ไทยจัดทำแผนที่นำทางวิจัย'สเปซเทค'ก้าวสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอวกาศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ คณะวิจัย ผ่านเครือข่าย TIME Labs มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมรับฟังความเห็น “การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ” โดยมี รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์(อว.) ในฐานะผู้แทนของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.) ร่วมประชุมรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ที่มีการนำองค์ความรู้ วิธีการ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาดาราศาสตร์และห้วงอวกาศที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตของโลก เพื่อการเรียนรู้และการทำความเข้าใจต่อจักรวาล ปรากฏการณ์ และดวงดาวต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพียงแต่การศึกษา เรื่องดังกล่าวกระจัดกระจาย การจัดสรรงบวิจัยเรื่องเทคโนโลยีอวกาศให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมิได้มีการรวบรวมและจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มีนโยบาย สนับสนุนการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) พร้อมกับการกำหนดโจทย์สำคัญเพื่อออกแบบการจัดสรรงบประมาณมิให้กระจัดกระจายเหมือนที่ ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งที่มอบให้ สกสว. ดำเนินการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ และสนับสนุนการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ ซึ่งคาดหวังว่าแผนที่นำทางฯ จะช่วยให้คณะวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ใช้ประโยชน์มองเห็นภาพด้าน Supply chain โอกาสในการพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“การก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีอวกาศนั้น ประเทศไทยควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องประเมินตนเองก่อนว่า ณ ปัจจุบัน ขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ นั้น เราอยู่ตรงไหน เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาว่า เราควรมุ่งเป้าไปในทิศทางใดที่จะทำให้เราถึงเส้นชัยได้ไวที่สุด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากเรื่องการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแล้ว  การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการต่อยอดเทคโนโลยีโดยกำลังคนที่ประเทศพัฒนาขึ้น”

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์

ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้สนับสนุนโครงการการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศให้แก่ รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เพื่อผลักดันการวิจัยขั้นแนวหน้าบนฐานของเทคโนโลยีอวกาศ โดยบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาในการสร้างและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดย สกสว.จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากโครงการไปออกแบบและขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย ร่วมกับหน่วยรับงบประมาณ และหน่วยบริหารจัดการทุน เพื่อขับเคลื่อนการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2567  สกสว.ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF )  ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ จำนวน 697.08 ล้านบาท  และในปีงบประมาณ พ.ศ.2568  สกสว. ได้ตั้งกรอบงบประมาณ FF ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาด้านอวกาศ จำนวน 219. 66 ล้านบาท

รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี

รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงผลการศึกษาว่า แผนที่นำทางฯ แสดงให้เห็นปลายทางของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยนั้น ควรมีการสร้างชิ้นส่วนดาวเทียมภายในประเทศ และควรมีเทคโนโลยีรายล้อมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ภายในประเทศ ทำให้เกิดการขายและส่งออกเทคโนโลยีสู่ต่างประเทศใน 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น ในช่วงเริ่มต้น (ปี พ.ศ.2568-2569) ภารกิจหลักของประเทศควรมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะและชิ้นส่วนดาวเทียมขนาด Nanosat 6U โดยเลือกผลิตชิ้นส่วนจากภายในประเทศประมาณ 30% โดยชิ้นส่วนที่จะเป็นเรือธงในด้าน Hardware ช่วงแรก คือระบบบริหารจัดการและเก็บพลังงานไฟฟ้า (EPS) และในส่วนที่ของ Software คือ Flight Software ไว้สำหรับควบคุมการทำงานของดาวเทียม ในส่วนของการใช้องค์ความรู้จากอวกาศบนพื้นโลกจะเป็นการพัฒนาและนำข้อมูลสภาพอวกาศมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน ในระหว่างทางที่ประเทศกำลังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศนั้น จะมีการนำองค์ความรู้ เช่น Flight Software ที่สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และระบบสมองกลฝังตัว ที่สอดคล้องไปกับความต้องการของประเทศด้านอื่นด้วย รวมไปถึงอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีโรงเลี้ยงแมลงและปลูกพืช

ในระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2570-2571) จะเป็นการพัฒนาต่อยอดและขยายผลจากระยะแรก โดยมีเป้าหมายของประเทศที่จะพัฒนาชิ้นส่วนดาวเทียมให้เพิ่มเป็น 60% โดยสิ่งที่จะมาเสริมนั้น คือ Onboard Computer (OBC) ที่เป็นหัวใจหลักในการควบคุมดาวเทียมและระบบการปรับเอียงตัวของดาวเทียม (ADCS/ AOCS) และจากเทคโนโลยีรายล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงแรกจะสร้างโมเมนตัมในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ที่จะวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเพาะปลูกบนอวกาศ ที่จะผนวกรวมกับการใช้ข้อมูลสภาพอวกาศมาช่วยงานการเพาะปลูก แต่ยังจะต้องลงรายละเอียดเชิงลึกเพิ่มในด้านของรังสีบนอวกาศมากขึ้น และระยะสุดท้าย ประเทศไทยควรพัฒนาและสร้างดาวเทียมได้เองเกือบ 100% ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศสามารถผลิตดาวเทียมแบบ Constellation ด้วยการผลิตซ้ำจากฐานองค์ความรู้เดิมและทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และก้าวต่อไปที่ประเทศจะพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศให้ยั่งยืนขึ้นไปอีกด้วยการผลิต Payload ที่กำลังจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต อย่างน้อย 5 ปี จากปัจจุบัน

นอกจากนี้ คณะนักวิจัย ได้เสนอความเห็นในประเด็นความท้าทายและแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัยด้านระบบโลกและอวกาศที่สำคัญประการแรก คือ การพิจารณาระยะเวลาการให้ทุนที่เหมาะสม เนื่องจากงานวิจัยด้านเทคโนโลยีโลกและอวกาศต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประการที่สองคือ การสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง   ในขณะเดียวกัน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติก็เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญซึ่งจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ โดยคณะนักวิจัยกล่าวว่าได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยได้จัดทำระบบ GPT เป็นช่องทางให้ผู้สนใจสามารถสืบค้นและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศได้อย่างสะดวก

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์  กล่าวสรุปว่า อย่างไรก็ดี สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสนับสนุนโครงการการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ จะได้แนวทางการจัดทำแผนที่นำทางฯ ที่ชัดเจน ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย/ สถาบันวิจัย ทำให้การกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมีความต่อเนื่องประกอบกับการสร้างระบบนิเวศของกลุ่มวิจัย (Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้การพัฒนานวัตกรรมมีคุณภาพรองรับความต้องการในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดน้ำท่วม ชู'แผนน้ำชุมชน'ลดเสี่ยง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 15 จังหวัด  ปัจจุบันยังมีปัญหาอุทกภัยอยู่ 10 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ได้แก่ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี

วศ.อว. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI)

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ขั

5 งานอาร์ตจัดเต็มที่หอศิลป์ร่วมสมัยฯ

ใครอยากเพลิดเพลินใจกับงานศิลปะที่คัดมาแล้วว่าสุดเจ๋ง!  ต้องแวะไปที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินอาร์ตสเปซที่ตอบโจทย์ทั้งสายอาร์ตและมือสมัครเล่นหัดดูงานศิลปะใจกลางเกาะรัตน์โกสินทร์ ซึ่งเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ชวนมาเสพอาร์ตยาวๆ