5 ศิลปินรุ่นใหม่อัปสกิลศิลปะ หาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สหรัฐ

คณะศิลปินรุ่นใหม่ 5 คน 5 สไตล์ที่มีผลงานโดดเด่นคว้ารางวัลจากการประกวดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 :  Young Artist Talent 2024 “  เดินทางข้ามทวีปไปศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมในนครลอสแองเจลิส เมืองศิลปะระดับท็อปของสหรัฐอเมริกา   อย่าง  J. Paul Getty Center พิพิธภัณฑ์ระดับโลกที่มียอดผู้เข้าชมหลายล้านคนต่อปี , สวนประติมากรรม University Of California Los Angeles  UCLA. , พิพิธภัณฑ์ Norton Simon museum , Pasadena City Hall , The Broad Museum, The Museum Of Contemporary Art , MOCA , The Frederick R. Weisman Foundation Art Museum Los Angeles

อีกพิพิธภัณฑ์ที่เหล่า Young Artist Talent 2024 เข้าชม  LACMA  Los Angeles county Museum  of Art  และพิกัดยอดฮิตอย่าง  BERGAMOT STATION Art Gallery’s Santa Monica  California ศูนย์รวมหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์แห่งเมืองซานต้า มอนนิก้า  ซึ่งพัฒนาจากโกดังเก็บของท่าเรือเก่าใกล้ชายทะเลรวม 40 หอศิลป์อยู่ในที่เดียวกัน มีผู้เข้าชมจากทั่วโลกเดินทางชมไม่ขาด  โดยช่วงการผจญภัยระหว่าง 10-25 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการเรียนรู้ดูงานแล้ว เหล่าศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงได้ฝึกฝนสร้างงานศิลปะเพื่อพัฒนาศักยภาพที่ Vasquez Rocks ซึ่งมีธรรมชาติภูมิทัศน์งดงามแปลกตา อีกพิกัดลงมือรังสรรค์งานจิตรกรรมที่  Los Angeles  Memorial Coliseum  สถานที่ปักธงโอลิมปิค 4  ปีข้างหน้า ‘ LA2028 ‘ ซึ่งสหรัฐเป็นเจ้าภาพต่อจากฝรั่งเศส

โครงการนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม  นำโดยนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผนึกกำลังสภาศิลปกรรมไทยสหรัฐอเมริกา ที่มี ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่ได้รับการขนานนามว่า “ศิลปินสองซีกโลก” นำคณะศิลปินรุ่นใหม่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่าๆ พร้อมบรรยายให้ความรู้ด้านศิลปะแก่ 5 ศิลปิน ประกอบด้วย น.ส.พิมพ์นารา ธนากรวัจน์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ,นายฤทธิรุทธ โรจนานุกูลพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ,นายสุธีกานต์ ช่วยทิพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ,น.ส.ดรุณนี ขาวผ่อง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และนายรักษ์ ดอกไม้พุ่ม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่สภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา นายโกวิท ผกามาศ ผอ.สศร. กล่าวว่า สศร.ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ณ สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15 หลังว่างเว้นจากสถานการณ์โควิดไป 5 ปี โดยนำนักศึกษาศิลปะจาก 23 สถาบันการศึกษาจากทุกภูมิภาคของไทยที่มีผลงานโดดเด่นและได้รับคัดเลือกจาก 7 ศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นนำ ให้เดินทางมาต่อยอดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการขั้นสูงและศึกษาดูงานด้านศิลปะที่สหรัฐ สศร.ตระหนักถึงความสำคัญการเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ศึกษาดูงานที่ลอสแองเจลิส นครแห่งศิลปะ มีพิพิธภัณฑ์ระดับโลก หอศิลป์ชั้นนำต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันมีความพร้อมของสภาศิลปกรรมไทยสหรัฐอเมริกาที่เป็นสถานที่บรรยายสรุปสาระความรู้สำคัญจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ในแต่ละวัน ทั้งยังเป็นที่พักของคณะศิลปินรุ่นใหม่

“ ศิลปินรุ่นใหม่กระตือรือร้นดูงานพิพิธภัณฑ์ ได้สัมผัสผลงานศิลปะของศิลปินระดับโลกด้วยตาตัวเอง  และได้รับองค์ความรู้ด้านศิลปะจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี นำไปปรับประยุกต์ใช้  ระหว่างทางจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปศิลปะในแหล่งธรรมชาติและพื้นที่ Los Angeles  Memorial Coliseum  เมืองโอลิมปิคในอนาคต ภายในโคลีเซียมมีสถาปัตยกรรม ประติมากรรมโดดเด่น  ทำให้นักศึกษาศิลปะได้รับประสบการณ์ชีวิตและเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานบนเส้นทางศิลปะ  เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ และนำไปปรับปรุงแนวทางการฝึกอบรมของโครงการเพื่อให้เยาวชนได้รับการพัฒนาทั้งเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป “ นายโกวิท กล่าว

กว่า 15 ปีของ Young Artist Talent ที่พาศิลปินรุ่นใหม่มาอัปสกิลด้านศิลปะที่ต่างประเทศ  ผอ.สศร. บอกว่า สร้างศิลปินรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพกว่า 120 คน ปัจจุบันเป็นทั้งคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ศิลปินอาจารย์ที่มีผลงานโดดเด่น  อีกส่วนเป็นศิลปินอิสระในหลากหลายสาขา สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โครงการนี้เริ่มจากสองศิลปินชั้นครู ถวัลย์ ดัชนี และกมล ทัศนาญชลี พัฒนาเชิงคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ดร.กมล ทัศนาญชลี ร่วมรับผิดชอบดำเนินโครงการ หลังจบโครงการครั้งที่ 15 ตั้งเป้าจะขยายจำนวนนักศึกษาดูงานศิลปะ 10-15 คน แต่ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตาม  จะติดตามผลและจัดทำเนียบศิลปินรุ่นใหม่ตั้งแต่รุ่นที่ 1 – รุ่นที่ 15  ล่าสุด โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปี 2568 ณ สหรัฐ  ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว หลังจากตนนำเสนอถึงความสำเร็จและความคุ้มค่าของโครงการฯ ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย

ทัวร์พิพิธภัณฑ์ในลอสแองเจลิสเกิดจากการคัดสรรสถานที่ชมผลงานศิลปะทรงคุณค่าจากมุมมองและประสบการณ์โชกโชนของ ดร.กมล ทัศนนาญชลี ซึ่งแม้ปัจจุบันอายุครบ 80 ปีแล้ว  แต่พลังเต็มเปี่ยมพาคณะศิลปินรุ่นใหม่ไปดื่มด่ำงานศิลปะทรงคุณค่าระดับโลก ผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินดังก้องโลก เหตุผลหลักที่ทำให้ศิลปินสองซีกโลกขับเคลื่อนโครงการ Young Artist Talent หวังพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่

ดร.กมล กล่าวว่า การได้ศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ได้เห็นผลงานศิลปะของจริงไปจนถึงการติดตั้งชิ้นงานศิลปะขนาดต่างๆ  เทคนิคการจัดแสง สี  ซึ่งไม่มีทางจะดูได้จากหนังสือ  ได้ศึกษา ได้ปะทะความรู้สึกของผลงาน พลังของผลงาน  การพัฒนาผลงานของศิลปิน จนเกิดลายเซ็นต์ของตัวเอง กลายเป็นศิลปินดังประสบผลสำเร็จ เกิดรายได้ตามมา  โดยเฉพาะศิลปินสหรัฐรุ่นใหม่สร้างผลงานแตกต่างกับศิลปินไทย บางมหาวิทยาลัยของสหรัฐมีหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะ เน้นสร้างคนรุ่นใหม่จากปัจจุบันสู่อนาคต  ไม่ต้องการให้รู้จักปิกัสโซ่ แวนโก๊ะ ดาวินซี  ไม่ให้ยึดติด สอนให้คิดเครื่องมือใหม่ๆ โดยไม่ใช้แปรงพู่กัน กระตุ้นให้เกิดความคิดและเทคนิค นักศึกษาได้เห็นผลงานศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้ที่ The Broad Museum

หรือแม้กระทั่งเห็นการจัดการพิพิธภัณฑ์เมื่อเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวและหลังเกิดเหตุ ซึ่งวันที่คณะไปศึกษาดูงาน  Norton Simon museum พิพิธภัณฑ์ที่รวบผลงานศิลปะตั้งแต่รากเหง้าไล่มาจนถึงเรียลลิสติคต่อเนื่องถึงงานโมเดิร์นอาร์ต เกิดแผ่นดินไหว 5 ริกเตอร์  นี่คือ ประสบการณ์ตรง  ซึ่งพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งเป็นสุดยอดมิวเซียม มีผู้ชมทุกเพศทุกวัย ในสหรัฐ นอกจากลอสแองเจลิสแล้ว นิวยอร์ค ชิคาโก  และซานฟรานซิสโก ก็เป็นสุดยอดเมืองศิลปะ

“ ศิลปินรุ่นใหม่ รุ่น 15 มีความสามารถเฉพาะทาง ทั้งประติมากรรม สื่อผสม ภาพพิมพ์ จักสาน  จะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ด้านศิลปะที่ลอสแองเจลิส  ซึ่งตนแนะนำศิลปินต้องค้นหาตัวเองให้เจออย่างน้อย 50-60% จากนั้นต่อยอดศึกษาดูงานศิลปะ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จะแข็งแรงกว่า อย่าเอาของเขามาทั้งหมดไปไม่ได้ไกล การไม่รู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ก็อันตราย “ ดร.กมล ปลุกไฟคนรุ่นใหม่

จากจุดเริ่มต้นโครงการฯ นำนักศึกษาศิลปะเหนือจรดใต้มาอบรมเชิงปฏิบัติการขั้นสูงกับศิลปินแห่งชาติที่หออัครศิลปิน จ.ปทุมธานี เพื่อคัดสุดยอด ก่อนผลักดันจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ที่สหรัฐ ภายหลังเพิ่มโครงการพัฒนาศักยภาพครูศิลปะที่สหรัฐ ซึ่งสองโครงการหยุดชะงักไปช่วงโควิด ปีนี้ฟื้นโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ สศร. กลับมา ดร.กมล ในวัย 80 ปียังย้ำว่า ตนและอาจารย์ถวัลย์ที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ทุ่มเท เราเหมือนไม้ร้อยอ้อม การพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่ต้องมีการฝึกฝน ได้รับคำสอน ชี้แนะ  เรายิ่งให้ยิ่งได้  ทั้งยังเป็นการเชื่อมนักศึกษาศิลปะทุกสถาบันกลายเป็นเพื่อนกัน ละลายค่าย จากการมาดูงาน ทำงานศิลปะ ทำอาหาร กิน นอน และแลกเปลี่ยนสรุปการดูงานด้วยกันทุกวัน พวกเขาเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการศิลปกรรมไทย

สนใจเรียนรู้ทุกพิพิธภัณฑ์ที่ลอสแองเจลิส ต้องยกให้ศิลปินสาวมีสไตล์ .ส.พิมพ์นารา ธนากรวัจน์ นศ.ปริญญาโท ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินรุ่นใหม่ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Young Artist Talent 2024 เผยว่า ประทับใจกับการต้อนรับที่อบอุ่นเหมือนคนในครอบครัวของสภาศิลปกรรมไทยสหรัฐอเมริกา ได้อุดมการณ์ชีวิตจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ซึ่งประสบความสำเร็จด้านศิลปะ  และประทับใจเมืองลอสแองเจลิสที่ต้อนรับงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน แตกต่างจากประเทศไทย ศิลปะเหมือนเส้นบางๆ แบ่งกลุ่ม ทั้งที่การดูงานศิลปะอยู่ได้กับคนทุกกลุ่ม คนเที่ยวมิวเซียมที่นี่หลากหลายมาก  ที่ชอบมากที่สุด ได้ไป J. Paul Getty Center ชอบการจัดการพิพิธภัณฑ์ ระบบนิเวศทางศิลปะ จัดแสดงผลงานที่หลากหลายมาก  เริ่มตั้งแต่นีโอคลาสสิคไล่เรียงจนถึงคอนเซ็ปชวลอาร์ต

“ ได้เรียนรู้ความกล้าในการทำงานศิลปะ เรียนรู้จากศิลปิน ผลงานศิลปะสะท้อนทัศนคติและชีวิตคนทำงาน มาสหรัฐครั้งนี้ปรับมายเซ็ทชีวิตของตัวเองอีกครั้ง จุดประกายความกล้า เพราะเห็นพลังในงานศิลปะ ทุกชิ้นที่ประสบผลสำเร็จมาจากความกล้าของศิลปินในการปล่อยพลังและขับเน้นในบางจุด โดยไม่สนใจผลลัพธ์ แม้ไทยเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ แต่ยังไม่มากพอ และเฉพาะกลุ่ม เด็กไทยมีความสามารถมาก มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นเกิดเทคนิคทำงานใหม่ๆ อยากให้มีเวทีหรือพื้นที่โชว์ความสามารถ ขณะที่การประกวดเวทีใหญ่ไม่รองรับงานศิลปะทุกรูปแบบ ถ้าเปิดโอกาสจะช่วยพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะได้ รวมถึงศิลปินเรสซิเดนซ์ในบ้านเรายังน้อย ขาดที่พักศิลปินในแต่ละจังหวัด การเรียนรู้โลกภายนอก ช่วยพัฒนาศักยภาพ เป้าหมายของตนอยากทำงานศิลปะ Site-specific art   สร้างศิลปะอยู่ในสถานที่เฉพาะเจาะจง เป็นโลกใบใหม่ที่สื่อสารกับทุกคนได้  “ น.ส.พิมพ์นารา กล่าว

ครั้งแรกทัวร์มิวเซียมเปิดโลกให้ นายฤทธิรุทธ โรจนานุกูลพงศ์ หนุ่มเมคคานิค อาร์ตจากคณะศิลปศาสตร์ สจล.ลาดกระบัง รองแชมป์โครงการฯ บอกว่า  ตื่นเต้นกับทุกพิพิธภัณฑ์  มีการจัดการให้รู้สึกอยากเดินชมไม่หยุด ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เห็นผลงานมาสเตอร์พีชระดับโลก ทั้งงานแวนโก๊ะ งานของจอห์น ริกกี้ ศิลปินแมคคานิคชื่อดัง ชอบที่สุด  คือ The Frederick R. Weisman Foundation Art Museum Los Angeles เป็นสถานที่สะสมงานศิลปะส่วนบุคคล แต่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม  มีการจัดการพิพิธภัณฑ์แบบมืออาชีพ ส่วนงานศิลปะที่แสดงก็ราคามหาศาล ที่สำคัญ การมาดูงานศิลปะที่สหรัฐ ทำให้ได้รู้จักพื้นที่ใหม่ สังคมใหม่ ได้เพื่อนใหม่ๆ  ทำงานเทคนิคต่างกันไป ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับศิลปินแห่งชาติ  รวมถึงได้เปิดโลกแมคคานิกอาร์ตในต่างแดน ในไทยพบน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะติดตั้งในโรงแรม อยากให้รัฐสนับสนุนการพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ  ปรับเปลี่ยนที่รกร้าง พัฒนาเป็นอาร์ตเสปซ ให้คนรุ่นใหม่ปล่อยพลัง อยากขอบคุณอาจารย์กมลที่เมตตาพวกเราคอยสอดแทรกสาระและปรัชญาตลอดทริปในสหรัฐ  ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินและเปิดสตูดิโอทำงานสร้างสรรค์ที่บ้านเกิด จ.ฉะเชิงเทรา

เช่นเดียวกับ นายสุธีกานต์ ช่วยทิพย์ นศ.ปี 3 สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ คณะมนุษย์ศาสตร์ มรภ.เพชรบุรี กล่าวว่า สมัครร่วมโครงการฯ เพราะรุ่นพี่ Young Artist Talent แนะนำ จนผลงานประติมากรรมได้รับรางวัล ได้มาศึกษาดูงานอเมริกา ประทับใจพิพิธภัณฑ์ Norton Simon museum กับ J. Paul Getty Center ได้พบผลงานศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจแรก คือ ปิกัสโซ่ และเฮนรี่ มัวร์  เห็นด้วยตาเปิดกว้างกว่าที่คิด สร้างแรงบันดาลใจให้อยากทดลองทำงานศิลปะในเทคนิคต่างๆ  ให้มุมมองและแนวคิดต่องานศิลปะเปลี่ยนไปจากที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้คิดนอกกรอบ ข้ามขีดจำกัด บวกกับความรู้ที่อาจารย์กมลให้มา ทำให้เข้าใจศิลปะมากขึ้น  อยากให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มีโอกาสมากันเยอะๆ แค่ดูงานศิลปะก็คุ้มค่าแล้ว

น.ส.ดรุณนี ขาวผ่อง บัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์  ม.ทักษิณ ปัจจุบันเป็นครูสอนศิลปะเด็ก เผยว่า จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่รักการทำงานศิลปะ ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้มาศึกษาดูงานที่สหรัฐ ได้ชมผลงานระดับตำนานและผลงานร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของโลก ที่เข้าทางและโดนใจมาก คือ The Broad Museum ได้เรียนรู้ผลงานร่วมสมัย งานแอบแสตรป ใช้สี แสง เข้ากับแนวทางทำงานของตนเอง  ถือเป็นโอกาสสำคัญในชีวิตและจะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนต่อไป ปลูกฝังให้เด็กรักและสนใจศิลปะ สร้างโลกศิลปะง่ายๆ ในโรงเรียนที่สงขลา

เสพงานศิลป์กับมิวเซียมแกลเลอรี่ในแอลเออย่างเพลิดเพลินอีกหนึ่งคน ยกให้ นายรักษ์ ดอกไม้พุ่ม หนุ่มภาพพิมพ์ ชั้นปี 4 คณะวิจิตรศิลป์  มช. เผยความรู้สึกก่อนกลับไทยว่า นี่คือโอกาสเรียนรู้ ต่อยอด ได้ประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ เจอผู้คนต่างวัฒนธรรม ผลงานศิลปะต่างจากไทยมาก งานอธิบายด้วยตัวมันเอง สามารถนำมาใช้ในการทำงานศิลปะ ตื่นเต้นกับผลงานมาสเตอร์พีซที่เคยเห็นในสไลด์หรือหนังสือ ทั้งงานเก่า งานร่วมสมัย และงานศิลปะที่ก้าวไปข้างหน้า ดูด้วยตารู้สึกว๊าวมาก โดยเฉพาะที่ The Broad Museum เจ๋งมาก อินเตอร์มาก ขณะที่อาจารย์กมลสอนคิด อย่าซ้ำรอยใคร  ช่วงนี้กำลังค้นหาตัวเองและหาความรู้ใหม่ๆ มาสหรัฐครั้งนี้มีสิ่งที่อยากทำผุดเข้ามาในสมอง กลับไทยจะลองทำงานสร้างสรรค์แนวสื่อผสมที่ไม่ทิ้งความเป็นภาพพิมพ์แน่นอน   

สศร.คัดมาแล้ว 5 ศิลปินรุ่นใหม่ บอกได้เลยทุกคนเต็มที่กับการดูงานด้านศิลปะที่ต่างประเทศ ได้ทั้งมุมมองใหม่ๆ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ระดับท็อปที่นครลอสแองเจลิสแบบคุ้มค่า นอกจากเติมไฟให้หนุ่มสาว Young Artist Talent 2024  ยังเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ  ประทับใจจนไม่อยากกลับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศิลปินแห่งชาตินำทัพ‘มหกรรมสานต่องานศิลป์ศิลปินแห่งชาติ’ ฉลองปีมหามงคลในหลวง และเฉลิมพระเกียรติพระพันปี

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ชวนเที่ยว'สวนแสง'งานมหรสพสมโภช ชมนิทรรศเฉลิมพระเกียรติ

13 ก.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หั

'น้องสกาย-น้องภษมน'คว้ารองแชมป์ กอล์ฟเยาวชนชิงแชมป์โลก ที่สหรัฐฯ

สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย ส่งนักกอล์ฟเยาวชนไทย 36 คน เข้าแข่งขันกอล์ฟเยาวชนชิงแชมป์โลกรายการ ”ไอเอ็มจี จูเนียร์ เวิลด์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ 2024“ ที่ซานดิอาโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.67 โดยนักกอล์ฟชุดนี้ผ่านการคัดตัวจากการแข่งขันรายการ “ทีจีเอ-สิงห์ จูเนียร์ กอล์ฟ แชมเปี้ยน 2024” (คลาสเอ-อี)