
เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 นี้
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบกรมศิลปากร ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากมีวาระประชุมเพื่อรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยคาดว่าจะนำเข้าพิจารณา ในวันที่ 26 หรือ 27 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้ รมว.วธ.มั่นใจจากศักยภาพภูพระบาท และการเตรียมข้อมูลที่สมบูรณ์ของคณะทำงานในการนำเสนอ เชื่อมั่นว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน จะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งทางกรมศิลปากรจะถ่ายทอดบรรยากาศส่งตรงจากสาธารณรัฐอินเดีย และจัดการแถลงผลการประกาศ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ได้ร่วมลุ้นไปพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านทาง facebook live: กรมศิลปากร
โอกาสนี้ รมว.ปุ๋ง เชิญชวนชาวไทยร่วมส่งกำลังใจช่วยเชียร์ให้ภูพระบาทได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก อันจะทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงและเป็นเกียรติภูมิที่สำคัญบนเวทีโลกต่อไป รวมถึงส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นำเสนอเกี่ยวกับความผลักดันแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ขึ้นแท่นมรดกโลก โดยอุทยานฯ ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแบบต่อเนื่องจำนวนสองแหล่ง ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบีบนมรดกโลกจำนวน 3,622 ไร่ 89 ตารางวา อุทยานฯ ภูพระบาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ออกมาประมาณ 12 กิโลเมตร ส่วนแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานฯ ภูพระบาท ห่างออกมาประมาณ 8 กม. ทั้งสองแหล่งโบราณคดีสำคัญนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าเขือน้ำ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน
ขอบเขตของแหล่งวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งนี้อยู่ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไชเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 แหล่งมรดกวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งแสดงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม โดยยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์ และความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี
อุทยานฯ ภูพระบาท มีแหล่งโบราณสถานสำคัญกระจายทั่วพื้นที่ อาทิ หอนางอุสา เป็นเสาเฉลียงรูปเห็ด ประกอบด้วยแกนหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายเสาหิน และมีก้อนหินเป็นแผ่นหนาขนาด ใหญ่ทับอยู่ด้านบน แกนหินสูง 10 เมตร ก้อนหินด้านบน กว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร แกนของเสาหินมีการก่อหินกั้นเป็นห้องไว้ส่วนบนของเสาที่อยู่ใต้แผ่นหิน มีการเจาะช่องเป็นช่องๆ เป็นประตูและหน้าต่างคล้ายช่องสังเกตุการณ์คล้ายหอคอย ที่เพิงหินโบราณแห่งนี้ได้พบหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณผนังด้านทิศเหนือของหินก้อนล่าง เป็นภาพเส้น 2 3 เส้น ปัจจุบันนี้ภาพลบเลือนไปมากแล้ว มีการปักสีมาล้อมรอบแปดทิศ เพื่อแสดงว่าเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรืออาจใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ปัจจุบันสีมาเหลืออยู่ 7 หลัก แต่เดิมน่าจะครบ 8 หลัก

อีกโบราณสถานสำคัญ ถ้ำพระ เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดการวางตัวทับซ้อนกันของหิน มีการสกัดส่วนที่เป็นหินด้านล่างให้เกิดเป็นห้องขนาดใหญ่ โดยมีการสลักรูปประติมากรรม พระพุทธรูป และรูปบุคคลไว้ที่ผนังถ้ำ และยังพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย พื้นที่บริเวณด้านข้างพบหลุมเสาเรียงเป็นแนวและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นส่วนของหลังคาอาคารที่เป็นเครื่องไม้ โดยมีการทรุดตัวลงมาของแผ่นหินด้านบนและพังทลายลงมา ส่งผลให้ทำลายประติมากรรมบางส่วนชำรุดเสียหายลงด้วย จุดนี้พบการปักสีมาล้อมรอบ 2 ชั้น แปดทิศ แสดงถึงเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรือใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ปัจจุบันคงเหลือเสาสีมาตามตำแหน่งเดิมเพียง 6 หลัก นอกจากนี้ ยังมีกู่นางอุสา ฉางข้าวนายพราน พีบศพท้าวบารส ถ้ำช้าง โบสถ์วัดพ่อตา วัดพ่อตา หีบศพพ่อตา คอกม้าท้าวบารส วัดลูกเขย บ่อน้ำนางอุสา ลานหินมณฑลพิธี ฯลฯ ทุกแหล่งล้วนมีเรื่องราวและหลักฐานบ่งชี้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
อุทยานฯ ภูพระบาทยังถือเป็นโบราณสถานที่ปรากฎการปักใบสีมามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2567 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยดำเนินการปรับตำแหน่งและจัดวางใบสีมาที่ทรุดเอียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม รวมถึงประกอบชิ้นส่วนของใบสีมาที่แตกให้เข้าด้วยกัน อีกทั้งปรับแต่งดินส่วนฐานล่างของใบสีมาบดอัดให้แน่น เพื่อเป็นการเสริมสภาพของแหล่งให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และรองรับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่หากได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุด ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกกำลังพิจารณากันเข้มข้นในแต่ละวาระอยู่ในตอนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลตื่นเร่งสำรวจโบราณสถานทั่วประเทศหลังแผ่นดินไหว
รัฐบาลสั่งประเมินความเสียหายมรดกชาติ ด้าน ก.วัฒนธรรม เร่งสำรวจโบราณสถานทั่วประเทศหลังแผ่นดินไหว
ซ่อมอีก! จนท.กรมศิลป์ สำรวจตึกไทยคู่ฟ้า พบบางจุดชำรุด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อช่วงสายวันที่ 13 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ได้นำเจ้าหน้าที่จากกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตรวจสอบตึกไทยคู่ฟ้า ทั้งภายนอก และภายในตามจุดต่าง ๆ