ปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวานในประเทศไทย นับเป็นภาวะวิกฤตทางด้านสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน ที่มีไลฟ์สไตล?และการบริโภคที่แตกต่างจากคนยุคก่อน โดยมักนิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ขาดการออกกำลังกาย นั่งหน้าจอเป็นเวลานาน และปัญหาเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้น และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จึงได้ลงนามความร่วมมือ ภายใต้ โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยารักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศไทย เพื่อศึกษาวิจัยยารักษาโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคอ้วนและโรคเกี่ยวกับเลือดและต่อมไร้ท่อที่พบได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการวิจัยทางคลินิก และส่งเสริมผู้วิจัยให้มีทางเลือกในการวิจัยทางคลินิกเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการฝึกอบรม การทำงานร่วมกันส่งเสริมและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้เชิงนวัตกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับโรคเบาหวานและโรคอ้วนของศูนย์วิจัยคลินิก SICRES ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยคลินิกครบวงจรของประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันโรคเรื้อรังร้ายแรงและเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ที่พบในผู้ป่วยคนไทยค่อนข้างสูง คือ โรคเบาหวาน โดยเฉลี่ยจากประชากรไทยทั้งประเทศคาดว่าไม่น้อยกว่า 20% หรือมากกว่า 10 ล้านคน พบมากในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ที่สามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคสโตรก โรคไตวายเรื้อรัง โรคแผลเรื้อรังที่เกิดจากเบาหวาน จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ฯ กล่าวอีกว่าทั้งนี้ ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานเป็นแบบภาพรวมและตัวยาอื่นๆ ควบคู่กับการดูแลตัว เช่น ลดการทานอาหารฟาสต์ฟู้ด เมนูที่มีแป้งน้อย ทานอาหารที่มีธัญพืชมากขึ้นและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งรพ.ศิริราชมีความพร้อมในการร่วมมือวิจัย เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนาตัวยาขนาดยาใหม่ เพื่อให้โรคมีแนวโน้มหายเร็วขึ้น มีอาการแทรกซ้อนน้อยลงหรือราคายาถูกลง รวมถึงองค์ความรู้ในการใช้พันธุกรรมในการวิจัย โดยอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมทางการแพทย์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากวิจัยนวัตกรรมยารักษาได้สำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2-4 ปี ตัวยาจะอยู่สิทธิบัตรยาของโนโว โดยในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาเข้าสู่ระบบบัญชียาของไทย และการพัฒนานวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพื่อเข้ารับการรักษาได้รวดเร็ว
นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ (Enrico Cañal Bruland) รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการแพทย์ และมีแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการได้ทราบข้อมูลประชากรไทยที่จะเป็นกลไกสำคัญในการวิจัย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องการนวัตกรรมยารักษาใหม่ๆเข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการวิจัยทางคลินิก ที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของไทยในการรักษาผู้ป่วยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม
“เราจะร่วม ยกระดับการทดลองทางคลินิก โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดผู้วิจัย โดยทีมวิจัยของโนโว ประมาณ 2,000 คนที่ผ่านมามีการร่วมมือกับสถานพยาบาลในท้องถิ่นกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางการแพทย์และยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น”รองประธานกรรมการบริษัทโนโวฯ กล่าว
ด้านการรักษาและวิจัยโรคเบาหวานและโรคอ้วนในปัจจุบัน ศ.พญ.อภิรดี ศรีวิจิตรกมล สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงยาที่ใช้ในการจัดการโรคเบาหวาน อาจจะมีการพัฒนาเป็น 3 แบบ คือ ฉีด Insulin และ Non-insulin injections ในเข็มเดียวกัน, จากยาฉีดเป็นยากิน ยานี้ยังช่วยป้องกันอวัยวะ ไม่ได้แค่รักษาระดับน้ำตาลอย่างเดียว เป็นต้น ปัจจุบันมียารักษาเบาหวานตัวใหม่ที่ชื่อว่า Incretin ที่มีการพัฒนามาก่อนหน้าอินซูลิน และเพิ่งเติบใตในปี 2000 เริ่มมีการใช้ Incretin ในตลาด ใช้รักษาโรคเบาหวานจนถึงปัจจุบัน โดย Incretin ืชนิดที่มีบทบาทมากคือ glucagon-like peptide-1 (GLP-1) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีการออกฤทธิ์กระตุ้นอินซูลินที่ขับออกมาจากตับอ่อน แบบ Glucose-Dependent หากน้ำตาลผู้ป่วยสูง และลดความอยากอาหารซึ่งเป็นยาฉีดที่ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้
“การฉีด GLP-1 จะฉีดเพียงวันละครั้งหรือสัปดาห์ละครั้ง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักลด สะดวกสำหรับคนไข้ แตกต่างจากการฉีดอินซูนลินที่จะการฉีด 1-4 ครั้ง นอกจากนี้ Incretin มีการพัฒนาให้สามารถอยู่ในรูปแบบที่ทานได้คือ Oral Semaglutide นำมาร่วมกับ SNAC ทำให้ pH เพิ่มขึ้นเฉพาะที่ นำไปสู่การละลายที่สูงขึ้นและการป้องกันจากการย่อยสลายโปรตีน ซึ่งอยู๋ในระหว่างการทำวิจัยในการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) เพื่อควคุมน้ำตาลในเลือดไปจนถึงการป้องกันอวัยวะ” ศ.พญ.อภิรดี กล่าว
ผศ.ดร.พญ. กุสุมา ไชยสูตร สาขาวิชาโภชนาการคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันโรคอ้วน คือ โรคเรื้อรัง ซึ่งการลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่าย และที่ยากที่สุดคือการรักษาน้ำหนักให้คงที่ ทั้งนี้การรักษาขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน โดยจะมีขั้นตอนการปรับไลฟ์สไตล์ เภสัชบำบัด การส่องกล้อง และการผ่าตัดในขั้นสุดท้าย ดังนั้นต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ก่อนควบคู่กับการรักษาด้วยยาทางการแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยอยากอาหารลดลง ลดความหิว
ผศ.ดร.พญ. กุสุมา กล่าวต่อว่า โดยยาลดน้ำหนักที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ มีทั้งหมด 8 ตัว ได้แก่ Liraglutide, Semaglutide, Tirzepatide, Phentermine/Topiramate, Naltrexone/Bupropion, Setmelanotide, Orlistat และ Phentermine โดยที่มีใช้ในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ตัว คือ Liraglutide, Semaglutide, Tirzepatide, Orlistat ส่วน Phentermine จะใช้ในช่วงสั้นๆไม่เกิน 12 สัปดาห์ ซึ่ง Semaglutide สามารถช่วยในการรักษาลดน้ำหนักได้มากถึง 15% รองลงมาคือ Liraglutide ลดได้ประมาณ 8% อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาต้องเหมาะกับคนไข้แต่ละคน โดยผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ สิ่งสำคัญคือทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย เพราะโรคอ้วน คือ โรคเรื้อรัง ที่จำเป็นมีการจัดการกับไลฟ์สไตล์ประจำวันด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนดู “เฉลียง Rare Item RESTAGE” รอบการกุศล มอบรายได้ให้ “ศิริราช” เพื่อช่วยผู้พิการ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดงานแถลงข่าว คอนเสิร์ตรอบการกุศล “เฉลียง Rare Item RESTAGE
ไอซีเอส ผนึกความร่วมมือ รพ.ศิริราช เปิดตัวยิ่งใหญ่ ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต “SIRIRAJ H SOLUTIONS”
ไอซีเอส ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ (ตรงข้ามไอคอนสยาม) ผนึกความร่วมมือ โรงพยาบาลศิริราช เปิด ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต “SIRIRAJ H SOLUTIONS”
'ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล' คว้าเก้าอี้ ก.ต.คนนอกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
ผู้พิพากษาเลือก 'หมออภิชาติ' คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชนะเลือกตั้งซ่อมนั่ง ก.ต.คนนอกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น