'พะเยา-เชียงราย 'ฐานผลิตข้าวหอมมะลิไทย ยกระดับแปรรูปสู่สากล

ผลิตภัณฑ์ ข้าวพองกรอบเคลือบช็อกโกแลต

“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรหลักในการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากผลผลิตผลที่เป็นข้าวเปลือกหรือข้าวสารแล้ว อีกปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าให้กับข้าวได้ก็คือ การนำข้าวมาแปรรูป  ด้วยเหตุนี้กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว จึงได้ลงพื้นที่แหล่งแปรรูปข้าวหลากสายพันธุ์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวท้องถิ่น สู่โลคอลซอฟต์พาวเวอร์ ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน จ.พะเยา และศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล จ.เชียงราย เพื่อเป็นโมเดลต่อยอดและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในประเทศ

โอวาท ยิ่งลาภ

โอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดกว่า 60 ล้านไร่ ได้ผลผลิตจากข้าวนาปี 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการเก็บเกี่ยว และข้าวนาปรัง 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการเก็บเกี่ยว(เฉลี่ย 1 ปี ปลูกได้ 4 รอบ) มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรต้องการประมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่ ในแต่ละปีจึงมีความต้องการเมล็ดพันธุ์หลายล้านตัน ซึ่งกรมการข้าวมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงแสนล้านตัน โดยสายพันธุ์เมล็ดข้าวที่ได้รับรองมีกว่า 150 สายพันธุ์ แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้จัดกลุ่มประเภทข้าวเป็น 5 กลุ่ม ข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว  และข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กข 15 และขาวดอกมะลิ 105 ส่วนข้าวกข ประเภทอื่นๆ จะอยู่ในกลุ่มข้าวอื่นๆ

โอวาท กล่าวต่อว่า โดยพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิไทยมีเพียง 23 จังหวัดที่ได้การยอมรับ  แบ่งเป็นภาคอีสาน 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ในอนาคตอาจจะมีการหาแนวทางร่วมกันระหว่างกรมการข้าวและกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของการขยายพันธุ์ข้าวหอมมะลิในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่อื่นๆ มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิไทยที่ได้การรับรองด้วย

พื้นที่นาวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน

“ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างและร่วมมือกับเกษตรกรเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่จะสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ นอกจากการมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เพียงพอต้องมีการส่งเสริม   ด้านผลิตภัณฑ์ผ่านการทำงานกับวิสาหกิจชุมชน เพราะหากเกษตรกรจำหน่ายเพียงแค่ข้าวเปลือก ตัวเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตจะไม่สามารถประเมินราคาหรือกำหนดราคาเองได้ ผู้ที่กำหนดราคาคือผู้ที่มารับซื้อ ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ผู้ผลิตจะสามารถกำหนดราคาได้ ดังนั้นส่วนสำคัญคือการเพิ่มมูลค่า อาทิการปลูกข้าวตามมาตรฐาน GAP หรืออินทรีย์ และการแปรรูปข้าว โดยต้องมีการศึกษาบริบทและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ในการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวสาร  โดยเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนต้องมีความเข้มแข็งมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมกับส่งเสริมทางด้านการตลาด เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น” โอวาท กล่าว

พื้นที่นาศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล

ด้านสถานการณ์ข้าวในไทย โอวาท เผยว่า การส่งออกข้าวในปีนี้ตั้งเป้าข้าวสารไว้ที่ประมาณ 10 ล้านตัน ขณะนี้การส่งออกอยู่ที่ราวๆ 7 ล้านตันแล้ว ซึ่งอยู่ในแนวโน้มที่น่าพึงพอใจ และราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้ในปีนี้เกษตรกรไม่ได้มีการร้องเรียนหรือเรียกร้องเรื่องราคาข้าว แต่หลังจากนี้อีก 2-3 เดือน ที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวก็จะต้องมีการติดตามตัวเลขของราคาข้าวอีกครั้ง

การแปรรูปข้าว เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพผลิตภัณฑ์จากข้าวในพื้นที่ภาคเหนือ  โอวาท กล่าวว่า ในต.จุน จ.พะเยา มีจุดเด่น ปกติกลิ่นข้าวหอมมะลิจะหอมประมาณ 3-4 เดือน หลังจากเก็บไว้นานๆจะลดลง แต่ที่จ.พะเยา ข้าวหอมมะลิผ่านการเก็บไป 1 ปี ก็ยังมีความหอมอยู่  โดยความหอมของข้าวขึ้นอยู่กับปัจจัยของธาตุอาหารในดิน โดยเฉพาะธาตุโพแทสเซียม ที่จะช่วยบำรุงผลของข้าว จึงได้มีการนำดินที่ใช้ปลูกข้าวในวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน ไปตรวจสอบพบว่ามีส่วนประกอบของธาตุโพแทสเซียม ที่มีลักษณะคล้ายกับธาตุที่เป็นส่วนประกอบบริเวณที่เป็นดินภูเขาไฟ แม้ว่าในพื้นที่จะไม่ได้มีภูมิศาสตร์ที่บ่งชี้ว่ามีภูเขาไฟ

“นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการปลูกได้ 5 สาย จึงได้นำจุดเด่นตรงนี้มาสร้างเป็นเรื่องราวในการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวของต.จุน นำไปสู่การรับรองคุณภาพ GI เป็นตัวอย่างของชุมชนที่สร้างมูลค่าจากการใช้กรรมวิธีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงสองปีที่ผ่านมามูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 27% (มูลค่าปี 2565 อยู่ที่ 9,169.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 7,127.63 ล้านบาท) มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์กว่า 4% รวมถึงผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น”

ในส่วนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล จ.เชียงราย โอวาท กล่าวว่า นับเป็นอีกชุมชนต้นแบบที่มีแนวคิดการปลูกข้าวปลอดภัย เพื่อแก้ปัญหาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจนได้รับมาตรฐานการรับรอง GAP และ GAP Seed จากกรมการข้าว ควบคู่กับการจัดทำระบบควบคุมภายในเพื่อควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นแหล่งกระจายและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสู่ชาวนาในพื้นที่ด้วยพื้นที่เพื่อการผลิตเฉพาะเมล็ดพันธุ์ถึง 238 ไร่ สามารถกระจายไปถึง 5 พื้นที่ที่มีการปลูกข้าว พร้อมเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญให้กับคนในพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้เกษตรกรยังมีความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบประณีต พร้อมทั้งการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่ และการแปรรูปข้าวให้เป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการดำเนินการด้านการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนการเชื่อมต่อผลผลิตข้าวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีศักยภาพในการสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชนในตำบล

ชัญญาณัฐ พระวิสัตย์

ชัญญาณัฐ พระวิสัตย์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน กล่าวว่า ในพื้นที่กรมการปลูกข้าวของวิสาหกิจในชุมชนฯ  ของสมาชิกรวม 1,000 คนประมาณ  200 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าว 1,000-2,000 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยเป็นการทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 650 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 50 ตัน  สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 15,000 บาท สามารถปลูกข้าวได้5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ข้าวกล้อง ข้าวมะลิแดง ข้าวก่ำ และข้าวไรซ์เบอรี่

“เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จึงต่อยอดความต้องการของตลาด ภายใต้แบรนด์ข้าวหอมมะลิสร้อยศรี ที่เน้นการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ เช่น ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง   ข้าวพองกรอบเคลือบช็อกโกแลต เวย์ข้าวโปรตีนผสมธัญพืช 9 ชนิด  เป็นต้น โดยมีกรมการข้าวได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้สมัยใหม่ในการผลิตข้าว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าข้าวในทางการค้าเชิงพาณิชย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยกระดับข้าวพื้นเมืองให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล” ชัญญาณัฐ กล่าว

ธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง

ธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล กล่าวว่า ในพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล มีข้าวพื้นเมือง 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105)  ข้าวเหนียว (กข6  สันป่าตอง และกข-แม่โจ้ 2)ชาวบ้านในพื้นที่รวม 38 คน 45 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 1,037 ไร่ ทำนาปีละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน มิถุนายน – สิงหาคม และเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน เมษายน และเดือน มิถุนายน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 800 กิโลกรัม – 1.29 ตัน/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 250 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 11,000  บาท

ผลิตภัณฑ์คราฟเบียร์ 

ธนานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวหอมมะลิ นอกจากนี่ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี จึงได้ต่อยอดขยายพันธุ์ข้าวให้มีเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เริ่มจากสมาชิกในชุมชน และให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูก เพื่อผลผลิตที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชนในการขยายพันธุ์ข้าวให้มีเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น และได้แปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็น คราฟต์เบียร์ ภายใต้แบรนด์สุราฮิมนา และแปรรูปเป็นเหล้าขาว ในรูปแบบโซจู ที่ทำการตกแต่งกลิ่นและรสชาติหลากหลายรส อาทิ  ลิ้นจี้ สตอเบอรี่ มะม่วง และพีช และมียังมีแนวคิดในการแปรรูปข้าวหอมมะลิ 105 เป็น ชา ที่มีความหอมของข้าวหอมมะลิ โดยแนวคิดเหล่านี้กำลังอยู่ในกระบวนการต่อยอดความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าประจำชุมชนในการสร้างรายได้อนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“นฤมล” หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพ ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย

วันนี้(24 ส.ค.)ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ. เชียงราย โดย หัวหน้าพรรคกล้าธรรม

รัฐบาลมอบถุงยังชีพ เร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ

รัฐบาล มอบถุงยังชีพเบื้องต้น 11,932 ชุด บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย - น่าน เตือน ปชช. ยังติดตามการแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด

'ก้าวไกล' แพ้ยับ! ศึกนายก อบจ. 3 จังหวัด บ้านใหญ่ชนะขาดลอย

'ส้ม-ก้าวไกล' ไม่แรงอย่างที่คุย แพ้ยับศึก นายก อบจ. อยุธยา-ชัยนาท-พะเยา บ้านใหญ่ชนะขาดลอย 'เจ๊สมทรง-พี่สาวเสี่ยแฮงค์-มือขวาน้องธรรมนัส' คว้าชัย

'แพทองธาร' ลงพื้นที่พะเยา ช่วย 'ธวัช สุทธวงค์' หาเสียงเลือกตั้งนายกอบจ.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทีมพรรคเพื่อไทยเดินทางถึงท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ท่ามกลาง

‘เศรษฐา' สวมเสื้อชนเผ่าเย้า ลุยแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุ พื้นที่แม่จัน

“เศรษฐา" ลงพื้นที่แม่จัน สวมเสื้อชนเผ่าอิ้วเมี่ยน มรับฟังปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุ คาด ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ จบเดือนนี้ ใช้เวลาพิสูจน์สัญชาติจาก 180 วัน เหลือ 5 วัน