เสียงของ'ผู้หญิง' สู่ความเท่าเทียม

ผู้หญิงในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ  แต่ละคนมีบทบาทสำคัญในฐานะต่างๆ ของสังคม  ทั้งนักธุรกิจ  นักการเมือง นักกีฬา นักแสดง พิธีกร แพทย์ และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ  แต่ขณะเดียวกันในหลายครั้งที่บทบาทหรือคุณค่าของผู้หญิงถูกลดคุณค่า ได้รับการดูถูก เหยียดหยาม หรือเลวร้ายสุดโดนทำร้าย  ลดศักดิ์ศรีในฐานะความเป็นมนุษย์ 

รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบกว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42 ในปี 2563 เป็นความรุนแรงทางจิตใจสูงสุด  รองลงมาความรุนแรงทางร่างกาย  และความรุนแรงทางเพศ

ขณะที่ผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้เผชิญการถูกลิดรอนจำกัดสิทธิ ถูกมองเป็นเพียงไม้ประดับ ไร้ปากเสียง ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ที่น่าตกใจสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงในบ้านเราสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก  ทุกวันนี้ผู้หญิงพบความเหลื่อมล้ำในสังคมจากอคติทางเพศที่ฝังในระบบคิด ติดอยู่ในจารีต และการปฏิบัติในวัฒนธรรมจนส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิง ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ แม้กระทั่งอำนาจการตัดสินใจเรื่องส่วนตัวก็ไม่มี

มีความพยายามเปลี่ยนแปลง เฝ้าระวัง ช่วยกันเป็นปากเสียงและรับฟังเสียงของผู้หญิงผ่านโครงการ “HER AWARDS UNFPA THAILAND 2024 ประชากรหญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ” เพื่อรวบรวมเสียงของผู้หญิงให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ส่งต่อให้ องค์การสหประชาชาติ  ในวาระครบรอบ 30 ปี การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา ( ICPD) ขับเคลื่อนโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA THAILAND) , บูรพา และ นินจา เพอร์เฟคชั่น ล่าสุด โครงการสัญจรมาภาคกลาง กรุงเทพฯ ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในงาน มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาประเทศต่อไป

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  แม้สังคมกรุงเทพฯ เปิดกว้าง ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียม  แต่ยังเจอคำถามสถานะของผู้หญิงในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร   สิ่งนี้สะท้อนทุกซอกทุกมุมในกรุงเทพฯ  เมืองหลวงที่เจริญ  ยังมีผู้หญิงจำนวนมากเผชิญความรุนแรง หรือผู้หญิงต้องหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว ยังต้องดูแลครอบครัว  ในสังคมพูดถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ LGBTQ เยอะ แต่พอกลับมาถามผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสหรือยัง  คำตอบคือยัง โครงการเสียงจากประชากรหญิงฯ  สะท้อนแรงบันดาลใจจากผู้หญิง ทำให้เสียงเล็กเสียงน้อยกลายเป็นเสียงสำคัญ คาดหวังกิจกรรมต่างๆ จะกระตุ้นเปิดให้ผู้หญิงเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ

ด้าน โชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า  พม. มีความร่วมมือกับ UNFPA THAILAND ส่งเสริมผู้หญิงเข้าถึงสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ยุติความรุนแรงทางเพศ ขณะนี้ไทยพบวิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย เข้าสู่สังคมสูงวัย พม.ใช้นโยบาย 5×5 แก้วิกฤต เสริมพลังวัยแรงงาน รวมถึงแรงงานหญิงให้ตั้งตัว ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ส่งเสริมการมีงานทำ เพิ่มคุณภาพเด็กและเยาวชน สร้างพลังผู้สูงอายุ สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว พัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันเมื่อเผชิญวิกฤต ตนเชื่อมั่น ผู้หญิงทรงพลัง พร้อมส่งต่อพลังและเสียงของผู้หญิง สร้างความเสมอภาคในสังคมไทย

เสียงในงานนี้จะไปเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาประชากรหญิง  ดวงกมล พรชำนิ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ UNFPA THAILAND กล่าวว่า สังคมไทยจำเป็นต้องทำให้เสียงของผู้หญิงเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกเสียงของผู้หญิงดังชัดขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกริดรอนสิทธิ ไม่เฉพาะ3 จังหวัดชายแดนใต้  แม้แต่ในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวต่างๆ มีกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิง  ตะโกนเสียงดังเท่าไหร่ก็ไม่มีใครได้ยิน  Voice of her ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของประชากร

 ทั้งนี้ จะมอบรางวัลให้กับบุคคลหรือองค์กร จากหลากสาขาอาชีพทั่วประเทศ 110 คน ที่ทำคุณประโยชน์เพื่อการพัฒนาประชากร ทุกเพศ ทุกวัย โดยจะประกาศผู้ได้รับรางวัล ในวันที่ 18 ก.ย. 2567 และเตรียมจัดคอนเสิร์ต “HER CONCERT” รวม 7 ตัวแม่วงการเพลง  คริสติน่า อากีล่าร์, แอม เสาวลักษณ์, โบ สุนิตา, ทาทา ยัง, ดา เอ็นโดรฟิน, แก้ม วิชญาณี และเบน ชลาทิศ ผสานกับเสียงดนตรีจาก Kasetsart University Wind Symphony   วันที่ 22 ก.ย.นี้

อีกไฮไลต์ของกิจกรรมสัญจรกรุงเทพฯ รวบรวมผู้หญิงจากทุกแวดวงมาส่งเสียงในวงเสวนา Voice of her เสียงจากประชากรหญิง สู่พลังการพัฒนาประชากรไทย สะท้อนปัญหาและปลุกพลังผู้หญิง  บุญธิดา ชินวงษ์ บิวตี้บล็อกเกอร์โด่งดังมาจากการใช้เท้าแต่งหน้า หนึ่งใน Presenter ของโครงการ Her Awards UNFPA , Thailand 2024  แม้เกิดมาไม่มีแขน2 ข้าง แต่เธอไม่เคยมองว่าแตกต่าง

บุญธิดา เล่าประสบการณ์การใช้ความพิการเพื่อสร้างการยอมรับให้กับสังคมว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีฐานและพิการตั้งแต่กำเนิด  มีคนบอกให้พ่อแม่เอาลูกไปทิ้ง โดนลดคุณค่าโตมาอาจท้องหรือสร้างภาระให้ครอบครัว แต่พ่อแม่เชื่อมั่นจะสามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ  แต่ตนก็เติบโตมาพร้อมชายมีสิทธิมากกว่าหญิง ตอนก้าวสู่การเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ มีคนพูดดังแล้วพิการ ไม่ดังดีกว่า  โดนกดจากสภาพร่างกาย โดนบูลลี่จนคิดอยากฆ่าตัวตาย  แต่ก็ผ่านมาได้ ซึ่งความแข็งแกร่งทางจิตใจสำคัญ  จัดการความคิดความรู้สึกตัวเอง โฟกัสสิ่งที่ตัวเองทำ

“ ปัญหาสังคมไทยไม่สนับสนุบคนพิการทำงานมากนัก  คนพิการ 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในวัยทำงานราว 850,000 คน แม้มีศักยภาพและความสามารถเพียงพอจะทำงาน แต่เป็นผู้ว่างงานถึง 81,500 คน คนพิการกลุ่มนี้ขาดโอกาส ขาดแสง ตัวเองโชคดีที่หัวรั้น ไม่รอโอกาสจากสังคม เลือกเปิดโอกาสให้ตัวเอง  ทำให้มีแสงสว่าง นี่คือ คุณค่าของชีวิต ยังมีผู้หญิงและคนพิการอีกมาก ที่ต้องการการหนุนเสริมเพื่อค้นหาศักยภาพตัวเองให้เจอ พวกเขาอยากให้ชีวิตปกติ มีบทบาทในสังคมเหมือนคนทั่วไป “ บิวตี้บล็อกเกอร์สาว กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ส่วน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว ตัวแทนของสื่อมวลชนที่เห็นโลกของประชากรหญิงในหลากหลายมิติ, วทันยา บุนนาค  หรือที่รู้จักในชื่อ”มาเดามเดียร์” นักการเมืองหญิงที่ทำงานหลายบทบาท, จันทร์นภา สายสมร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด บอสหญิงแห่งธุรกิจฟิล์มกรองแสง,นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย , โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดงและผู้กำกับอิสระชื่อดัง บอกเล่าประสบการณ์การเป็นผู้หญิงยังถูกด้อยค่า มองที่รูปร่างหน้าตามากกว่าสติปัญญา  ได้รับโอกาสไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย และขอร่วมผลักดันให้ผู้หญิงด้วยกันได้แสดงคิด ความสามารถ และมีพื้นที่แสดงพลังมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำแผนรับมือจุดเสี่ยงน้ำท่วมอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

11 ส.ค.2567 - น.ส.สุดาวรรณ หวังศุกภิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยยังพื้นที่โบราณสถานริมแม่น้ำ

เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลพระพันปีหลวง

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสิงห์บุรี จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล และจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยทำความสะอาดบริเวณลานวัด อุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญ และปลูกต้นไม้ผลและไม้ประ

ช่างไทยสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 องค์ใหม่  ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ รับผิดชอบจัดสร้าง  โดยจะมีขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง