25 ก.ค. 2567 – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยื่นหนังสือให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แจงละเอียดทุกขั้นตอนการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัวจากประเทศกานา ตั้งแต่ปลามาถึงไทยจนถึงทำลายฝังซากและส่งซากปลาให้กรมประมง ผ่านการตรวจสอบและตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมฯ
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญบริษัทเข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึง ผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย นั้น บริษัทได้ชี้แจงว่า ซีพีเอฟ ได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกานา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ใช้เวลาเดินทาง 35 ชั่วโมง เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมาก และเมื่อรับลูกปลามาถึงฟาร์มได้ตรวจคัดแยกพบว่ามีลูกปลามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง จึงได้นำลูกปลาที่ยังมีชีวิตลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกปลาทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน (ตารางแนบ)
เนื่องจากสภาพลูกปลาที่เหลือไม่แข็งแรงและจำนวนไม่เพียงพอต่อการวิจัย จึงโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง (นักวิชาการประมง 4 ตำแหน่งในขณะนั้น) กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสืออนุมัตินำเข้า โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เก็บตัวอย่างใส่ ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีนและให้นำมาส่งที่กรมประมง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
วันที่ 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดโดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ หลังจากนั้น เก็บลูกปลาทั้งหมดแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวในวันที่ 7 มกราคม 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา รวมถึงได้ทำลายซากลูกปลาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมประมงท่านดังกล่าว และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ๆ ละ 25 ตัว ให้กับเจ้าหน้าที่ที่กรมประมง โดยในวันที่ 6 มกราคม 2554 ได้เดินทางมาที่กรมประมง และได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ท่านเดิม เรื่องการส่งมอบตัวอย่างลูกปลาดองทั้ง 2 ขวด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งลงมารับตัวอย่างแทน ที่ชั้น 1 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัทกรอกแบบฟอร์มใดๆ ทำให้เข้าใจว่าการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว
ถัดมาอีก 7 ปี ในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน ซึ่งบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์มไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม
บ่อพักน้ำเป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติย่อมมีอยู่ในบ่อพักน้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเดียวกัน และยังไม่เข้าสู่ระบบการเลี้ยง ดังนั้น การสุ่มในบ่อพักน้ำจึงไม่แปลกที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกันกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน
นายเปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้นำศักยภาพองค์กรขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย
- ร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม
- สนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ 200,000 ตัวตามแนวทางของกรมประมง
- สนับสนุนกิจกรรมจับปลา โดยสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา
- ร่วมกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ
- ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว./
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
30 โรงงานของ CPF รับรางวัล CSR-DIW Continuous Award จากกรอ. เดินหน้าร่วมรับผิดชอบสังคมและชุมชน
จากความมุ่งมั่นในการสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในทุกระดับของทุกกลุ่มธุรกิจ มีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ในทุกมิติแก่สังคมและชุมชนที่สถานประกอบการของบริษัทฯตั้งอยู่ เพราะถือว่าซีพีเอฟคือหนึ่งในสมาชิกของชุมชน
รัฐบาลงัดเทคโนโลยีทำหมันปลา จัดการ 'หมอคางดำ'
เปิดมาตรการเชิงรุกขจัดปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ระยะเร่งด่วน ตั้งเป้า 3 ล้าน กก. หนุนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ดึงงานวิจัยและนวัตกรรม “ชุดโครโมโซม 4N” ทำหมันปลา
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
'เฉลิมชัย' เข้มสั่ง ทส. จัดการ 'ปลาหมอคางดำ' ต่อเนื่อง
“เฉลิมชัย” สั่งกำชับ ทส.แก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ”เข้มข้น ย้ำทำมาต่อเนื่อง ให้ประสานประมง-ท้องถิ่น เร่งแผนควบคุม-กำจัด พร้อมติดตามประเมินผลใกล้ชิด
ซีพีเอฟโชว์กำไร Q3 เพิ่มขึ้น 504%
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และบริษัทย่อย ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มีการลงทุนและร่วมลงทุนใน 17 ประเทศ