'หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน- ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน ' ดินดวงจันทร์ การค้นพบช่วงเวลาที่ขาดหายไป

หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน ชื่อดินดวงจันทร์ภาษาจีน จัดแสดงในไทย

ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจกับการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะการสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจต่างก็กำลังวางแผนไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงบริษัทเอกชนด้วยเช่นกัน แต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เคยมีประเทศที่ไปเก็บตัวอย่างหินและดินดวงจันทร์กลับมาบนโลกได้เพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้น คือสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ซึ่งเกือบทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วง space race ของสงครามเย็น ที่ทั้ง 2 ประเทศต่างก็แข่งขันกันเพื่อจะไปเหยียบดวงจันทร์

และประเทศที่ 3 ที่สามารถเก็บตัวอย่างหินและดินดวงจันทร์กลับมาได้คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับภารกิจแรกขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ที่ได้ส่งยานฉางเอ๋อ 5 ขึ้นสู่ดวงจันทร์ในวันที่ 24 พ.ย.2563 มีเป้าหมายเพื่อเก็บตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์ ส่งกลับมายังโลก ตัวยานประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ยานลงจอด (Lander) ส่วนนำตัวอย่างขึ้นสู่อวกาศ (Ascender) ยานโคจรรอบ (Orbiter) และแคปซูลส่งตัวอย่างกลับโลก (Sample-return capsule)

โดยในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ยานฉางเอ๋อ 5 ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านใกล้โลก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณที่ราบลาวาเก่าใกล้ภูเขาไฟรึมเคอร์ (Mons Rümker) ในมหาสมุทรแห่งหมู่พายุ(Oceanus Procellarum) แอ่งที่ราบสีคล้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ จากนั้นขุดพื้นผิวดวงจันทร์ลึกลงไปประมาณ 2 เมตร เก็บตัวอย่างดินและหินมาได้ประมาณ 1,731 กรัม ก่อนนำไปเก็บไว้ที่ส่วนนำตัวอย่างขึ้นสู่อวกาศ และในวันที่ 17 ธ.ค. 2563 แคปซูลส่งตัวอย่างกลับ ได้ร่อนลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย บริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางภาคเหนือของจีน นับเป็นความสำเร็จในรอบกว่า 40 ปี ที่ยานฉางเอ๋อ 5 ได้ทำภารกิจนี้สำเร็จ

ผู้ชมให้ความสนใจดินดวงจันทร์

หินและดินตัวอย่างที่ได้จากภารกิจนี้โดยทางสถาบันธรณีศาสตร์จีนได้วิเคราะห์ตัวอย่างดินในขั้นต้น พบว่า มีอายุราว 1,960 ล้านปี ซึ่งเป็นตัวอย่างในยุคที่ขาดหายไป นับตั้งแต่มีการเก็บตัวอย่างพื้นผิวดวงจันทร์กลับมาศึกษาบนโลก ที่มีตัวอย่างหินดวงจันทร์อายุมากกว่า 3 พันล้านปี และน้อยกว่า 1 พันล้านปีแล้ว ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการศึกษาวิวัฒนาการของดวงจันทร์ในช่วงเวลาต่าง ๆ และพบโมเลกุลไฮดรอกซิล (OH) บ่งชี้ว่าภายใต้พื้นผิวของดวงจันทร์อาจมีโมเลกุลน้ำ (H₂O) แฝงอยู่ราว 120 ส่วนในล้านส่วน (120 ppm) นักวิจัยคาดว่า เป็นผลจากลมสุริยะ (กระแสอนุภาคมีประจุที่แผ่ออกมา จากดวงอาทิตย์) ที่มาถึงพื้นผิวดวงจันทร์ การค้นพบนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในการตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ในอนาคต ที่สำคัญคือการค้นพบ แร่ธาตุชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยพบมาก่อนบนโลก จัดอยู่ในกลุ่มแร่ฟอสเฟตจำพวกเมอร์ริลไลต์ มีลักษณะเป็นผลึกทรงแท่งใส ไม่มีสี ค้นพบจากการศึกษาตัวอย่างหินบะซอลต์ เป็นต้น

หลังจากที่ไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์และระดับโลกของจีน ในความร่วมมือครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาของนวัตกรรมอวกาศยานไทย เนื่องจากเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรวิจัยชาวไทย

เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)  ได้ให้ตัวอย่างดินดวงจันทร์ จากภารกิจของยานฉางเอ๋อ 5 มาจัดแสดงในไทย เป็นประเทศแรก โดยก่อนหน้านี้ได้ถูกนำไปจัดแสดงเพียงแค่ในจีนที่ปักกิ่ง นานจิง ไห่นาน และฮ่องกง ภายในงาน อว.แฟร์ : SCI-POWER FOR FUTURE THAILAND ที่บูท นิทรรศการ Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH presented by TCP Group จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ( NARIT) และดินดวงจันทร์ส่งกลับคืนจีนในวันที่ 29 ก.ค.นี้

ชมดินดวงจันทร์อย่างใกล้ชิด

สำหรับดินตัวอย่างบนดวงจันทร์ที่นำมาจัดแสดงมีชื่อจีนว่า “หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน” มีความหมายว่า ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน ดินดวงจันทร์นี้มีน้ำหนัก 75 มิลลิกรัม ถูกจัดเก็บในคริสตัลทรงกลมรูปดวงจันทร์เต็มดวง เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มิลลิเมตร ทำจากกระจกพิเศษที่ใช้เป็นแว่นขยายคริสตัลทรงกลมตั้งอยู่บนฐานคริสตัลทรงสี่เหลี่ยมคางหมูจำนวน 3 ชั้น ที่หมายถึงการปฏิบัติภารกิจ 3 ขั้นตอนของยานฉางเอ๋อ ได้แก่ การโคจร การลงจอด และการส่งตัวอย่างกลับโลก ส่วนฐานชั้นล่างสุดกว้าง 17 เซนติเมตรมาจากจำนวนปีของโครงการ ฉางเอ๋อที่เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 17 ปี ความสูงรวม 22.89 เซนติเมตร หมายถึงจํานวนวันปฏิบัติการ ตั้งแต่เดินทางจากโลกไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์รวมทั้งสิ้น 22.89 วัน

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.NARIT

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีความร่วมมืออวกาศไทย กล่าวว่า ดินดวงจันทร์ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะมีจุดประสงค์คือการศึกษาการกำเนิดของดวงจันทร์ โลก  และระบบสุริยะ ซึ่งบริเวณที่พบดินดวงจันทร์มาจากบริเวณที่มีอายุเก่าแก่ของดวงจันทร์ราว 2,000 ล้านปี มีลักษณะเป็นผงๆ เป็นส่วนที่แตกมาจากก้อนหินบนดวงจันทร์ เพราะบนพื้นผิวของดวงจันทร์ที่มีหลุมจำนวนมากทำให้แต่ละพื้นที่บนดวงจันทร์มีอายุไม่เท่ากัน

ดร. ศรัณย์ กล่าวต่อว่า  ดังนั้นการที่ได้ตัวอย่างดินดวงจันทร์มาทำการศึกษา อาจจะทำให้คาดการณ์ได้ว่า ดวงจันทร์กับโลกอาจจะเคยเป็นส่วนเดียวกันมาก่อน เพราะมีองค์ประกอบทางด้านธรณีวิทยาคล้ายกับเปลือกโลกเมื่อ 2,000 ล้านปีที่แล้ว แต่เนื่องจากบนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้มีแร่ที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ได้มีการขอดินดวงจันทร์ในปริมาณนิดเดียวจากจีน เพื่อทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการในการต่อยอดพัฒนาออกแบบอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆที่จะสามารถนำขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้

บรรยากาศภานในนิทรรศการ

ดร. ศรัณย์ กล่าวถึงความร่วมมือกับจีนในอนาคตว่า จะมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการ MATCHหรือ Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope  เพื่อตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูง ได้แก่ โปรตรอน อัลฟา และอิเล็กตรอน ภายใต้รังสีคอสมิกในอวกาศและศึกษากิจกรรมที่เกี่ยวข้องจากผลกระทบระหว่าง ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นจากฝีมือวิศกรไทย มีน้ำหนักประมาณ 4,900 กรัม ขนาด 130x110x250 มิลลิลิตร ที่จะ 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ได้ติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ 7 ที่จะโคจรสูงราวๆ 200 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์ ในปี 2026 นี้ นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอที่จะขอติดตั้งดาวเทียมของไทย ชื่อว่า Lunar Pathfinder ขนาด 20 กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระหว่างการออกแบบขึ้นไปบนยานฉางเอ๋อ 8 เพื่อนำไปปล่อยโคจรรอบดวงจันทร์ โดยทางจีนมีการตอบรับด้วยวาจาต้องรอการตกลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณไปได้หลาย 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

“จีนยังมีแผนที่จะเตรียมส่งมนุษย์ไปเหยียบบนดวงจันทร์ในปี 2030  ซึ่งทางฝั่งอเมริกาก็มีโครงการอาร์ทิมิสที่จะกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งเช่นกัน เป็นอะไรที่น่าจับตามองมากว่า 2 ประเทศมหาอำนาจไหนจะได้ถึงดวงจันทร์ก่อน ส่วนตัวมองว่าจีนมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดมากและคงไม่ได้มองแค่การไปเหยียบดวงจันทร์ แต่มองการณ์ไกลไปถึงการสำรวจดาวอังคาร” ดร. ศรัณย์ กล่าว

ไทม์ไลน์การพัฒนาและความร่วมมือทางอวกาศของไทยและต่างประเทศ

ทิศทางการสำรวจทางอาวกาศของไทย ดร. ศรัณย์ กล่าวว่า แม้ว่าในระยะเวลาอันใกล้ไทยจะไม่มีมนุษย์ที่จะไปเยือนดวงจันทร์ แต่ก็อาจจะมีคนไทยที่จะได้ไปทำงานบนสถานีอวกาศเทียนกง ที่จะใช้โคจรรอบโลก และมีโอกาสที่จะพัฒนาได้เท่าๆ กับประเทศจีน ถ้าเกิดมีการสนับสนุน แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเท่ากับจีนเพราะไทยเป็นประเทศที่มีขอบเขตทางเศรษฐกิจที่เล็กกว่าเยอะ ดังนั้นต้องจับประเด็นให้ถูกจุดในการพัฒนา มุ่งเน้นไปที่วิศกรและนักวิทยาศาสตร์ไทย ในการส่งเสริมให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ กับประเทศมหาอำนาจที่มีความก้าวหน้าทางอวกาศ เพื่อสร้างศักยภาพมนุษย์ และนำมาพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ที่ไม่ใช่ยานอวกาศ แต่อาจจะเป็นรถไฟความเร็วสูง หรือเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ได้ด้วย

แบบจำลอง MATCH อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งบนฉางเอ๋อ 7

ที่น่าจับตามองอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการทำดาวเทียมสู่วงโคจรโดยวิศวกรไทย  คือ  ดาวเทียม NARIT Cube-1 ที่จะนำขึ้นไปกับยานของสถาบันเทคโนโลยีคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และปล่อยโคจรรอบโลก ในเดือนพฤศจิกายนนี้ พงศกร มีมาก วิศวกร NARIT กล่าวว่า เป็นดาวเทียมประเภทคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 100 x 100 x 340.5 มม. หนักประมาณ 4 กิโลกรัม มีภารกิจของดาวเทียมดวงนี้ คือ การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในย่าน RGB เป้าหมายหลักเพื่อต้องการพิสูจน์ทราบเทคโนโลยีการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ในอวกาศ การระบุตำแหน่งและการควบคุม การทรงตัวของดาวเทียมในระหว่างปฏิบัติภารกิจในอวกาศ การออกแบบและพัฒนาดาวเทียมนี้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถ และศักยภาพของวิศวกรไทยผ่านการเรียนรู้กระบวนการสร้างดาวเทียมตั้งแต่เริ่มออกแบบ ไปจนถึงการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และเป็นการวัดศักยภาพในการพัฒนาดาวเทียม ควบคุม สื่อสารกับดาวเทียมได้จริง  

 NARIT Cube-1

ผู้สนใจเข้าชม หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน ดินดวงจันทร์ และดาวเทียม อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่บูทนิทรรศการ Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH presented by TCP Group  บริเวณโซน F ตั้งแต่วันนี้-28 กรกฎาคม 2567 ณ ชั้น G ฮอลล์ 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย.

ผู้คนให้ความสนใจกับความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”

'จุฬาราชมนตรี' ประกาศ 12 มี.ค. วันแรกเดือนรอมฎอน เริ่มต้นถือศีลอด

นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ออกประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 โดยมีใจความว่า

สดร. เปิดภาพปรากฏการณ์ 'จันทรุปราคาบางส่วน'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยภาพ “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน” ช่วงเงามืดของโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ต่อเนื่องคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2566 หรือเช้าวันออกพรรษา บันทึกภาพจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ

มาแล้ว 'ซูเปอร์บลูมูน' 2 ปรากฏการณ์ จันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน และอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า เตรียมพร้อมถ่ายภาพ #ดวงจันทร์เต็มดวงใหญ่ที่สุดในรอบปี