จากพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตั้งมั่นฟื้นฟูศิลปะการแสดงโขน ที่ครั้งหนึ่งผู้ชมเบาบาง ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นการแสดงโขนยอดนิยม ดึงดูดให้คนออกจากบ้านมาดูโขนและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้
ในโอกาสงานแถลงข่าวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี 2567 ตอน พระจักราวตาร ก่อนเปิดม่านจัดแสดงยิ่งใหญ่อลังการในระหว่างวันที่ 7 พ.ย.- 8 ธ.ค. 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงอันวิจิตรงดงามและร่วมสานต่อศิลปะโขนมรดกของชาติ
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ย้อนเส้นทางกว่าจะมาเป็นโขนขวัญใจชาวไทยว่า เมื่อ 20 ปีก่อน โขนศิลปะการแสดงที่อยู่คู่ประเทศไทยมาแต่โบราณ แต่ได้รับความนิยมจากสังคมน้อย หลายคนบอกดูแล้วชวนหลับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นว่าถ้าไม่สนับสนุนให้มีการแสดงโขนในประเทศ วันหนึ่งจะถดถอยไป เพราะช่วงเวลานั้นการแสดงจากต่างประเทศแม้แต่ในประเทศรวดเร็วตามยุคสมัย ทรงห่วงใย แม้มีโขนกรมศิลปากรและผู้เล่าเรียนโขนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ มีแต่นักแสดงไม่มีคนดู ปี 2547 ทรงมอบหมายให้อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ บุกเบิกโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ร่วมกับคณาจารย์ศึกษาประวัติศาสตร์โขนตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยกันทำโขนให้สนุกสนานเหมาะกับยุคสมัย ประกอบด้วยเทคนิคสมัย สร้างพัสตราภรณ์ เครื่องประดับ มีฉากโขนและศิลปกรรมประกอบฉากสมจริงให้คนดูตื่นตาตื่นใจ เริ่มจัดแสดงโขนตั้งแต่ปี 2550 ปีแรกๆ คนไม่เต็มโรง แต่พัฒนา แก้ไข อุดข้อบกพร่อง จนปัจจุบันกลายเป็นโขนที่คนทุกเพศทุกวัยชื่นชอบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และปี 61 ยูเนสโกขึ้นทะเบียนโขนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
“ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เล่นเรื่องรามเกียรติ์ มาแล้ว 17 ตอน ซึ่งมีข้อคิด คุณธรรม จริยธรรม ความรักชาติ สามัคคี ธรรมะ อธรรม ปี 2567 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา จึงคัดเลือกตอน “พระจักราวตาร” ร่วมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ วันนี้นอกจากความสำเร็จโขนเป็นที่นิยมสมดังพระราชหฤทัยของสองพระองค์ ยังสร้างช่างฝีมือจำนวนมาก และฟื้นฟูการทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงการปักเครื่องแต่งกายโขนทั่วประเทศ ที่สำคัญเกิดช่างแต่งกายโขน นักร้อง นักดนตรี นักพากย์โขนรุ่นใหม่ การเล่นแต่ละปีมีการสร้างฉากโขน ทั้งโรงเป็นงานช่างฝีมือทำโดยคนไทยทั้งสิ้น เราได้เก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมทั้งศาสตร์และศิลป์มรดกล้ำค่าที่น่าภาคภูมิใจ “ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว
ด้าน นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธุ์บท กล่าวว่า เนื่องใน 2 โอกาสมหามงคล จึงคัดเลือกตอน”พระจักราวตาร” คำว่า พระจักรา หมายถึง พระนารายณ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับพระราขวงศ์จักรี เป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักรา หรือ พระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่าย อธธรรมเปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรี ที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรไทยตลอดมา พระจักราวตาร จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายา ให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญ พระนารายณ์จุติลงมาเป็นพระรามและพระลักษมีลงมาเป็นนางสีดา ปฐมเหตุแห่งการต่อสู้ปราบอธรรมคือทศกัณฐ์และพระญาติวงศ์ จากนั้นดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวางแล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่าง กองทัพพระรามและทศกัณฐ์
“ สร้างบทอ้างอิงบทละครเรื่อง”รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1 โดยเรียบเรียงให้อยู่ในกรอบระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง คัดเลือกตอนที่เกี่ยวเนื่องกับพระราม เปิดฉากแรกพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระอินทร์และขบวนเทวดามาทูลเชิญให้เป็นพระราม ฉากนี้จะสวยมาก ฉากสองเป็นกฤษฎาภินิหารพระราม หรือปราบกากนาสูร พระรามสามารถกำราบอธรรมได้แม้ในวัยเด็ก จากนั้นตัดต่อเรื่องให้สนุกสนาน และผูกเรื่องให้มีปม ตอนที่นางสำมนักขาถูกพระลักษณ์ตัดมือ เท้า จมูก ลงโทษ จึงไปฟ้องทศกัณฐ์ ยุยงก่อให้เกิดศึกสงคราม เรื่องดำเนินไปทศกัณฐ์ใข้มารีศแปลงกายเป็นกวางทอง นางสีดาอยากได้อ้อนวอนให้พระรามไปจับ ฉากนี้ใช้เทคนิคพิเศษแปลงเป็นกวางทองจุดต่างๆ เป็นการพัฒนารูปแบบการแสดง ทศกัณฐ์แปลงเป็นสุธรรมฤาษี ศรีษะฤาษีอ้างอิงจากศิลปะวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่แสดงในพิพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร แต่แต่งกายตามรูปแบบกรมมหรสพรัชกาลที่ 6 การรบทศกัณฐ์พ่ายแพ้ เข้าสู่ฉากเฉลิมยิ่งใหญ่แต่งบทตอนนี้เหมือนข้าราชบริพารในกรุงอโยธยาร้องรำฉลอง มีเทวดานางฟ้าร่วม จบด้วยความเป็นมงคล ทุกปีครูทัศนีย์ ขุนทอง บรรจุเพลงโบราณ ไม่เคยแสดงที่ไหนนำมาใช้ คณะกรรมการตั้งใจทำงานสุดความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อโขน “ นายประเมษฐ์ กล่าวว่า
ภาพรวมของการแสดงโขน”พระจักราวตาร” รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า โขนศิลปาชีพฯ ยึดการแสดงตามจารีตดั้งเดิม เป็นละครในที่อยู่โขน ถือเป็นศิลปะชั้นสูง ไม่ว่าจะผู้แสดงร่ายรำงาม ดนตรีและขับร้องเพลงไทยไพเราะ เครื่องแต่งกายงาม แม้แต่ฉากโขนและศิลปกรรมประกอบฉาก ทั้งนี้ ต้องทำให้ความงามเข้าถึงผู้ชม โดยเฉพาะเด็ก ทุกปีผู้ชมเฝ้าติดตามการแสดงต้องรักษามาตรฐาน คงจารีตการแสดงโขน และผสานเทคนิค เพื่อให้การแสดงโขนน่าสนใจ ต้องปรุงให้พอดี เทคนิคจะเสริมการแสดงโขนให้สมบูรณ์ ปีนี้ฉากแรกยิ่งใหญ่ ทุกคนต้องว๊าว เติมเต็มนาฏศิลป์ให้มีชีวิต อีกความพิเศษปีนี้เน้นกระบวนลิง ฉากถวายพลมีพลลิงจากทุกสารทิศบนเวทีต่างจากปีก่อนเน้นยักษ์
“ ตอน”พระจักราวตาร” คนส่วนใหญ่คุ้นเคยเรื่องราว จะทำรูปแบบการแสดงให้น่าสนใจ ปีนี้ฉากโขนไม่ใช่แค่ส่วนประกอบ แต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง ถ่ายทอดเรื่องได้อย่างสนุกสนาน บุรณาการศิลปะและเทคโนโลยี สร้างทายาทโขนผ่านการเปิดให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ร่วมแสดง ปีนี้มีความแปลกใหม่แน่นอน “ ผู้กำกับการแสดง กล่าว
ฉากโขนยิ่งใหญ่อลังการเป็นที่กล่าวขวัญถึงทุกปี นายสุดสาคร ชายเสม ศิลปินแห่งชาติ ผู้ออกแบบฉาก กล่าวว่า ตามพระราชประสงค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการฟื้นฟูศิลปกรรม โดยเฉพาะฉากโขน และศิลปกรรมประกอบฉาก ใช้จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม โดยคงรูปแบบศิลปะไทยสืบทอดจากงานชั้นครูที่เป็นมาสเตอร์พีซ ตอน“พระจักราวตาร” มีการจัดสร้างใหม่ 10 ฉาก ถือว่ามากที่สุดนับแต่จัดแสดงโขนศิลปาชีพมา ขณะนี้คืบหน้ามากกว่า 50% โดยมีทีมจิตรกรเพาะช่างกว่า 10 คน และทีมงานช่างฝีมือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทุ่มเทสร้างฉากให้ยิ่งใหญ่ ฉากเด่นจะเป็นภาพจำ แล้วยังมีประติมากรรมโขนทำด้วยความประณีตงดงามจะสร้างความประทับใจผู้ชมในการแสดงที่จะเริ่มเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นงานถวายพระเกียรติกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8 ฉากยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพ'พระจักราวตาร'
เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ความพิเศษโขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'
ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ก่อนเริ่มแสดงโขน ตอน “พระจักราวตาร” มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดพิธีคำนับครูขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยนาฏศิลป
เบื้องหลังโขนศิลปาชีพ ตอน'พระจักราวตาร'
การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอน” พระจักราวตาร” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใกล้จะเปิดม่านถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงสานต่อศิลปะการแสดงโขนมรดกชาติและมรดกโลก
เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'
วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพิ่มรอบพิเศษ 5 ธ.ค.
หลังจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ กระแสตอบรับจากผู้ชมล้นหลามจนบัตรขายดีหมดแล้วทุกรอบ ล่าสุด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพิ่มรอบประชาชน วันอังคารที่ 5 ธ.ค. เวลา 10.00 น. รอบเดียวเท่านั้น หลังจากบัตร SOLD OUT ไปเป็นที่เรียบร้อย ด