน ป่าชุมชนบ้านนางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และรางวัลชนะเลิศดีเด่น ด้านป่าชุมชนลดสภาวะโลกร้อนและให้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ได้แก่ ชุมชนบ้านโนนทองอินทร์ (ป่าดงกกผึ้ง) ต.โนนทองอินทร์ อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

พิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ให้กับป่าชุมชนบ้านวังโหรา จ.สุพรรณ

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นประธานการมอบรางวัลป่าชุมชนปีนี้  กล่าวว่า วิกฤตปัญหาโลกร้อนที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งการอนุรักษ์ป่าชุมชนสะท้อนให้ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลป่า ขอแสดงความยินดีกับชุมชนที่ได้รับรางวัล แต่ชุมชนที่ไม่ได้รับรางวัลไม่ได้หมายความว่าดูแลป่าไม่ดีพอ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาคุณภาพ มาตรฐานและความสามัคคีของชาวบ้านในการร่วมมือดูต้นไม้ทุกต้นนั้นยากกว่า ซึ่งป่าชุมชนไม่ได้ให้ประโยชน์แค่ชาวบ้านในการหาของป่า มีแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แต่ทุกป่าจะเปรียบเสมือนกระเป๋าตังใบใหญ่ เป็นแหล่งผลิตทรัพยากร และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตออกซิเจนมอบอากาศบริสุทธิ์ให้กับเรา ผลิตน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

“ที่สำคัญ ของป่าชุมชน ก็คือ การจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศให้ได้ 55% ในจำนวนนี้ 40% ต้องเป็นพื้นที่ป่า โดยศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะสามารถขายได้ผ่านคาร์บอนเครดิต เป็นรายได้ให้กับชุมชน  ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวเพียง 31.8% เท่านั้น ตัวอย่างในประเทศแถบยุโรปที่มีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน สามารถขายตันละ 3,000 บาท ดังนั้นไม่นานประเทศไทยป่าก็เปรียบเสมือนทองคำ หรือ กรีน โกลว์ ในการสร้างรายได้ ถ้าประชาชนทุกคนร่วมกันรักษาป่า” วราวุธ กล่าว

ชาวบ้านป่าชุมชนบ้านวังโหรา รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ

สุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยจัดตั้งป่าชุมชน ตามพรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จำนวนกว่า 13,000 ชุมชน รวมเนื้อที่ป่าชุมชนกว่า 6.29 ล้านไร่ ในพื้นที่ 68 จังหวัด และจะมีการเร่งขยายการจัดตั้งป่าชุมชนให้ครบตามเป้าหมาย 15,000 ชุมชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ป่าไม้คงอยู่ และชุมชนได้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนภารกิจ 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1.ป้องกันรักษาป่าเดิม 2. เพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ 3. ให้คนอยู่กับป่าจัดที่ดินให้ชุมชนได้ทำกินอย่างถูกกฎหมาย 4. ส่งเสริมไม้มีค่าและ 5. พัฒนาป่าชุมชนส่งเสริมให้ชุมชนที่อาศัยรอบพื้นที่ป่าเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าในท้องถิ่นของตนเองให้ยั่งยืน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน

ด้าน ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับว่าได้ดำเนินโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ในพันธกิจรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่า 14 ปี โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ป่าไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย ผ่านกลไกการขับเคลื่อนป่าชุมชน โดยจัดกิจกรรมประกวดป่าชุมชนเป็นเครื่องมือในการขยายการดูแลป่าไปยังชุมชนต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นการร่วมมือกับชุมชนในการดูแลรักษาป่า เพิ่มพื้นที่ป่า ลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อธิชา สนสารี คณะกรรมการป่าชุมชนฯ และ ประธานชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านวังโหรา หมู่ที่ 3 ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าชาวบ้านอาศัยพึ่งพิงป่า เข้าไปหาของป่าแห่งนี้กันมาเป็นเวลานาน แต่ต่อมาสภาพป่าเสื่อมโทรม แม้จะมีพื้นที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูเตย โดยมีพื้นที่ 1,934 ไร่ ดั้งเดิมมีสภาพเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ บางส่วนเป็นป่าดิบชื้น พอป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านจึงได้ขออนุญาตในการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องผืนป่าและฟื้นฟูป่า  ซึ่งเคยมีการทำเหมืองแร่ จนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม  เพราะป่าแห่งนี้เป็นเหมือนคลังอาหาร สมุนไพร และยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในโครงการพระราชดำริของพ่อหลวง รัชกาลที่9

ชาวบ้านสามารถเข้ามาหาของป่าไปใช้ประโยชน์ได้แต่ต้องทำตามกติกาของชุมชน


ในความเป็นป่าชุมชน  ชาวบ้านจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการเข้าไปหาของป่าไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนหรือคนนอกก็ตาม เช่น ห้ามนำรถยนต์เข้าในป่า หรือพกได้แต่มีดเท่านั้น และปัจจุบันได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อาทิ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ลานดูดาว ชมผาชะโงก ผามออีฟ้า ผาผึ้ง ตะลุยเทือกเขานางนอน เป็นต้น และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าและผลผลิตจากชุมชนจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนด้วย

ป่าชุมชนบ้านโนนทองอินทร์ แหล่งดูดซับคาร์บอน

ด้านบุญเลิศ สวัสดี  ตัวแทนป่าชุมชนบ้านโนนทองอินทร์ (ป่าดงกกผึ้ง) ต.โนนทองอินทร์ อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี ที่ได้รับรางวัลป่าชุมชนลดสภาวะโลกร้อนและให้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  กล่าวว่า พื้นที่ป่า ครอบคลุม ต.โนนทองอินทร์ ตั้งแต่หมู่ที่ 1, 2, 4 และ 6 มีพื้นที่ป่าประมาณ 587 ไร่ มีสภาพเป็นป่าดงดิบร้อนชื้น ที่ถือว่าอุดมสมบูรณ์มากในภาคอีสาน ป่าดงกกน้ำผึ้งได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2560 แบ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์หวงห้ามประมาณ 352 ไร่ หรือ 60% ที่เหลือ 40%เป็นป่าที่ชาวบ้านมาหาประโยชน์ได้  

พืชพรรณในป่า นำมาทำสีย้อมผ้าสร้างรายได้

ในด้านความอุดมสมบูรณ์ ป่าผืนนี้จะเขียวชะอุมตลอดทั้งปี มีพืชพรรณ สัตว์ต่างๆ  และคลังสมุนไพรกว่า 300 ชนิด  โดยในพื้นที่ 40% เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เพราะป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตและแหล่งสมุนไพรของชาวบ้าน อีกทั้งพืชพรรณในป่ายังสามารถนำมาทำสีย้อมผ้าให้กลุ่มทอผ้าของชุมชน ที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีการตั้งกฎกิตาในการเข้าไปหาของป่า หน่วยรักษาไฟป่า และเวรยามเฝ้าป่า 4 ทิศ  ดังนั้น เมื่อมีเงินทุนที่ได้จากการประกวดป่าก็จะจัดทำศูนย์ข้อมูลเรียนรู้ และวางแผนทำป่าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคตซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษาพื้นที่ป่าไม้และหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมรักษาผืนป่าของประเทศในรูปของป่าชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ และเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศให้ลดน้อยลงบรรเทาภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหล่าดาราร่วมสนุกงานกาชาด 'มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ' ปลื้มเตรียมส่งความสุขต่อต้นปี

บรรยากาศภายในงาน "กาชาด 2567" ที่จัดขึ้นไปแล้วระหว่างวันที่ 11-22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะที่บูธของ "มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์" ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

'ทนายอนันต์ชัย' ไล่บี้คนด่า-กล่าวหาพระ ว.วชิรเมธี ออกมาขอโทษ อย่าเงียบเป็นเป่าสาก

นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ มูลนิธิทนายกองทัพธรรม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า วันนี้ กรมป่าไม้ ชี้แจงแล้ว ท่าน ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่าไม้

เคลียร์ชัด! 'กรมป่าไม้' ตรวจสอบแล้ว 'ไร่เชิญตะวัน' พระ ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่า

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากกรณีที่สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามข่าวการอนุญาตใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย