ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมสาขาต่างๆ ของประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2567 ปีล่าสุด หลายสาขามีความน่าวิตก ตั้งแต่การปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การตกค้างสารเคมีทางการเกษตรในดิน มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 การชะล้างพังทลายของดินในระดับรุนแรงถึงรุนแรงมากมีแนมโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรม
ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 31.46 ของพื้นที่ประเทศค่อนข้างคงที่จากปี 65 แต่สถานการณ์ไฟป่ายังคงเป็นที่น่ากังวล สำหรับประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีภัยคุกคามสำคัญจากการซื้อขายสัตว์ป่า ไม่นับปัญหาช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ส่วนปริมาณฝนเฉลี่ยทั่วประเทศต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยคาบ 30 ปี และปริมาณฝนลดลง น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลาง ลดลง ปริมาณการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น
ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงในบางพื้นที่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากรวม 761 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเต่าทะเล ตายจากขยะทะเล ป่วย เครื่องมือประมง และอุบัติเหตุเรือ สำหรับขยะตกค้างในระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอันดับหนึ่งเป็นถุงพลาสติก หลอด และขวดเครื่องดื่มพลาสติก ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ พบนกอพยพและนกประจำถิ่นในไทย 171 ชนิด อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม
สำหรับมลพิษอากาศปี 66 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศเกินมาตรฐาน มลพิษทางเสียงภาพรวมเกินค่ามาตรฐาน สาเหตุหลักจากการจราจรหนาแน่นในเขตเมือง ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมส่วนใหญ่อยู่ภาคกลาง คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินโดยรวมแย่ลงเล็กน้อย ส่วนอ่าวไทยตอนในมีคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งเสื่อมโทรม
ด้านขยะมูลฝอยปีที่ผ่านมา มีปริมาณ 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 65 ร้อยละ 4.86 ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พบขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 3 ล้านตัน ของขยะที่เกิดขึ้น มีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เทศบาลนคร พบต่ำกว่าเป้าหมายของประเทศ ที่กำหนดไว้ 10 ตารางเมตรต่อตน
ร่างรายงานยังฉายภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ด้านอุณหภูมิพบมีค่าเฉลี่ยทั้งปี 28.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าปกติ 1.2 องศาเซลเซียส มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติก และลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10 ส่วนภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในไทย 73 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินถล่ม
แต่บางสาขาสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานลดลงร้อยละ 24 ส่วนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้น พบการวางไข่เต่าทะเลเพิ่มขึ้น พบชนิดพันธุ์ใหม่ ทั้งพืช สัตว์และจุลินทรีย์ ส่วนคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินส่วนใหญ่มีคุณภาพดี คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งส่วนใหญ่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา มูลฝอยติดเชื้อลดลงเช่นเดียวกับการนำเข้าวัตถุอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมลดลง
การจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการบริหารจัดการ เตรียมพร้อมรับมือ จะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ เหตุนี้ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามลำดับต่อไป โดยนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. เป็นประธาน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ร่างรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ได้นำเสนอข้อมูลด้านปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งปัจจัยที่มาจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภาวะทางสังคมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายของประเทศ ทำให้เกิดปัจจัยกดดันที่เป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ นำไปสู่ผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ
