7 นวัตกรรมการแพทย์ฝีมิอคนไทยเข้าบัญชีระบบรักษาของสปสช.

7 นวัตกรรม พัฒนาโดยคนไทย

ในปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี อาทิ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) เข้ามาใช้ในการทำงานร่วมกับแพทย์ หรือระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การพบแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล นอกจากนี้ในด้านการพัฒนานวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้ป่วยๆ ทางด้านกายภาพร่างกาย  การตรวจเลือดในกลุ่มโรคเบาหวาน โรคไต ผู้พิการ และอื่นๆ แต่ยังมีนวัตกรรมอีกจำนวนไม่น้อยที่ไทยยังต้องพึงพาการนำเข้าจากประเทศ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการนำเข้านวัตกรรมหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อตอบโจทย์ต่อการดูแลรักษา

รากฟันเทียมฝีมือคนไทย

จากที่กล่าวข้างต้น เป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องหาแนวทางลดการนำเข้านวัตกรรมหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการแสดงศักยภาพนักวิจัยในการพัฒนานวัตกรรม ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเปิด 7 นวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทยและเข้าสู่ระบบการให้บริการใน สปสช.ได้แก่  รากฟันเทียม ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม วัคซีนป้องกันไอกรน แผ่นปิดกะโหลกเทียมเฉพาะบุคคล เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส ชุดตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ในตับแบบรวดเร็ว และชุดตรวจ Microalbuminuria Rapid Test(Albii) การตรวจวัดค่าการทำงานของไตเบื้องต้น

ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยให้ระบบสาธารณสุขของได้เข้มแข็ง โดยมีการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกมาจำนวนมาก ดังนั้นการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ(Wellness & Medical Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูง ช่วยลดภาระทางการเงินของภาครัฐและประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์

แผ่นปิดกะโหลกเทียมเฉพาะบุคคล


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านความต้องการผลิตภัณฑ์การแพทย์และสาธารณสุขกับทาง สกสว. ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยที่สามารถไปศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะหากมีการใช้สินค้าในประเทศเงินก็จะหมุนเวียนในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะงบประมาณของสปสช. 100% หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 50% หรือประมาณ 7 หมื่นล้าน ต้องจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์นำเข้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหากมีการพัฒนาให้เข้มแข็งอาจจะเป็นการขยายสู่ตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือความร่วมมือต่างๆ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เลขาฯสปสช. กล่าวอีกว่า  โดยทั้ง 7 นวัตกรรม ที่ได้พัฒนาได้การนำเข้าสู่บัญชีหลักประกันสุขภาพ โดยจะยังเหลือชุดตรวจ Albii ที่จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมและนำเข้าสู่บัญชีเร็วๆนี้ โดยสามารถลดการนำเข้าได้จำนวนมาก อย่าง ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ลดการนำเข้าได้ปีละ 300 ล้านบาท กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับนักวิจัยไทย กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น  ซึ่งจากการติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นพบว่า ได้ผลดี อย่างการใช้ ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมผู้ป่วยที่ใช้แรกๆอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานก็ได้เสียงตอบรับที่ดี หรือรากฟันเทียม  เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส แผ่นปิดกะโหลกเทียมเฉพาะบุคคล ก็พบว่าใช้ได้ดีเทียบเท่ามาตรฐานจากต่างประเทศที่เคยนำเข้ามาใช้ เพราะทุกผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบและตรวจสอบมาตรฐานเป็นอย่างดี เพื่อให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด โดยในแผนต่อไปก็จะมีการปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกระดูก เพราะมีการนำเข้ากว่า 3,500 ล้านบาท อุปกรณ์ทางสมองที่นำเข้ากว่า 2,000 ล้านบาท อุปกรณ์ทางหัวใจ 4,500 ล้านบาท อุปกรณเกี่ยวกับมะเร็งนำเข้ากว่า 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องมีการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่ไทยสามารถผลิตเองได้ ตามความพร้อมและความต้องการของตลาดด้วย

ศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สำหรับนักวิจัยไทยในกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)   พร้อมในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีประมาณ 350 คน ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อการพัฒนาวิจัยศึกษานวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับนักวิจัยคือ ความเร็วการผลิตเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางสาธารณสุข หรือยาชีววัตถุเป้าหมาย ที่มีกระบวนการซับซ้อนและขั้นตอน หรือการต่อยอดที่ต้องนำมาพิจารณาว่าสามารถที่จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและขึ้นอยู่ที่ละชิ้นงานด้วย  นอกจากนี้ในการผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ จะต้องผ่านการรับรองและทดสอบในเงื่อนไขของสปสช. เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาทั้งห้องปฏิบัติการทางคลินิก การสร้างความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อผลิต ทำให้การวิจัยรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. และนางศุภมาส อิสรภักดี รมว.อว กำลังชมนวัตกรรมทางการแพทย์โดยฝีมือคนไทย

ศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวต่อว่า ในการทำความร่วมครั้งนี้สิ่งที่ต้องการมาก คือ รู้ความต้องการของจำนวนผู้ใช้งาน โดยทางสปสช. จะเป็นผู้กำหนดโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น เพื่อออกแบบงานวิจัยให้ตรงต่อความต้องการของผู้ป่วยและแพทย์มากที่สุด  และนักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยต่างประเทศเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น และเป็นการขยายตลาดไม่เพียงแค่ในประเทศแต่ยังรวมถึงตลาดในต่างประเทศด้วย .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง