“ชนแก้ว” “แก้ว 2 แก้ว ไม่เมาหลอก” “ขับไหวบ้านอยู่ใกล้ๆแค่นี้เอง” …คำพูดสุดฮิตในวงสังสรรค์ที่อบอวลไปด้วยความสนุกแค่เพียงชั่วคราว เพราะเมื่อยกแอลกอฮอล์เข้าปากไปแล้วจะ 1 แก้ว หรือ 2 แก้ว ก็สามารถอยู่ในอาการมึนเมา ขาดสติ มีความคึกคนอง สายตาพร่ามัว เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้นำไปสู่ความสูญเสียทั้งตัวผู้ดื่มและผู้ประสบภัย โดยข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย
ในทางกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2565 ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณีเมาแล้วขับ ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 – 100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอและถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ขณะเดียวกันหาก เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที โดยกรณีที่ทำผิดครั้งแรกอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอเพราะยังมีบางส่วนที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมีจำนวนผู้เมาแล้วขับเพิ่มขึ้นทุกปี
เพื่อขับเคลื่อนการใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย ได้จัดเสวนา “ครบรอบ 2 ปี กระทำผิดซ้ำเมาแล้วขับกับการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย” พร้อมถอดบทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนจากดื่มแล้วขับ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จึงจำเป็นต้องเร่งมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุม และลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะความผิดซ้ำ โดยระดับนโยบายและรณรงค์ในพื้นที่ต้องมีการผลักดันข้อกฎหมายดื่มแล้วขับ และกระทำผิดซ้ำ บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนวิเคราะห์หาสาเหตุ ที่สามารถเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น จากที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายถอดบทเรียน ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ ประชาสัมพันธ์ผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
2. ระยะกลาง ภายใน 1 ปี ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบ และยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ 3. ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับมาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับด้วย
ด้านสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเหยื่อจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาว มีหลายรายที่สูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อ เหยื่อหลายรายไม่ได้รับเงินเยียวยา ถึงเวลาต้องวางแนวทาง ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดื่มแล้วขับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ที่ผ่านมากฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับภาคประชาชน ยังมีผู้กล้ากระทำผิดซ้ำ การเพิ่มโทษ และความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเมาแล้วขับ ไม่กล้าเสี่ยงและรับโทษที่รุนแรง
ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวต่อว่า กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำอาจจะมีช่องว่างของคดี เพราะในการดำเนินการเหยื่อต้องฟ้องศาลแขวงภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่รับสารภาพตำรวจต้องมีการสืบค้นประวัติของผู้กระทำผิด และส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลไม่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกองประวัติอาชญากร ก็เท่ากับทำผิดครั้งแรก ดังนั้นในการกระทำผิดเมาแล้วขับครั้งแรก ศาลจะมีพิจารณาโทษให้รอลงอาญา 2 ปี แต่หากยังกระทำผิดซ้ำเท่ากับว่าผู้กระทำผิดไม่มีจิตสำนึกและยังใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หรือตำรวจที่ไม่ดีใช้แสวงหาผลประโยชน์ทำให้ผู้กระทำผิดซ้ำเหลือเพียงกระทำผิดครั้งแรก ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการบูรณาการโรงพักกว่า 4,600 แห่งทั่วประเทศ ให้มีฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นข้อมูลสามารถเช็คเลขบัตรประชาชน 13 หลักได้ทันที เพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ อยากจะเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นเหยื่อที่ได้รับความพิการทางร่างกายไม่ว่าจะเป็นเงินสนับสนุนหรือการจ้างงานคนพิการ และรถส่วนราชการควรมีประกันภัย เพราะหากผู้ขับเมาแล้วขับรถจนทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต ซึ่งทางกฎหมายเหยื่อต้องยื่นฟ้องศาลถึง 3 ศาลตามหลังการฟ้องหน่วยงานรัฐและกว่าคดีจะแล้วใช้เวลาค่อนข้างนาน