ส่วนท้ายของร่างรายงานฯ ผอ.TEI กล่าวว่า นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ทั้งการขยายตัวการใช้ดินของพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างจากการขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน การใช้พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น จากนโยบายส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ การสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตร การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าที่คาดการณ์ได้ยากขึ้น ปะการังและหญ้าทะเลมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้น จะส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ และปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากท่องเที่ยวฟื้นตัว และการจัดการขยะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
ภายในงานจัดเวทีเสวนามองอนาคตสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยผ่านปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ในอนาคตทั้งโลก ไม่แล้งสุดขีดก็ท่วมสุดขั้ว ทุกๆ จุดทศนิยมที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นส่งผลให้สภาพอากาศรุนแรง IPCC คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศา ในปี 2033 เทคโนโลยีปัจจุบันมีขีดจำกัดในการคาดการณ์สภาพอากาศรุนแรง ฉะนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ ปริมาณฝน สำคัญที่สุด และต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการนำไปใช้
“ ขณะนี้ประเทศไทยมีความสับสนใช้ข้อมูลและโมเดลจากรายงาน IPCC มาทำนายสภาพอากาศระยะสั้น ซึ่งไม่เหมาะสม จะมีความคลาดเคลื่อนจะนำมาสู่ความเสี่ยง ปี 2567 ผลผลิตภาคเกษตรกรรมกระทบรุนแรง ครึ่งปีแรกฝนไม่ดี น้ำกินน้ำใช้ขาดแคลน เข้าสู่ครึ่งปีหลังฝนเริ่มมา อย่างล่าสุดฝนถล่มภูเก็ต หนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี วัดปริมาณฝนสะสม 6 ชั่วโมง สูงถึง 333 มิลลิเมตร ทำให้น้ำไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่เราสามารถสร้างฉากทัศน์ได้ รวมถึงสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง กระจายอำนาจ กระจายองค์ความรู้ ให้งบประมาณ ขณะนี้ผู้ประกอบการกว่า 70% ตระหนักภัยพิบัติ มีการประเมินความเสี่ยง เพื่อลดความสูญเสียทางธุรกิจทางระบบขนส่ง ร่างรายงานฉบับนี้ต้องอัพเดทร่างรายงาน PDP2024 ด้วย อีกทั้งแนะนำให้มีการเรียบเรียงและสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน รวมถึงจะไปต่ออย่างไรหลังจากคลอดรายงานฉบับนี้ “ รศ.ดร.เสรี ระบุ
ด้าน รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ จำนวนประชากรในไทยเป็นประเด็นสำคัญ จากการประมาณการณ์ ปี 2567 ประชากรยังเพิ่ม แต่ 3 ปีที่ผ่านมา เกิดน้อยกว่าตาย ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ องค์ประกอบประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาแรงงานข้ามชาติ ประชากรแฝง ช่วงโควิดการเคลื่อนย้ายประชากรสูง อีกทั้งประชากรในมิติต่างๆ การกระจายตัวประชากรในแต่ละพื้นที่ ปีนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งเร็วกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว 5 ปีที่แล้ว ประชากรไทยเกิดกว่าล้านคนต่อปี ปี66 เกิด5 แสนกว่าคน ต่างประเทศศึกษาจำนวนประชากรที่เหมาะสมกับประเทศไทย 40.7 ล้านคน ปัจจุบันมี 60 กว่าล้าน ฉะนั้น การเปลี่ยนสู่สังคมสูงวัย การบริโภค การเดินทางเปลี่ยนไป มีเด็กเกิดน้อยลง โสดมากขึ้น คู่สมรสอยู่แบบไม่มีลูกเพิ่มขึ้น ไลฟ์สไตลเปลี่ยนไป
ผอ.สถาบันฯ ระบุมีการศึกษาพบครัวเรือนขนาดเล็ก แต่การบริโภคและการใช้พลังงานมากกว่าครัวเรือนขนาดใหญ่ ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือนสามีภรรยาเท่านั้น จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก คนไทยอาจเหลือเพียง 32 ล้านคน ภายในสิ้นศตตวรรษนี้ รายงานควรมีข้อเสนอแนะให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ระเบียบ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เห็นความร่วมมือ ความก้าวหน้า รวมถึงเพิ่มเติมเรื่องโครงสร้างประชากรด้วย การปรับปรุงจะช่วยให้รายงานชัดเจนมากขึ้น
ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผังเมือง กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเมืองในแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกันเลย เหนือเผชิญฝุ่นพิษ ภาคใต้เสี่ยงภัยพิบัติ เทศบาลพันกว่าแห่งแทบไม่ขยับเชิงประชากร อีก 30% กำลังจะตาย เป็นเมืองที่ธุรกิจปิดตัวลง ตึกแถวร้าง เมืองโตจริงมีแค่ 10% เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ส่วน กทม. พื้นที่สีเขียวสาธารณะน้อย ขณะที่ จ.นนทบุรี สูญเสียพื้นที่สีเขียวสูงมาก ซึ่งเป็นที่รองรับน้ำ ราคาที่ดินเมืองใหญ่แพงมาก ส่งผลต้องขยายลงพื้นที่สาธารณะ ไม่เว้นทางน้ำ รุกระบบนิเวศ ขณะเดียวกันพื้นที่เกษตรชานเมือง พื้นที่หน่วงน้ำนับแสนไร่ หายไปแทนที่ด้วยบ้านจัดสรร ปทุมธานี นครนายก ผู้ถือครองที่ดินคือกลุ่มนายทุน อีกความกังวลพื้นที่ริมคลองในเขตปริมณฑล อนาคตหายหมด ร่างรายงานฉบับนี้จะมีข้อเสนอแนะไปในทิศทางใด รวมถึงคนเมืองกำลังรุกป่า ทำป่าให้เป็นเมืองรุกล้ำเบียดเบียนอาณาเขตระบบนิเวศ
อย่างกรณีเมืองพัทยา เทศบาลไม่เก็บพื้นที่สีเขียว เน้นพัฒนา เพราะที่ดินมูลค่ามหาศาล จนเกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา อีกหลายเมืองกำลังจะเจอน้ำท่วม นครปฐม เชียงใหม่ ชลบุรี ระยองฯลฯ ผลจากการขยายเมืองโดยไม่ได้ศึกษาสภาพภูมิประเทศ เมืองใหญ่ที่ขยายตัวเกินขีดจำกัดการพัฒนา น้ำท่วมทุกเมือง ต้องรับกรรมไป เมืองยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้ยากขึ้น อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต เกิดปัญหาเมืองขวางทางน้ำ เมืองท่องเที่ยวเกิดประชากรแฝง เพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เมืองที่แก้ยาก คนเมืองบริโภคแหลก ขยะมากขึ้นตาม ขยะในกรุงเทพฯ มากกว่าวันละหมื่นตัน ขนไปทิ้งไกลๆ มีภูเขาขยะเกิดที่พนมสารคาม กำแพงแสน
“ ปัญหาของเมืองถูกกระหน่ำซ้ำด้วยสภาพอากาศเปลี่ยรแปลง ความเสี่ยงน้ำท่วมเมืองขั้นวิกฤต ถ้าพายุขนาดใหญ่เข้าอ่าวไทยตอนบน เขื่อนขนาดใหญ่จต้นน้ำ ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมภาคกลางได้ รอดยาก อย่าประมาท จะเป็นบทเรียนราคาแพง ผลกระทบด้านต่างๆ รุนแรงขึ้นและมากขึ้น เมืองจะเสียหายมากที่สุด บางคนบอกว่า ไม่เกี่ยวกับไทย แต่ปัญหารุนแรงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ความจริงที่สังคมไทยไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ปัจจุบันมีไม่กี่เมืองกำลังขยายใหญ่โต บางเมืองไม่ตาย แต่ไม่โต และบางเมืองกำลังจะตาย เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ สังคมเมืองอย่าปล่อยให้ประชากรโตเกิน40% ตอนนี้ 53% “ ดร.ธงชัย ย้ำอย่าประมาท และอย่าท้าทายกับพลังธรรมชาติและภัยพิบัติโลกร้อน ซึ่งร่างรายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายสาขาที่แนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร
ศูนย์อาหารถือเป็นสวรรค์ของนักกิน เพราะเป็นแหล่งรวมอาหารนานาประเภท บางแห่งมีร้านดัง สะดวกสบายเพราะจัดพื้นที่ให้นั่งรับประทาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีเมนูอร่อย จานด่วน ราคาสบายกระเป๋า ทำให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและผู้บริโภคจำนวนมาก
นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กองทุนภูมิอากาศไทย หนุนลดก๊าซ-ปรับตัวสู้โลกร้อน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการกองทุนสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2566
‘กรมโลกร้อน’คอนมานโดสู้’โลกรวน’
ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิร้อนขึ้น การเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ รวมถึงไฟป่าตามมา หรื
กางแผนผลักดัน OECMs ตามเป้า 30X30 ป้องกันพืช-สัตว์ สูญพันธุ์
เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 “From Agreement to Action : Build Back Biodiversity “ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดวงเสวนาหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย”
ต้านการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย‘Big Data’
แม้จะมีข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วยพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน พิกัดสิ่งมีชีวิต จำนวน 1.2 แสนรายการ บนระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร