เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อ70กว่าปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรชาวไทย ไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาใด โดยเฉพาะที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนที่สูงของภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งในอดีตเป็นดินแดนถิ่นธุรกันดาร ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี มีวิถีชีวิตยากลำบาก ทรงเข้าไปพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิต จนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีสภาพชีวิตความป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตราบจนทุกวันนี้
ในการครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นความสำคัญในสิ่งที่เป็นภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคนภายนอกอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน โดยทรงนำมาต่อยอด จนทำให้เอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นชิ้นงานที่โดดเด่น กลายเป็นที่รู้จัก สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชนเผ่าต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ ในวาระ เฉลิมพระชนมครบ 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2567 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน”
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ด้วยพระราชดำริด้านการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบของการส่งเสริมศิลปาชีพเพื่อพัฒนาอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรบนพื้นที่สูงและการธำรงรักษาฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้น้อมนำพระราชดำรินี้สู่การปฏิบัติผ่านนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรของนายวราวุุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงโอกาส สวัสดิการ และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ทุกช่วงวัยให้มีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมและสร้างครอบครัวไทยเข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในรูปแบบ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” และ “กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม”
การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ นางจตุพรกล่าวว่า ถือเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่วิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นช่องทางในการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาด เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตแก่กลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการสนับสนุนทางสังคม ทั้งนี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรบนพื้นที่สูงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การจัดแสดงผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (แฟชั่นโชว์) เวทีเสวนา “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่สูง สู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” การนำเสนอวิถีชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง เช่น สาธิตการออกแบบผลิตสินค้า การแสดงประเพณีและดนตรี และการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์
อีกทั้ง ยังเป็นการนำเสนอในแง่อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ นำเสนอผลิตภัณฑ์สิ่งทอและหัตถกรรมจากชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ลวดลาย และสีสันในรูปแบบของการปัก การเย็บ และการตกแต่งด้วยวัสดุต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์ของราษฎรบนพื้นที่สูง จำนวน 10 ชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี อันแสดงให้เห็นถึงความงดงาม ความละเอียดอ่อน ความประณีต รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลวดลาย
ส่วนในมุมความเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ เป็นการนำเสนอ การส่งเสริม พัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มอาชีพของราษฎร ตลอดจนพัฒนาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่เป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งภายในงานมหกรรมฯ มีการรวบรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพื้นที่สูงและกลุ่มอาชีพ เข้าร่วมจัดบูธจำหน่ายสินค้า จำนวนกว่า 60 บูธ และบูธหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 40 บูธ
งานมหกรรมครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสวัสดิการยั่งยืน พัฒนากลไกขับเคลื่อนการเข้าถึงสวัสดิการอย่างทั่วถึงของราษฎรบนพื้นที่สูง ผ่าน“ศูนย์ส่งเสริมสวัสดิการสังคมชุมชนบนพื้นที่สูง (ศสส.)” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ราษฎรพื้นที่สูงมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการจัดสวัสดิการสังคม ตลอดจนเกิดรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของราษฎรบนพื้นที่สูง
“กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงโดยประสานการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ และมีทุนทางสังคม จึงได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาสังคม การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม การจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมสร้างรายได้ในรูปแบบ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” จนไปถึง “กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม”นางจตุพร กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2567.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลงทะเบียนด่วน! แจกซิมเนตฟรี 'ผู้ถือบัตรคนพิการ' หมดเขต 31 ธ.ค.
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
'วราวุธ' นำผู้บริหารพม. เข้าพบหารือ 'จุฬาราชมนตรี' ขับเคลื่อนงานนโยบายใหญ่
"วราวุธ" นำ ผู้บริหารกระทรวง พบหารือ “จุฬาราชมนตรี” ขับเคลื่อนงานภารกิจ พม. นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร แก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง
พม.ดูแล ผู้ประสบภัยไฟไหม้เยาวราช ทั้งคนไทย-ต่างชาติ
“วราวุธ" กำชับ ปลัดพม. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ชุมชนย่านเยาวราช ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ
ครม. ไฟเขียว 'พม.' ปรับเปลี่ยนหมุนเวียน 5 อธิบดี
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา แจ้งว่า ในที่ประชุมครม