“นอกจากนี้ในกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำมีรายละเอียดของกฎหมายระบุว่า ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอาจจะสั่งจำคุกแต่รอลงอาญา แตกต่างจากคำว่าศาลจะลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทำให้หลายคดีที่ตำรวจส่งสำนวนฟ้องส่วนใหญ่รอลงอาญา ทำให้เห็นว่าภาษากฎหมายดิ้นได้ อย่าง เคสน้องการ์ตูน เป็นการฉ้อฉนของคนที่ไม่มีความรับชอบต่อความผิดที่กระทำแต่ผู้กระทำก็ได้รับโทษจำคุก 1 ปี หรืออีกตัวอย่าง คือ ผู้กระทำผิดชนตำรวจเสียชีวิต แต่ผู้กระทำผิดมีการสำนึกผิดในการเยี่ยวยาครอบครัว โดยศาลสั่งรอลงอาญา เพราะทางผู้เสียหายมีความพึงพอใจในการเยียวยาเป็นต้น ดังนั้นกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำถึงเวลาที่ต้องยกมาตรการให้เข้มข้นเพิ่มขึ้น ด้วยระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการดื่มของสังคมไทย” ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว
พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่ผ่าน มีการจับกุมผู้ที่เมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำกว่า 100 ราย ในส่วนของการดำเนินงานแบ่งเป็น การด่านตรวจแอลกอฮอล์ ที่มีมาตรฐานมาอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดในด่าน ติดตี่งกล้องที่หน้าอกตำรวจผู้ตรวจ และกล้องส่วนกลางในการดูการเรียกตรวจ และการบันทึกจำนวนที่ตรวจ ระบุปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์เกินที่กำหนด จะส่งต่อไปยังเจ้าหน้าตำรวจสืบสวน ทำให้การทำงานทั้งหมดสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถตรวจสอบได้ซึ่งนับว่าดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา และประชาชนหากพบด่านที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวสามารถแจ้งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้
พ.ต.ท.พชร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนชั้นสอบสวนหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต้องอาศัยผู้บังคับบัญชาระดับต้นในโรงพักนั้นๆ ในการดูแล แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลที่ผ่านได้มีการลองใช้แนวทางหากมีการส่งสำนวนฟ้องเมาแล้วขับกระทำผิดครั้งแรก ทางอัยการกับศาลสามารถที่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนนำหลักฐานมาแสดงให้ครบถ้วนก่อนจะดำเนินการพิจารณาบทลงโทษได้ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักฐานที่ตำรวจยื่นนั้นมีความถูกต้องครบถ้วน เพราะหากหลักฐานที่พบไม่ตรงตามที่ยื่นให้กับศาลตำรวจผู้สอบสวนจะต้องพิจารณาให้ได้รับบทลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสนอแนะในการแก้กฎหมายในอนาคตด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และผู้ที่กระทำผิดเมาแล้วขับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
การรับขอเสนอเชิงนโยบาย นิกร จำนง คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา กล่าวว่า ประเด็นที่ทางสสส.และภาคีเครือข่าย ได้ร่างนโยบายเพื่อเสนอในการแก้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำจะรับข้อเสนอไว้ แต่ในความเป็นจริงต้องรออีกนานเพราะหากมีการเสนอและมีการพิจารณาต้องใช้ระยะเวลาในแก้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยในการพิจารณาต้องมองภาพกว้างต่อเรื่องที่นำเสนอว่ามีความจำเป็นต้องแก้เร่งด่วนหรือไม่ อย่าง การแก้ในส่วนของศาลที่พิจารณาบทลงโทษให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรอลงอาญาเท่ากับก้าวก่ายระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ซึ่งคนไทยไม่กลัวกฎหมายแต่กลัวศาล ซึ่งในอดีตเคยมีการเสนอให้ตั้งศาลจราจร เพื่อพิจารณาเพิ่มบทลงดทษต่างๆ ให้สามารถบังคับใช้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าเป็นการตั้งศาลใหม่จะทำให้มีคดีจำนวนที่ไม่รองรับได้ ทั้งนี้อยากจะให้มีการทำข้อเสนอให้ชัดเจนมากยิ่งและเสนอต่อประธานที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ
สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ
เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน
สสส.ชวนคนรักสุขภาพ ร่วม'เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง' กระตุ้น'นักวิ่งหน้าใหม่'ลงสนาม8ธ.ค.นี้
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ที่สะพานพระราม 8 โดย สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info ระบุว่า ไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.56 ปี อายุยืนเป็นอันดับที่ 78 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 164,720 ราย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิต