สปสช. – สพฐ. จับมือนำร่อง “บริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” เริ่มที่ “รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย” แห่งแรกใน กทม. ยกระดับคุณภาพห้องพยาบาลในโรงเรียน ดูแลสุขภาพเด็กนักเรียนไทย เข้าถึงสิทธิสุขภาพ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” หากเจ็บป่วยพบแพทย์ทางไกล พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน พร้อมขยายผลโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ กทม.
13 ก.ย. 2567 – ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายถนอม บุญโต รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ร่วมพิธีเปิดและเยี่ยมชม “บริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การจัดบริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน ในพื้นที่ กทม. เป็นความมือระหว่าง สปสช. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมดูแลสุขภาพเด็กนักเรียนไทย โดยสปสช. ให้ความสำคัญกับระบบการแพทย์ทางไกลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแพทย์ได้มากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง อย่างไรก็ดี แม้จะมีการพูดถึงเรื่องนี้มานาน แต่ระบบการแพทย์ทางไกลเพิ่งถูกนำมาใช้กันอย่างจริงจังในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้เอง และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง สปสช. จึงได้ต่อยอดนำระบบนี้มาใช้กับการดูแลอาการเจ็บป่วยทั่วไป 42 กลุ่มอาการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล
ขณะเดียวกัน เมื่อมีนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” สปสช. ได้ดำเนินการเพิ่มเติมหน่วยบริการนวัตกรรมในระดับปฐมภูมิ 7 ประเภท ทั้งคลินิกเอกชน และร้านยาคุณภาพ เข้าร่วมให้บริการ ทำให้เกิดความครอบคลุมและประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการให้บริการไม่ได้มีเพียงการที่ผู้ป่วยเดินทางไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเท่านั้น ในการดำเนินการโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การเตรียมเปิดหน่วยบริการในปั้มน้ำมัน ในห้างสรรพสินค้า หรือในคอนโดมิเนียม
นอกจากนี้ “ระบบการแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) จะเป็นอีกหนึ่งบริการที่จะเข้ามาเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์มากขึ้น เช่น ที่ Health Station ซึ่งเป็นที่ตั้ง “ตู้คีออส” ที่มีอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพและระบบ tele-medicine เพื่อพบแพทย์ออนไลน์ โดยจะจัดตั้งในชุมชนที่ไม่มีคลินิกในพื้นที่ เป็นต้น เช่นเดียวกับโครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียนในครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาเสริมความเข้มแข็งของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่อย่างแท้จริง
“ปัญหาของห้องพยาบาลในโรงเรียน คือไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาดูแล ส่วนมากจะเป็นคุณครูที่ผลัดกันเข้ามาเวร นอกจากนี้ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่โรงเรียนต้องแบกรับ ซึ่งการมีโครงการนี้เกิดขึ้นจะเป็นการยกระดับบริการ ให้นักเรียนได้รับการดูแลจากบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยตรง ได้รับบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการวิชาชีพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ของโรงเรียน และผลดีอีกประการคือยังเป็นการปูรากฐานให้นักเรียนรู้จักและคุ้นเคยกับการใช้สิทธิบัตรทอง ที่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน และในอนาคต เราหวังว่าจะสามารถขยายการให้บริการไปยังโรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่ กทม. ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นายถนอม กล่าวว่า ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน จะมีผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เข้ามาดูแลการจัดบริการ นอกจากมีผู้ช่วยพยาบาลมาประจำที่ห้องพยาบาลฯ แล้ว ยังให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล พร้อมสำรองยาที่จำเป็นเพื่อให้การรักษาพยาบาล
สำหรับที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ผ่านมาได้เริ่มนำร่อง “โครงการบริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” มาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2567 แล้ว จากผลการดำเนินการเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยมีนักเรียนเข้ารับบริการผ่านระบบนี้แล้ว 344 คน โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลเพิ่มเติมไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลต่อไป
“เมื่อนักเรียนมีอาการเจ็บป่วยเข้ารับบริการที่ห้องพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลจะทำการคัดกรอง ซักประวัติ ประเมินอาการเบื้องต้น จากนั้นเมื่อยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชนแล้ว จะได้พบคุณหมอผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อประเมินอาการเจ็บป่วย และจะได้รับยาตามอาการ พร้อมคำแนะนำการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ส่วนในกรณีที่ต้องทำหัตถการ ผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องพยาบาลจะเป็นผู้ทำหัตถการเบื้องต้นให้ นอกจากนี้ในกรณีจำเป็นต้องใช้ยาบางรายการที่ไม่มีสำรองไว้ในห้องพยาบาล ก็จะมีการจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ที่บ้านด้วย” รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย