กรุงเทพฯ รอด! ไม่ซ้ำรอยปี 54

สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับฝนระลอกใหม่เดือนกันยายนนี้ หลังจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมภาคเหนือ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยถึง 12 จังหวัด  ขณะที่รายงานกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ฝน One Map พบว่า ฝนจะตกเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.นี้ และอาจมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาทางพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด เร่งพร่องน้ำออกจากแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ในการรองรับมวลน้ำก้อนใหม่ที่จะมาเพิ่ม และเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนและเกษตรกรพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการน้ำแห่งชาติออก 10 มาตรการรับมือฤดูฝน จากการประเมินสถานการณ์ฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำมาก มีทั้งมาตรการป้องกันและบริหารจัดการน้ำแบบไม่ประมาท ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนสิงหาคม ออกประกาศแจ้งเตือนไปแล้วจำนวน 11 ฉบับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการเชิงปฏิบัติการและแจ้งเตือนประชาชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบนเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง  พื้นที่ภาคเหนือ 12 จังหวัดเกิดอุทกภัย ขณะนี้เหลือ 3 จังหวัด ที่ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ปกติ ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย และพิษณุโลก  ส่วนภาคอีสาน จ.หนองคาย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย อ.สังคม รัตนวาปี ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ และเมืองฯ

เลขาธิการ สทนช. ระบุกรณีน้ำท่วมสุโขทัยเกิดจากปริมาณน้ำจำนวนมากจากแพร่ล้นข้ามคันกั้นน้ำในบางจุด รวมถึงคันที่ชำรุด ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าพื้นที่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ รวมถึง อ.เมืองสุโขทัย แต่ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจที่ป้องกันไว้ ขณะที่ จ.พิษณุโลก น้ำจากสุโขทัยเข้าท่วม อ.บางระกำ  อ.พรหมพิราม เพราะศักยภาพน้ำยมรองรับไม่ได้ ปัจจุบันระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 30 กว่าเซนติเมตร คาดว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายใน 4 วัน  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำยมที่ จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 1-2 เมตร ส่วนศรีสัชนาลัยต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตร ทางอำเภอเมืองสุโขทัยก็เช่นกัน   ด้านมวลน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่เขื่อนสิริกิติ์แล้ว เชียงรายน้ำลงแม่น้ำโขง

แนวทางจัดการน้ำช่วงเดือนกันยายน ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า  ตั้งแต่วันที่  4  กันยายน คาดการณ์ว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น เพราะมีแนวโน้มจะมีพายุก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก หย่อมความกดอากาศต่ำเริ่มฟอร์มตัวทางทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ แต่ประเมินแล้วว่าจะเข้าประเทศจีน ไม่กระทบไทยโดยตรง  ประกอบกับอาจจะมีร่องมรสุมพาดผ่าน  มีการประเมินปริมาณฝนครึ่งเดือนแรกของกันยายน ปริมาณฝนไม่พื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือ 15 จังหวัด ไล่ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา  แพร่ น่าน ลำปาง อุรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ จะมีฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ฝนตกหนัก ตกเยอะ บวกกับดินที่ชุ่มน้ำ  มีความเสี่ยง เกิดน้ำท่วมฉับพลัน แต่มีการวางแผนจัดการน้ำและระบายน้ำ พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยนอกจากภาคเหนือ ยังรวมภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก  ข้อมูลนี้นำเสนอให้นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่ตรวจและติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ จ.สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท  เมื่อวันที่31 ส.ค.2567 เพื่อสั่งการเป็นนโยบายและกำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน

“ จากการคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกเพิ่ม พื้นที่น้ำท่วมขังเก่าเร่งระบาย บริเวณพื้นที่ที่มีคันชำรุดต้องเร่งซ่อมแซมช่วง 7-10 วันจากนี้ วางแผนและระดมเครื่องจักร เครื่องมือ ดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงสูงก่อน ทุกหน่วยงานทั้งเหล่าทัพ หน่วยงานทหารช่าง หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ร่วมดำเนินการ  จุดที่ระบายยากต้องนำสิ่งกีดขวางออก เร่งสูบและระบายออกมา เพราะขณะนี้ระดับน้ำตำกว่าตลิ่งแล้ว  “ ดร.สุรสีห์ กล่าว

ขณะที่จังหวัดริมน้ำโขง เลขาธิการ สทช. เตือนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานตอนบน ปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ในอัตรา 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร แนวถนน ชุมชน และผู้ประกอบกิจกรรมบริเวณริมน้ำโขง ช่วงวันที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 2567 จากสถานการณ์ดังกล่าวจ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้เฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง

ขณะที่สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เลขา สทนช. ระบุ ระดับน้ำในแม่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร เป็นแนวฟันหลอในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เสี่ยงน้ำเอ่อท่วท  ขณะนี้มีดำเนินการทำนบชั่วคราว วางแนวกระสอบทราย  กทม.เองทดลองกำแพงกั้นน้ำสำเร็จรูปบริเวณช่องลงเรือท่าราชวรดิฐ์ ถ้าได้ผลดี ก็จะขยายผลจุดฟันหลออื่นๆ ปรับปรุงประตูระบายน้ำ  ตลอดจนมีแผนระบายน้ำยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 จะรุนแรงเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554  หรือไม่ ดร.สุรสีห์ยืนยันชาวกรุงเทพฯ มั่นใจได้ ไม่ต้องซื้อกระสอบทราย น้ำไม่กระทบกรุงเทพฯ เพราะปริมาณน้ำเหนือไม่ได้เยอะ ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,350 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่วนที่บางไทรอยู่ที่ 1,400  ลบ.ม. ต่อวินาที   จุดนี้เป็นจุดรวมน้ำป่าสักกับเจ้าพระยา มีศักยภาพรองรับได้ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ตัวเลขระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถ้าเกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที  ถึงจะน่ากังวล พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แถบบางบาล เสนา บางไผ่ ท่าดินแดง  โผงเผง จะได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมชลประทานจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าอยู่แล้ว ทั้งระดับน้ำท่วมและการยกของขึ้นที่สูง  ตอนนี้แม้น้ำทะเลหนุนมา ไม่มีน้ำเหนือไหลบ่า ไม่มีน้ำชนน้ำ  น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน

“ สถานการณ์ตอนนี้รับมือได้ แต่ต้องไม่ประมาท ต้องติดตามพายุ เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ  ในส่วนเขื่อนต่างๆ ด้านบน จะรับได้อีกหมื่นกว่าล้านลูกบาศก์เมตร กรณีพายุเข้ามา  เขื่อนภูมิพลรับน้ำได้ 6,000 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ 2,000 ล้าน ลบ.ม.  แควน้อยอีก 600 กว่าล้าน ลบ.ม. แล้วยังมีบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ตัดยอดน้ำได้ 100-150  ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักยังรับน้ำได้ 600 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เราบริหารจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำ ไม่ใช่รายเขื่อน วางแผนเตรียมการ   การจัดการน้ำแบ่งน้ำ เฉลี่ยน้ำเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นกรณีมีมวลน้ำมามาก ต้องปกป้องพื้นที่เปราะบาง ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ จะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย ฝากประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีการรายงานให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่อง ระมัดระวังการแชร์ข่าวปลอมน้ำท่วมด้วย “ ดร.สุรสีห์ กล่าวในท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บึงกาฬน้ำโขงทะลุ 12 เมตรสูงสุดในรอบ 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมวลน้ำเหนือจากจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และน้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ ในฝั่ง ประเทศเพื่อนบ้านไหลลงมาสมทบทำให้เช้าวันนี้ระดับน้ำโขงทะลุ 12.05 เมตร

สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม 24-30 ส.ค.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศฉบับที่ 11/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ระบุว่า

“รองนายกฯ ภูมิธรรม” ห่วงอุทกภัยอีสาน สั่ง สทนช.บูรณาการเร่งติดตามพื้นที่ได้รับผลกระทบ

“รองนายกฯ ภูมิธรรม” ห่วงพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคอีสาน สั่งการให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานติดตามพื้นที่ได้รับผลกระทบ เร่งช่วยเหลือประชาชน

สทนช. เดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝนเต็มกำลัง มั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัย ปี 54

สทนช. ผนึกกำลังทุกหน่วยงานขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 หลัง ครม. เปิดไฟเขียว มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีเอกภาพ เน้นวางแผนล่วงหน้าในเชิงรุก

นายกฯ ห่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ สั่งเดินหน้ามาตรการรับฝน สทนช.รับลูกบูรณาการหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

“นายกรัฐมนตรี” ห่วงฝนตกหนักท่วม กทม. สั่งการทุกหน่วยเร่งเดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สทนช.รับลูกผนึกกำลังเร่งบูรณาการวางแผนทั้งระบบ ป้องกันไม่ให้ 3 น้ำคือ น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน น้ำฝน มาบรรจบกัน พร้อมเดินหน้าสร้างกระบวนการรับรู้ภาคประชาชน มั่นใจช่วยลดความเสียหายและสภาวะน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพ