ปรากฎการณ์ลานีญาที่จะส่งผลให้ฝนตกชุกนำไปสู่น้ำท่วมขังที่อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี ทางกระทรวงสาธารณสุขโดย กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุงเทพมหานครสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย และทีมพันธมิตรจากความร่วมมือ Dengue-zero เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจยับยั้งการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ และให้ความรู้ในเรื่องโรคว่าทุกคนมีความเสี่ยงด้วยมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน
ทั้งนี้ป่วยไข้เลือดออกไม่พบแค่เพียงในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงก็สามารถป่วยได้และอาการอาจรุนแรงได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ควรพิจารณาไปปรึกษาแพทย์ในการรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพื่อลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและความรุนแรงของโรค และไม่ซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยากลุ่ม NSAID ควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการป้องกันได้ในทุกช่วงวัย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดไข้เลือดออกในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและอาจกลายเป็นการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 มียอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้วกว่า 62,860 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 49 ราย โดยทางกรมควบคุมโรคเดินหน้าเน้นย้ำแนวทางการป้องกันและวินิจฉัยยับยั้งป้องกันโรคไข้เลือดออกเชิงรุก ด้วยมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% หรือต่ำกว่า 100,000 ราย
“สำหรับมาตรการ 4 เน้น ประกอบด้วย 1.การเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 2.การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ ตามมาตรการ 3-3-1 โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ 3.การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งหากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออก ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว(NS1 rapid test) ทุกราย และ 4.การสื่อสารความเสี่ยงให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์ งดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกได้ ยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น และมาตรการเสริม คือ การใช้ยาทากันยุง ทั้งในกลุ่มผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ยุงเป็นพาหะในการนำเชื้อไปติดผู้อื่นและกลุ่มคนทั่วไป ” นพ.โสภณ กล่าว
ด้านนพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกในปี 2566 มีประมาณ 1.58 แสนราย เสียชีวิตจำนวน 180 ราย เฉลี่ย 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ทั้งนี้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้จะมียอดผู้ป่วยสูงกว่าปี 2566 ถึง 2 เท่า เพราะยุงมีการถ่ายทอดเชื้อจากยุงสู่ยุง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1.ยุงลาย 2.คน 3.เชื้อไวรัสเดงกี เทียบกับปี 2563-2564 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกน้อยมาก เพราะคนไม่เคลื่อนที่ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อ เป็นต้น จึงคาดการณ์ว่าในช่วงหน้าฝนเดือนมิถุนายน-กันยายน ปี 2567 จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1.5 แสนราย
“เพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในการลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้ 30% ในปีนี้ จะต้องปีผู้ป่วยไม่เกิน 100,000 ราย จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 50 ราย จากการดำเนินการมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา การติดเชื้อไข้เลือดออกมีการกระจายเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายใน 570 อำเภอ พบว่าค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินเกณฑ์มาตรฐาน House Index (HI) โดยน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 5 มีเพียง 5.79% ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการเข้มงวดมากขึ้น โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออก มีการดำเนินการไปกว่า 80-90%” นพ.นิติ กล่าว
นพ.นิติ กล่าวต่อว่า จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้ในปีนี้มีการระบาดไข้เลือดออกลดน้อยลงกว่าปี 2566 เพราะหากไม่สามารถควบคุมได้ใน 4 เดือนตามเป้าหมาย การระบาดอาจจะขยายต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ฝนจะตกหนักในช่วงตุลาคมอาจจะเป็นผลทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปีนี้ จำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าหากมีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นจะสามารถควบคุมอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากไข้เลือดออกได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานพันธมิตรบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้วเคยตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกไม่เกิน 60,000 รายต่อปี เสียชีวิตไม่เกิน 6 รายต่อปี และในการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านจะต้องมีค่ามาตรฐานไม่ 5 สำหรับในปีนี้แม้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมจะลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกว่าปีที่แล้ว 0.87 เท่า แต่จากสถิติการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี และพบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี เพราะไข้เลือดออกมีการระบาดกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวถึงในพื้นที่กรุงเทพฯว่า มีการเก็บสถิติจำนวนอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงสุดใน 4 สัปดาห์ต่อประชากร 1 แสนคน โดยพบมากที่สุดในพื้นที่เขตพระนคร แขวงชนะสงครามมากถึงร้อยละ 61.12 รองลงมาคือ เขตบางรัก แขวงบางรัก ร้อยละ 41.44 เขตคลองสามวา แขวงสามวาตะวันออก ร้อยละ 40.70 รวมถึงการตรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเก็บข้อมูลมีประโยชน์ที่จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งดำเนินการในการเข้าดูแลป้องกัน รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินการตามมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน มุ่งเน้นในการทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับองค์กรด้านสาธารณสุขในระดับประเทศและท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง ขณะเดียวกันก็ยังเน้นย้ำการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมสื่อสารถึงการปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกเพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด
ภญ.ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ที่หลากหลายพื้นที่เอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้น เจ้าหน้าที่ของ กทม.ได้ดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน เฝ้าระวัง สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พร้อมกิจกรรมรณรงค์เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงลูกน้ำยุง จัดทำ Big Cleaning Day ปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม แจกทรายอะเบทและโลชั่นทากันยุง พร้อมทั้งออกหน่วยคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยช่วยกระจายความรู้ประชาชน ให้เสริมย้ำมาตรการ 5 ป. 1ข. 3 เก็บ กับชาวกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งยังใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยของไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเองที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.ยันวัคซีนโควิดเด็กฉีดพร้อมวัคซีนอื่นๆ ได้!
กรมควบคุมโรค เผยการฉีดวัคซีนโควิด19 ของไฟเซอร์ในเด็ก 6 เดือน -4 ปี สามารถฉีดพร้อมวัคซีนชนิดอื่นในวันเดียวกันได้
กรมควบคุมโรค เผยฝีดาษลิงแพร่ระบาดในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มชายรักชาย-มีคู่นอนหลายคน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรพบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
สธ. เผยหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวพุ่งมากกว่า 10 เท่า
กรมควบคุมโรค ประเมินผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวแนวโน้มพุ่ง 10 เท่าของผู้ป่วยอาการรุนแรง วอนกลุ่ม 608 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น