ย้อนเวลาท่องอารยธรรมทวารวดี ที่พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง

ธรรมจักร พร้อมแท่นและเสา ที่มีการนำมาประกอบเสมือนของจริง

“สุพรรณบุรี”เป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ขับรถแค่ชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงแล้ว  สมัยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ก็มักจะพูดถึงเมืองสุพรรณบุรีบ่อยครั้ง  ในวิกิพีเดีย ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับสุพรรณบุรีว่า  เป็นเมืองโบราณ มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี และศรีวิชัย สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อว่า ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ พันธุมบุรี  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบ บริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง

กลับมาที่ปัจจุบัน สุพรรณบุรี  เป็นอีกจังหวัดที่น่าไปเที่ยวมากๆ หลายคนอาจจะเคยไป อุทยานมังกรสวรรค์ บึงฉวาก หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตลาดสามชุก อุทยานแห่งชาติพุเตย และวัดวาอารามที่งดงาม แต่”ของดี “ของสุพรรณ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น แต่จะบอกว่า “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง “ที่ตั้ง ณ อ.อู่ทอง จะทำให้เรารู้จักสุพรรณบุรีได้อีกยิ่งขึ้น เพราะเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณวัตถุได้จากการสำรวจและขุดค้นพบภายในเมืองโบราณอู่ทอง มาจัดแสดงไว้จำนวนมากมาย ซึ่งบอกได้เลยว่า คนไม่ชอบพิพิธภัณฑ์ อาจจะเปลี่ยนใจ ไม่รู้สึกเบื่อ เพราะที่นี่จะทำให้เรารู้จักรากเหง้าความเป็นไทยดียิ่งขึ้น และปิติภูมิใจ แบบไม่รู้ตัว  

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  อู่ทอง

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง อยู่ในระหว่างการปรับปรุง โดยกรมศิลปากรได้มีการปรับปรุงอาคารจัดแสดง ให้มีเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ที่น่าสนใจและมีการเพิ่มเติมข้อมูลการจัดแสดงโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นปัจจุบันเพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีมาตรฐานการจัดแสดงระดับสากล โดยแล้วเสร็จไปกว่า 80% สามารถเข้าชมได้ตามปกติ เหลือเพียงส่วนของอาคารจัดแสดง 2 ชั้น 2 ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้

ต้องยอมรับก่อนเลยว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้เคยมาพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้รูปแบบของอาคารยังคงโครงสร้างเดิม แต่มีการรีโนเวทส่วนของด้านในตัวอาคารให้มีความโปร่ง สบายตาด้วยสีขาวทั้งหลัง แบ่งเป็น 2 อาคาร มี 2 ชั้น มีการจัดแสดงรวมทั้งหมด 6 ห้อง  และมีห้องกั้นระหว่างอาคาร 2 หลัง สำหรับใช้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศหมุนเวียน  เริ่มต้นเข้าชมที่อาคาร 2 ชั้นล่าง จะเจอกับห้องที่ 1 ทวารวดี ปฐมบทแห่งประวัติศาสตร์ไทย จะมีการฉายวีดีทัศน์ที่มีตัวการ์ตูนนาคน่ารักๆ พาไปรู้จักกับเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี การรับอารยธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสาน และเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เป็นสมัยแรกของดินแดนไทย ในสมัยทวารวดี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12-14  และนับเป็นครั้งแรกที่เกิดการประดิษฐานพุทธศาสนาในดินแดนไทย และมีการนับถือสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เอกมุขลึงค์พร้อมฐานโยธี

หลังจากนี้จะเป็นส่วนในห้องของการจัดแสดงโบราณวัตถุทั้งหมดที่มีจำนวนเยอะมาก ดังนั้นในแต่ละห้องเราจะพาไปรู้จักชิ้นไฮไลท์กัน ถัดมาจากห้องแรกเข้ามาสู่ห้องที่2 เมืองโบราณอู่ทอง:ศูนย์กลางแรกเริ่มของวัฒนธรรมทวารวดี จุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่ได้รวมโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคกึ่งก่อนประวัติ จนกระทั่งเข้าสู่สมัยทวารวดี ห้องนี้ทำให้เราเข้าใจช่วงเวลาของชาวต่างชาติที่เข้ามายังพื้นที่ในเมืองอู่ทอง ด้วยผังไทมไลน์แต่ละยุคสมัยของการแพร่อิทธิพลของชาวต่างชาติ ที่จัดแสดงโบราณวัตถุจะแบ่งเป็นแถบสี ประกอบด้วยสีชมพูในสมัยโรมัน หลักฐานที่พบเหรียญโรมันจักรพรรดิวิคโตรินุส, สีฟ้าสมัยเปอร์เซีย หลักฐานชิ้นเด่นคือ  ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยที่เป็นประติมากรรมปูน ซึ่งตอนนำเข้ามาอาจจะมีการแตกเสียหาย จึงได้มีการนำไปประดับโบราณสถานสมัยทวารวดี อายุ 1,200 ปี, สีส้มสมัยอินเดีย ประติมากกรมปูนปั้นหน้าตาพ่อค้าชาวต่างชาติ  มีลักษระสวมหมวกทรงกระบอกปลายแหลม และมีตาโต จมูกโด่ง, สีแดงสมัยจีน หลักฐานที่พบ  เครื่องถ้วยจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง อายุ 1,200 ปี, สีเขียวสมัยอาระเบีย หลักฐานที่ค้นพบเป็นเหรียญอาหรับ ซึ่งมีข้อความจารึกเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

จารึกอักษรปัลลวะคำว่า ปุษยคิรี

อีกชิ้นที่มีความสำคัญคือ จารึกอักษรปัลลวะคำว่า ปุษยคิรี แปลว่าภูเขาดอกไม้ เป็นตัวอย่างอักษรรุ่นแรกที่รับอิทธิพลมาจากอินเดียและนำมาใช้ในไทย และแผนที่จำลองผังเมืองโบราณอู่ทอง ที่ใช้เทคนิคพิเศษ ทำให้เราเข้าใจจุดที่พบโบราณวัตถุมากยิ่งขึ้น

อิฐฤกษ์ 4 ก้อน ศิลปะทวารงดี พร้อมเชิงชายเจดีย์สมัยอยุธยา

มาถึงห้องที่ 3 เมืองโบราณอู่ทอง : ศูนย์กลางแรกเริ่มของวัฒนธรรมทวารวดี จุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในดินแดนสุวรรณภูมิ จะเป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่สมัสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองอู่ทองในปี พ.ศ. 2446  ต่อเนื่องมาจนถึงกรมศิลปากรในปัจจุบัน สำหรับห้องนี้เรียกได้ว่ามีแต่โบราณวัตถุที่น่าสนใจ อย่าง ไห 3 ใบที่บรรจุพระพิมพ์จำนวน 139 องค์ อยู่บนภูเขา  พบในโบราณสถานหมายเลข 2  ซึ่งที่จัดแสดงในห้องนี้เป็นใบที่ 3 ที่สมบูรณ์ที่สุด และยังมีการจำลองการขุดค้นพบธรรมจักรพร้อมแท่นและเสา ในโบราณสถานหมายเลข 11 โดยวางอยู่ในบริเวณเดียวกัน นับว่าเป็นการค้นพบที่สมบูรณ์เพียงแห่งเดียวในไทย ต่อมาที่โบราณวัตถุที่พบในโบราณสถานหลายเลข 1

เป็นก้อนอิฐ 4 ก้อน สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ก่อนก่อสร้างศาสนสถานเพราะมีลวดลายบนอิฐแตกต่างจากอิฐทั่วไป และกระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา  สันนิษฐานได้ว่าเริ่มมีคนมาประกอบกิจกรรมทางศาสนาในศาสนสถานแห่งนี้แล้ว ที่โบราณสถานคอกช้างดิน ก็พบพบเหรียญโลหะรูปสังข์ ที่ไม่ได้ใช้ในการค้าแต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นไว้ใช้ในการทำพิธีกรรม เป็นต้น

เหรียญโรมันจักรพรรดิวิคโตรินุส

เดินต่อมายังอาคาร 1 ชั้นล่างห้องที่ 4 เจดีย์ วิหาร โบราณสถานทวารวดี : สถาปัตยกรรมแห่งศรัทธา ปฐมบทของพุทธศาสนาในดินแดนไทย เป็นห้องไฮไลท์เพราะได้มีการทุบชั้น 2 ส่วนหนึ่งเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่ในการติดตั้งธรรมจักร พร้อมแท่นและเสาของจริง ในลักษณะโชว์เดือยยึดโบราณวัตถุด้วยเหล็กติดผนังทำให้เห็นองค์ประกอบและความสูงกว่า 440 ซ.ม. เมื่อตั้งเสาธรรมจักรขึ้น ซึ่งมีความสูงสง่าสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญในการเผยแพร่พุทธศาสนาในอดีต หากขึ้นไปบนชั้น 2 จะยิ่งเห็นลวดลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่ได้อิทธิพลมาจากอินเดีย ประดับอยู่บนธรรมจักรอย่างชัดเจน พร้อมทั้งฉายภาพวิดีทัศน์เรื่องราวการขุดค้นและการประกอบธรรมจักร โดยโบราณวัตถุชิ้นนี้ทางญี่ปุ่นเคยขอนำไปจัดแสดงและพยายามที่จะประกอบธรรมจักร พร้อมแท่นและเสาแต่ก็ไม่สามารถทำได้ มีการสันนิษฐานว่าอาจจะยังสลักธรรมจักรไม่เสร็จ หรือต้องมีชิ้นส่วนอีกชิ้นที่อยู่บนปลายเสา เพื่อยึดองค์ธรรมจักรเอาไว้

นาค ประติมากรรมสุดน่ารักในพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง

ภายในห้องนี้ยังมีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นคนแคระ สัตว์ต่างๆ ที่ประดับอยู่ในศาสนสถาน โบราณวัตถุที่สะดุดตามีใบหน้าเหมือนคน กุฑุ มีทรงผมแบบชฎาภาร ม้วนเป็นลอนๆ  ที่มีอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเป็นสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ประดับอยู่บริเวณช่องหน้าตาของวิหาร สะท้อนถึงฐานะของคนชั้นสูง ที่หลากชิ้นเลย

ส่วนห้องที่ 5 ลูกปัดและเครื่องประดับทองคำ : วัตถุล้ำค่า ความงามที่สะท้อนความรุ่งเรืองของเมืองโบราณอู่ทอง ห้องนี้เต็มไปด้วยความสวยงามของเครื่อประดับลูกปัดที่นิยมอย่างมากในสมัยอู่ทองที่เป็นทั้งเครื่องประดับ ร่องรอยการค้า ซึ่งในห้องนี้จะมีการจัดแสดงลูกปัดที่มีการนำร้อนใหม่ทั้งหมดตามชั้นดินที่พบ  เพราะตอนที่พบไม่ได้อยู่ในสภาพเป็นสร้อยสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากอินเดีย ลูกปัดแก้ว ที่พบเยอะมากในอู่ทอง และลูกปัดจากจีน นอกจากยังมีเครื่องทองที่ทำเป็นสร้อย ตุ้มหู แหลวน ต่างๆ

ภายในห้องจัดแสดงสถาปัตยกรรมทวารวดี

ขึ้นมาบนชั้นที่ 2 ห้องที่ 6 ศาสนาและความเชื่อ : จากพุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ อรุณรุ่งแห่งยุคประวัติศาสตร์ไทย ห้องนี้จะเป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธ พราหมณ์-ฮินดู รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต โบราณวัตถุที่น่าสนใจคือ เหรียญเงินจารึก คำว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณย เป็นภาษาสันสฤต 2 บรรทัด แปลว่า การบุณย์แห่งพระเจ้าศรีทวารวดี ซึ่งตัวเหรียญจริงเล็กมาก ต้องเพ่งมองดีๆ ถัดมาเป็นตู้การจัดแสดงประติมากรรมตุ๊กตาคนที่เหลือเพียงตัวหรือหัว ที่อาจจะสันนิษฐานว่าเป็นตุ๊กตาเสียกบาล หรือนำไปถวายศาสนสถานต่างๆ และยังมีประติมากรรมสัตว์ที่น่ารักมาก ซึ่งใช้เป็นจุกภาชนะ โดยเฉพาะนาค ตัวน้อยที่เคยไปจัดแสดงที่พิพิธสถานแห่งชาติ พระนคร และเป็นสัตว์ที่นำไปทำเป็นโลโก้ของที่นี่อีกด้วย ยังมีการจัดแสดงไหใบที่ 1-2 ที่เป็นเซ็ตเดียวกับในห้องที่ 3 ไฮไลท์ในห้องนี้คือ เอกมุขลึงค์พร้อมฐานโยธี ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระศิวะประดับอยู่ ในประเทศอินเดียมีการค้นพบที่มีพระพักตร์พระศิวะทั้ง 4 หน้า และยังมีตู้จัดแสดงเหรียญหรือตราประทับที่มีการสลักรูปต่างๆ ไว้จำนวนมาก

กุฑุ ประติมากรรมหน้าคน
ประติมากรรมคน สันนิษฐานว่าเป็นตุ๊กตาเสียกบาล

โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง ยังมีอีกจำนวนมากที่เรากล่าวถึงไม่หมด แต่นับรองว่าคุ้มค่าแก่การมาชมให้ได้สักครั้ง ซึ่งหากมีการสร้างห้องจัดแสดงบนชั้น 2 อาคาร 2 ที่จะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวการค้าทางเรือเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้ ไม่พลาดที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำอย่างแน่นอน สำหรับใครที่สนใจมาพิพิธภัณฑ์ฯ จะเปิดให้บริการวันพุธ – อาทิตย์ วันหยุดราชการพิเศษและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 16.00 น.

แผนที่จำลองแสดงผังเมืองอู่ทอง
สร้อยคอทองคำ ในสมัยอู่ทอง
เครื่องประดับลูกปัด เอกลักษณ์เมืองอู่ทอง
นักท่องเที่ยวชมเหรียญและตราประทับใช้ในการค้าขาย สมัยอู่ทอง
ตราประทับรูปสัตว์ต่างๆ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จบดรามา! อารยธรรมทวารวดี 'พ่อทุกสถาบัน'

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ทราบว่าใครเขียนนะครับ