ยิ่งใหญ่งิ้วไทยเฉลิมพระเกียรติ'กษัตริย์ยอดกตัญญู'

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6  รอบ 28  กรกฎาคม 2567  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) โดยคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์ฯ พร้อมด้วย สมาคมสมาชิกของสหพันธ์ฯ ทั้ง 23  องค์กรทั่วประเทศ และองค์กรภาคีเครือข่าย 3  แห่ง  สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ                            สยามบรมราชกุมารี  มูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา  สมาคมสตรีสัมพันธ์  ร่วมจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน”  คณะกรรมการจัดงาน จะจัดสรรเงินทุนจากการจัดงาน ซึ่งได้จากการรวมใจของสมาชิกและองค์กรภาคีต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิมจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ คือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 บนถนนเจริญกรุง ถนนสายมังกร สัญลักษณ์ความกตัญญูต่อแผ่นดิน ซึ่งมีลักษณะพิเศษนักษัตรปีมังกรประจำปีพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล กล่าวว่า กาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและถวายกำลังใจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ไฮไลท์ของงาน คือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และการจัดแสดงอุปรากรจีน ภาคภาษาไทยจากตำนานจีน “24 ยอดกตัญญู” 2 เรื่อง คือ กตัญญูเหนือยศศักดิ์…ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ กับ ฮัวมู่หลาน…ออกศึกแทนบิดา สืบเนื่องจากเมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี 2525  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น)  เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ พลับพลาพิธี บริเวณวงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ  ที่ นายเกียรติ-นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานมูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา ได้รวมพลังคนไทยเชื้อสายจีนจากทั่วประเทศยิ่งใหญ่ จัดโครงการ “พระบรมโพธิสมภารร่มเย็นเป็นสุข” เป็นการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินสยามที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งบูรพมหากษัตริยาธิราช  และพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด  

“ งานในวันนั้นแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดิน ชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พสกนิกรรับทราบมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกตัญญูต่อสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  จึงมีแนวคิดร้อยเรียงเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจัดงานในโอกาสมหามงคลปีนี้เพื่อแสดงความจงรักภักดีและขอถวายราชดุดี “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู”  คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

สำหรับการจัดแสดงอุปรากรจีนผสมละครจากตำนานจีน “24 ยอดกตัญญู” ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า เนื้อหาของเรื่องสอดกับความกตัญญู ที่สำคัญย้อนไป 42 ปีก่อน นายเกียรติ-นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ริเริ่มการแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย ล่าสุดมีการตั้งศูนย์สืบสานอุปรากรจีนแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก นอกจากกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติแล้วยังได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยและจีนอีกด้วย สอดรับแนวทางส่งเสริมการแสดงงิ้วไทยของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

“ การแสดงอุปรากรจีนภาษาไทยล้อเรื่องราวตำนาน 24 ยอดกตัญญูของจีน ฉากแรกเปิดด้วยแปดเซียนถวายพระพร เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย จากนั้นตระการตากับมัลติวิชัน 24 ยอดกตัญญู ตามด้วยอุปรากรจีนที่จัดแสดง 2 เรื่อง คือ  กตัญญูเหนือยศศักดิ์…ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ เป็นเรื่องความกตัญญูต่อมารดา  กับ ฮัวมู่หลาน…ออกศึกแทนบิดา เพราะงานนี้จัดขึ้นโดยพลังผู้หญิงและเป็นเรื่องที่รู้จักทั่วโลก  บทกระชับ เข้าใจง่าย  ฉากทันสมัยด้วยเทคนิค CG  แสดงบนเวทีขนาดใหญ่ กับกองทัพนักแสดงจำนวนมากเพื่อความยิ่งใหญ่ นักแสดงอุปรากรจีนอาชีพ 2 คน พร้อมนักแสดงกิตติมศักดิ์ หนึ่งในนั้น ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รับบทเซียนหญิงหนึ่งเดียวในแปดเซียน ทุกคนเคี่ยวกรำฝึกซ้อมหนักด้วยความตั้งใจอยากถวายงาน งานเฉลิมฉลองต้องสมพระเกียรติ  “ คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

สำหรับแปดเซียนถวายพระพร นักแสดงประกอบด้วยประสงค์ เอาฬาร กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รับบทฮั่นจงหลี ดร.อมร  อภิธนาคุณ  รับบทฮั่นจงหลี  สุขกาญจน์ วัธนเวคิน รับบทเฉากั๊วจิ้ว  ดร.การุญ จันทรางศุ  สวมบทจางกัวเหล่า  อนันตชัย คุณานันทกุล  รับบทลือต้งปิน  ไพรัช บูรพชัยศรี  รับบทหันเซียนจื่อ ยุพา วัฒนะกิจบวร  แสดงเป็นเหอเซียนกู  และธนูศักดิ์ พึ่งเดช สวมบท หลันไฉ่หัว

คุณหญิงณัฐิกาคาดหวังการแสดงงิ้ว 24 ยอดกตัญญู จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญเรื่องความกตัญญูกตเวที อันเป็นคุณธรรมที่แสดงถึงอารยะของประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความกตัญญูคือ เครื่องหมายของคนดี” และน้อมนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง  ได้รวมพลังสามัคคีประชานรวมใจกันจัดสร้างถาวรวัตถุเอกลักษณ์แห่งมังกร และสัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ทั้ง 2 จุด ได้แก่  ช่วงบริเวณศาลาเฉลิมกรุงถึงสะพานดำรงสถิต  และบริเวณห้าแยกหมอมี เสร็จสมบูรณ์ สมพระเกียรติ ทันเวลาภายในปีมังกรนี้ และเป็นสง่าราศีของถนนสายมังกร และเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ภายในงานนอกจากกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกและประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการ “สสธวท รวมใจ เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” นำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวง การแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย “24 ยอดกตัญญู” สุดยิ่งใหญ่ยกย่องเชิดชูความกตัญญูตามปรัญญาขงจื้อแล้ว ยังชวนชมการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตามแนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด” และนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของอุปรากรจีนภาคภาษาไทย  (งิ้วไทย)  รายละเอียดของเรื่อง 24 ยอดกตัญญู โดยเฉพาะเนื้อเรื่องย่อของอุปรากรจีนที่จัดแสดงภายใน และนิทรรศการเกี่ยวกับองค์กรภาคีร่วมจัดงาน

งานกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” ครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567  เวลา 18.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ลีลาศรื่นรมย์' เปิดฟลอร์ย้อนความทรงจำ

สภากาชาดไทย โดย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกาชาดประจําปี 2566 เหรัญญิกสภากาชาดไทย และประธานในพิธี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์ฯ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมการแผนกจัดการแสดงบนเวทีลีลาศสวนลุมพินี 

ประกาศรางวัลสุดยอดสตรีผู้นำธุรกิจอนุรักษ์โลก

สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิธี“ประกาศเกียรติคุณรางวัลสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประจำปี 2565”ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