'โลกร้อน-โลกเดือด'กระทบผลผลิตกาแฟลดฮวบเนสท์เล่ชู'เกษตรยั่งยืน'ช่วยเกษตรกรรับมือ

สุดใจ คำยอด

ผลผลิตเมล็ดกาแฟในประเทศไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตลดลงไปจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์พืชกาแฟทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตเมล็ดกาแฟอาจลดลงถึง 50% ภายในปี พ.ศ. 2593  การพยายามพยุงผลผลิตเมล็ดกาแฟไม่ให้ลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีขึ้น และการขับเคลื่อนการเกษตรเชิงฟื้นฟูเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ  ด้วยเหตุนี้ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จึงได้มีแนวทางการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Sustainable Future for Thai Coffee Industry with NESCAFÉ” ผ่านการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนเกษตรเชิงฟื้นฟู ส่งเสริมผลผลิตในวงการกาแฟไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

โจโจ้ เดลา ครูซ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตเมล็ดกาแฟในประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันกับพืชเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการของเมล็ดกาแฟเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาพรวมผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลกมีปริมาณที่ลดลงโดยมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลกจะลดลง 50% ในปี 2050 จึงทำให้การขับเคลื่อนเกษตรเชิงฟื้นฟู(Regenerative Agriculture) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตเมล็ดกาแฟ  จึงได้มีการจัดทำโครงการ เนสกาแฟ แพลน 2030 ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลกของเนสกาแฟ การเกษตรเชิงฟื้นฟูจะช่วยให้เกษตรกรพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ รวมทั้งปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ

โจโจ้ เดลา ครูซ

โจโจ้  กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนการเกษตรเชิงฟื้นฟูทำให้เนสกาแฟเป็นแบรนด์ที่มีการปลูกและจัดหาเมล็ดกาแฟอย่างยั่งยืน (Responsible Sourcing) 100% ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 4C (Common Code for the Coffee Community) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ในระดับโลก เพื่อการันตีว่าเมล็ดกาแฟของเราปลูกขึ้นตามมาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับโลก ทำให้เราสามารถนำเสนอกาแฟคุณภาพสู่ผู้บริโภคชาวไทย นอกจากนี้ เนสกาแฟยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าโดยตรงจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม โดยอิงจากราคากาแฟในตลาดโลก เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและสร้างความเชื่อมั่นว่าผลผลิตของพวกเขาจะมีตลาดรับซื้อที่ไว้วางใจได้

เส้นทางสร้างกาแฟอย่างยั่งยืน ทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ได้มุ่งมั่นทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการเกษตรของเนสท์เล่กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดกาแฟมีคุณภาพ ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และเป็นการสร้างความยั่งยืนด้วยกลไกการเกษตรเชิงฟื้นฟู ซึ่งมีหลักการเพียงการปกป้อง ทดแทน ฟื้นฟู เพราะภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟของประเทศลดลงอย่างมากเช่นกัน ซึ่งความต้องการในตลาดเมล็ดกาแฟทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สูงกว่ากำลังการผลิตที่จะผลิตได้ ทำให้ราคามีการปรับสูงขึ้น

ทาธฤษ กุณาศล

“ส่วนในไทยความต้องการเมล็ดกาแฟเทียบกับช่วง 10 ปีที่แล้ว ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร รายงานว่า เมล็ดโรบัสต้าผลิตได้ 30,000 ตัน แต่ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 5,800 ตัน ดังนั้นส่วนหนึ่งในการผลิตกาแฟจึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟเกิน 50% จากต่างประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการธุรกิจ”  

ทาธฤษ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรมีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก อย่าง ดิน เหลือความอุดมสมบูรณ์เพียง 1 ใน 3 ที่เหมาะสมกับการเกษตรในไทย สะท้อนให้เห็นว่าดิน 2 ใน 3 มีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ โดยภาพรวมความต้องการในอุตสาหกรรมกาแฟเฉพาะโรบัสต้าประมาณ 60,000 ตันต่อปี และอาราบิก้าประมาณ 10,000 ตันปี ดังนั้นในความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำเกษตรเชิงฟื้นฟู ที่ช่วยลดคาร์บอน การปกป้องแหล่งน้ำ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลผลิตที่สม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรและภาคธุรกิจ เพื่อให้ทรัพยากรกลับมามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

การขับเคลื่อนเกษตรเชิงฟื้นฟูผ่านการทำโครงการ เนสกาแฟ แพลน 2030  ตามหลักการที่ใช้ในโครงการนี้ คือ การปลูกกาแฟร่วมกับป่า เพราะต้นกาแฟสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาในพื้นที่ป่า ซึ่งช่วยลดการกัดเซาะของน้ำ ลดการพังทลายของหน้าดิน โดยการปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วร่วมในสวนกาแฟ เพื่อเป็นการทดแทนผลผลิตของกาแฟในระหว่างที่รอออกผลในช่วง 2-3 ปีแรก นอกจากนี้ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จากการหมักเศษวัสดุในสวน ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกต้อง หมายความว่า นักวิชาการเกษตรจะมีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อแนะนำการใส่ปุ๋ยเคมีอย่างพอดีและเหมาะสม

“ในทุกปียังมีการอบรมเกษตรกรเชิงฟื้นฟูปีละ 2,000 คนร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย หรือ GIZ ในการจัดทำหลักสูตร Farmer Business School ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีแนวคิดของผู้ประกอบการเกษตรกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกรมีการวางแผน บริหารจัดการ และปลูกกาแฟตามหลักความยั่งยืน ในช่วงปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 รายได้ของเกษตรเพิ่มขึ้น 88% เป็นรายได้ครัวเรือน ซึ่งในพื้นที่เกษตรภาคใต้ในจ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการส่งผลผลิตเมล็ดกาแฟให้ในปี 2566 แม้ว่าจะประสบปัญหาแล้งมาก แต่ก็มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า “

นอกจากนี้ จากการทำเกษตรเชิงฟื้นฟู และมีพื้นที่ใหม่ในภาคอื่นๆ ที่ได้เข้าไปส่งเสริมด้านเกษตร เช่น จ.เลย จ.น่าน จ.กาญจนบุรี จ.ตาก นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดี R2017-1 และ R 2017-2  โดยให้ผลผลิตดี ทนแล้ง ต้านทานโรค เมล็ดใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรในโครงการนำไปปลูกราวๆ 3,000 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดหลักที่มีการส่งเมล็ดกาแฟ

สวนกาแฟผสมผสานการปลูกพืชชนิดอื่นๆของสุดใจ คำยอด

ด้านสุดใจ คำยอด เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร กล่าวว่า มีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 40 ไร่ และยึดการปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปี ในช่วงปี 2528 เคยท้อแท้จากผลผลิตที่น้อยลงและไม่ได้คุณภาพ จนในปี 2556 ทางเนสท์เล่ได้ส่งนักวิชาการเกษตรมาช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกกาแฟแทบจะทุกด้าน รวมทั้งหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู จนผลผลิตกลับมาดีขึ้น และตอนนี้โลกร้อนขึ้น อากาศร้อนมาก แล้งด้วย น้ำไม่พอใช้ กาแฟได้น้ำไม่พอ ทำให้สัดส่วนผลผลิตที่จะได้เพิ่มขึ้นมีปริมาณลดลง แต่สวนของเราใช้แนวทางเกษตรเชิงฟื้นฟูทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอื่น ๆ โดยการใช้เทคนิคการเสียบยอดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่า ส่วนต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดีก็ให้ผลผลิตที่ดี เมล็ดใหญ่ และทนแล้ง รวมทั้งยังมาช่วยวิเคราะห์สภาพดิน เพื่อใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม และการปลูกผสมผสาน เพื่อให้ได้ผลผลิตนอกจากเมล็ดกาแฟในระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่หันมาสนใจและเข้ามาเรียนรู้การเกษตรมากขึ้น .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมืองรับมือโลกเดือดไหวหรือไม่ เช็กความพร้อมชุมชน

งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม

'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' ตอกย้ำ โลกร้อนทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ โลกร้อนทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น มีเนื้อหาดังนี้

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไขปริศนา โลกร้อนขึ้น โอกาสเครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า โลกร้อนขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น..เพราะอะไ?