สังคมไทยมีการรับรู้เรื่อง “การบริจาคอวัยวะ” มานานแล้ว แต่ยังคงมีกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าเมื่อบริจาคอวัยวะไปแล้ว หากเกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ 32 ประการ หรือ ยังทำใจไม่ได้ที่ต้องมอบอวัยวะให้กับผู้อื่น และยังสับสนระหว่างการบริจาคอวัยวะกับบริจาคร่างกาย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแตกต่างกัน คือ การบริจาควัยวะ เป็นการนำอวัยวะที่ต้องการปลูกถ่ายมอบให้ยังผู้ป่วยที่มีความต้องการ ส่วนการบริจาคร่างกาย เป็นการมอบร่างเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ใช้ในการเรียน เรียกว่า อาจารย์ใหญ่ โดยอวัยวะที่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้มีทั้ง ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น
เพื่อสร้างความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยศิลปินดาราชื่อดัง ร่วมกันจัดงาน World Organ Donation Day 2024 ภายใต้แคมเปญ “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลให้คนหันมาเห็นความสำคัญ ในการบริจาคอวัยวะกันมากขึ้น
นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทย นับเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคอวัยวะ จากโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการปลูกถ่ายอวัยวะตามหลักวิชาการ เป็นธรรม และเสมอภาค ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะสะสม จำนวน 1,646,469 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั่วประเทศ และในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วทั้งสิ้นเพียง 485 ราย เมื่อเทียบกับอังกฤษ มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากถึง 20-25 ล้านคน ไทยยังคงมีจำนวนที่น้อยอยู่ เพราะผู้ที่รอปลูกถ่ายอวัยวะในไทยเฉลี่ยมีประมาณ 6,000-7,000 คนต่อปี ซึ่งแต่ละปีก็มีผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายเฉลี่ย 1,000 คนต่อปี
ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ กล่าวต่อว่า แม้มีผู้บริจาคมากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยอวัยวะที่ต้องการปลูกถ่ายมากที่สุดคือ ไต เนื่องจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีจำนวนมากกว่า 100,000 คน ซึ่งการรักษาทุกวันนี้ต้องล้างไตผ่านช่องท้องหรือฟอกเลือด แต่วิธีดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต อย่างไรก็ตามอวัยวะไต ยังสามารถที่จะรอรับการปลูกถ่าย แต่ตับกับหัวใจ เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถรอการปลูกถ่ายได้นานเท่าไต หากภายใน 1 ปี ไม่ได้รับการปลูกถ่ายก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิต ขณะที่ดวงตามีผู้มองไม่เห็นกว่า 10,000 คน แต่การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจริงๆ ได้เพียงปีละไม่ถึง 1,000 คน ซึ่งอวัยวะทุกส่วนยังมีคนไข้อีกจำนวนมากที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง
ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ กล่าวอีกว่า โดย 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ โดยผู้ที่สามารถบริจาคได้ต้องอยู่ในภาวะสมองตายและญาติต้องยินยอมเท่านั้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อรุนแรง มะเร็ง หรืออวัยวะเสื่อม ก็ไม่สามารถบริจาคได้ จึงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก ในการบริจาคจะมีการส่งทีมแพทย์และพยาบาลไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้บริจาคที่สมองตายเพื่อผ่าตัดเอาอวัยวะออก และเก็บรักษาไว้ด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะในกระติกน้ำแข็งและเอากลับมาผ่าตัดให้ทันที เพราะอวัยวะที่ผ่าตัดมานั้นมีเวลาขาดเลือดจำกัด โดยหัวใจ อยู่ได้แค่ 4 ชั่วโมง ตับ 12 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง ซึ่งทีมแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อนำมาผ่าตัดให้ทัน
“ที่ผ่านมามีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริจาคอวัยวะ มาพบว่า 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มี 20% ที่จะยอมบริจาคอวัยวะ ซึ่งเหตุผลที่อาจจะไม่ยอมบริจาคเนื่องจากญาติหรือบุคคลในครอบครัวของผู้สมองตาย แต่หัวใจยังเต้น จึงไม่แน่ใจว่าเสียชีวิตจจริงไหม เพราะบางรายที่เป็นเยาวชนเสียชีวิตจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หรือบางคนมีความเชื่อว่าเกิดชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ 32 ประการ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์เมื่อตายไปแล้ว ก็เน่าเปื่อยสูญสลายไป การบริจาคอวัยวะก็เปรียบเสมือนทาน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และให้ชีวิตแก่ผู้อื่น ที่จะเป็นผลบุญในชาติหน้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมให้มากขึ้น” ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า ภาวะสมองตาย ในทางการแพทย์คือ การเสียชีวิต ที่อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือภาวะเลือดออกในสมอง ทำให้แกนสมองซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองทั้งหมดในการบังคับหรือควบคุมร่างกายหยุดลง ไม่สามารถหายใจเองได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากถอดเครื่องช่วยหายใจออกหัวใจก็จะหยุดทำงาน จึงไม่แตกต่างจากผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจหยุดเต้น ดังนั้นเมื่อเสียชีวิต จะมีการวินิจว่า มาจากสาเหตุของภาวะสมองตาย แพทย์ พยาบาท และผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินว่าอวัยวะใดที่สามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายได้ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติของอวัยวะที่ดีและแข็งแรงเพียงพอ โดยช่วงอายุก็มีผลต่อการรับบริจาคร่างกาย เพราะเมื่ออายุมากขึ้นการอวัยวะก็มีเสื่อมสภาพไปตามช่วงอายุ อย่าง หัวใจ ส่วนใหญ่จะรับบริจาคอายุไม่เกิน 50 ปี หรือไต รับบริจาคอายุไม่เกิน 65 ปี เป็นต้น
จรินทร์พร จุนเกียรติ นักแสดงชื่อดัง เล่าว่า คุณพ่อป่วยเป็นโรคไต เนื่องมาจากกรรมพันธุ์เพราะทางคุณย่าป่วยเป็นโรคไตและได้รับการปลูกถ่ายไตแล้วเช่นกัน ซึ่งทั้งคุณย่าและคุณพ่อได้รับการปลูกถ่ายไต เพราะก่อนหน้าได้รับการปลูกถ่ายคุณพ่อต้องฟอกไตอยู่ประมาณ 1-2 ปี จากนั้นคุณพ่อก็ได้รับการบริจาคไต คือได้เปลี่ยนไตใหม่ จากผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ต้องขอบคุณคุณคนใจดี เมื่อตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้บริจาคอวัยวะเอาไว้ และสามารถเข้ากับคุณพ่อพอดีเลย ตั้งแต่วันที่คุณพ่อได้เปลี่ยนไต จึงตั้งใจบริจาคอวัยวะเพราะมันสำคัญมาก พอเราเสียชีวิตไปไม่สามารถเอาอะไรไปได้เลยจริงๆ แต่อวัยวะของเราอาจจะสามารถช่วยหรือต่อชีวิตให้ใครหลายๆ คนได้อีก ผู้ที่สนใจบริจาคอวัยวะสามารถยื่นความจำนงกันได้ทางออนไลน์หรือที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
ธันยพรรษ เกตุคง มารดาของณัฐกฤษฎ์ พงษ์ประเสริฐ เล่าว่า ลูกชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนราวสะพานจนศีรษะได้รับบาดเจ็บรุนแรงไม่รู้สึกตัว แพทย์แจ้งว่าลูกสมองตาย คือน้องจะไม่ฟื้นอีกแล้ว ถ้าฟื้นก็คือเป็นเจ้าชายนิทรา ไม่มีโอกาสจะกลับมาเหมือนเดิมได้ รู้สึกช็อคทำอะไรไม่ถูก ไม่คิดว่าลูกตาย และไม่มีข้อมูลความรู้เรื่องภาวะสมองตายเลย คุณหมอจึงได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสมองตาย และขั้นตอนการบริจาค อย่างละเอียดทำให้มั่นใจว่าก่อนจะรับบริจาคจะมีการส่งรายงานต่างๆ ถึง ผอ. รพ. และการช่วยเหลือของสภากาชาดไทย ใช้เวลาตัดสินใจเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น จึงรู้สึกตื้นตันมาก ที่ลูกชายได้สละอวัยวะช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังรอคอยอย่างมีความหวังได้หลายชีวิต ช่วยคนอื่นให้มีชีวิต เป็นบุญครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเขา
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะสามารถบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.organdonate.in.th หรือ เว็บไซต์ https://eyeorgandonate.redcross.or.th/ หรือ แอปพลิเคชันบริจาคดวงตา-อวัยวะและหมอพร้อม บริจาคด้วยตนเอง : ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ และบริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิ สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาดทุกจังหวัด, โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ, สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานกาชาดปี 2567
11 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้
'โอม-เล้ง' นำทีมศิลปินชวนวัยรุ่น สร้างสังคมเข้าใจเรื่องเชื้อเอชไอวี
โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี, เล้ง-ธนพล อู่สินทรัพย์ นักแสดงสังกัดจีเอ็มเอ็มทีวี รวมพลังศิลปิน วง NEW COUNTRY ได้แก่ นุ, เอ็มโบ, ติณติณ, กีตาร์, กิ๊ก, มัทรี สามหนุ่มจากวง V3RSE ได้แก่ โทรุ, สงกรานต์, พีค ชวนวัยรุ่นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ร่วมส่งต่อความอบอุ่น “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ” สภากาชาดไทย
วันนี้ (26 พ.ย. 67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้ร่วมกิจกรรมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย โดยพลโทนายแพทย์อำนาจ บาลี
จิตอาสาร่วมใจ แพ็กของส่งต่อกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ”
วันนี้ (18 พ.ย. 67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมกับพลโทนายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และจิตอาสาอีกหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันแพ็กของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้ง ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ชุดวอร์ม น้ำดื่ม วอล์คเกอร์ และของใช้ในชีวิตประจำวัน
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือภาคีเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ 2567” สภากาชาดไทย
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย นางสาวบุปผา รอดสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มบริษัทไทยสมายล์บัส(TSB) กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์(EA) บริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด