'10 เทคโนโลยี'ที่น่าจับตามองในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในงาน “Thailand Tech Show – อว. Fair 2024”ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ l 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยงานต่างๆภายใต้สังกัด อว.นำมาแสดง เพื่อโชว์ศักยภาพการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของไทย

สำหรับ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ถือว่าเป็นองค์กรแกนหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ  ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. บรรยายพิเศษหัวข้อ “10เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2567” (10 Technologies to Watch 2024) โดยกล่าวว่า  การนำเสนอ 10เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2567 เพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มหรือเทรนด์ของเทคโนโลยีโลกที่กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างภายใน 5-10 ปีข้างหน้าโดยเริ่มจากเทคโนโลยีใกล้ตัวด้านสุขภาพ ได้แก่

1.กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle)กล้ามเนื้อเทียมหรือกล้ามเนื้อจำลอง สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริงตามธรรมชาติโดยปัจจุบันมีความต้องการกล้ามเนื้อเทียมเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่นการใช้เป็นอุปกรณ์สวมใส่เพื่อช่วยในการฟื้นฟูหรือเสริมแรงสำหรับผู้พิการ การผ่าตัดแบบ microsurgeryนอกจากนี้ ยังมีความต้องการนำกล้ามเนื้อเทียมไปประยุกต์ใช้ในหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมก่อสร้าง และระบบควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม (industrial automation) เพื่อให้หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบา สามารถทำงานกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย

2. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)ร่างกายส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะในลำไส้ซึ่งถ้าขาดสมดุลของจุลินทรีย์มีประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคทางเดินอาหาร โรคภูมิแพ้โรคทางเมแทบอลิกต่าง ๆ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาดที่มีจุลินทรีย์ดี ทั้งแบบพรีไบโอติก (prebiotic)โพรไบโอติก (probiotic) และซินไบโอติก (synbiotic) ในอนาคตอันใกล้อาจมีการใช้เชื้อที่ผ่านการวิศวกรรมจนได้คุณสมบัติแปลกใหม่เพิ่มเติมหรือดีกว่าเดิม อาจช่วยเฝ้าระวังหรือรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย  ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ดังกล่าวอาจสร้างขึ้นได้ โดยอาศัยความรู้ที่เรียกว่า ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)ซึ่งใช้หลักการทางวิศวกรรมชีวเคมี ในการออกแบบและสร้างระบบชีวภาพ จนได้เป็น “วงจรยีน (gene circuit)”ในเซลล์ซึ่งเปิด-ปิดการทำงานของยีนบางอย่างได้อย่างจำเพาะโดยอาศัยการตอบสนองสัญญาณหรือตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถแจ้งเตือนการเกิดโรคหรือสามารถย่อยสลายสารพิษ หรือรักษาโรคได้อีกด้วย

3. แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)จะดีแค่ไหน หากเรารู้ผลการรักษาก่อนการรักษาจริง สามารถปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับเราที่สุดหรือแม้แต่สามารถประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคต่าง ๆ ของเราได้ล่วงหน้าปัจจุบันมีบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนา Digital Twin Platform สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยจำลองระบบการเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยจากข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย และบริษัทในประเทศสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบทำนายความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้แบบจำลอง AIที่ประมวลผลจากข้อมูลประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ของผู้ป่วยโดยในส่วนของประเทศไทยมีแนวโน้มที่บริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ รวมทั้งบริษัท health-techstartup ที่จะนำเทคโนโลยีนี้ เข้ามาใช้งานในประเทศไทยในอนาคต

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช.

4. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI-Augmented Software Development)ความก้าวหน้าของ generative AI และ Machine Learningเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำ AI มาใช้ในกระบวนการออกแบบ สร้าง ทดสอบรวมไปถึงการวางตลาดแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วมากขึ้นประมาณการณ์กันว่าจะมีการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ของการทำซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันใหม่ ๆราว 35-45% ไปพร้อม ๆ กับการลดต้นทุนได้ถึง 20% โดยใช้เวลาที่สั้นลงอีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าภายในปี พ.ศ.2571วิศวกรซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ในองค์กรราว 75% จะใช้ AI ช่วยในการเขียนโค้ดเทียบกับปัจจุบันที่ยังทำเช่นนี้น้อยกว่า 10%

5. เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology)ปัจจุบันเริ่มมีอุปกรณ์สวมใส่บนร่างกายที่ใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มมากขึ้นทำให้สามารถเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์แบบไบโอเมทริก (biometric sensor)ซึ่งเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมแบบ deep learning ก็ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ข้อเสนอแนะและคำแนะนำต่าง ๆ ที่แม่นยำแก่ผู้ใช้งานได้ โดยอุปกรณ์สวมใส่ AI รุ่นใหม่ ๆ จะทำงานรวดเร็วขึ้นและทำงานได้อย่างแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น  ในส่วนของทีม A-MED สวทช.ได้พัฒนาระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเพื่อตรวจจับอิริยาบถและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ รวมไปถึงท่านอน การล้ม และตำแหน่งที่เกิดเหตุภายในอาคารพร้อมแสดงผลและแจ้งเตือนผู้ดูแลแบบเรียลไทม์

6. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies, PETs)การเก็บข้อมูลในคลาวด์และการใช้ IoT มีบทบาทมากขึ้นแต่การรั่วไหลของข้อมูลสำคัญอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies, PETs) จึงมีความสำคัญในการช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผ่านการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้“โดยไม่ต้องถอดรหัส” ในบางประเทศมีการนำเทคโนโลยี PETs มาให้บริการแล้วในวงการการเงิน สุขภาพและทรัพยากรบุคคล

สำหรับประเทศไทย เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยี PETs ให้ใช้กับแพลตฟอร์ม IoTสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Industry 4.0 ของประเทศในชื่อ ไซบิลเลี่ยน (CYBLION)พ้องเสียงกับชื่อสายพันธ์สุนัข ช่วยทำให้การคำนวณข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมบนคลาวด์ทำได้อย่างปลอดภัยโดยเนคเทคได้ทดสอบใช้งานจริงในโรงงานธนากรผลิตน้ำมันพืชจำกัด (น้ำมันพืชกุ๊ก) แล้ว

7. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot)เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robotics) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองปัจจุบันมีการใช้งานหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยแล้วในหลายประเทศ ตลาดโลกของหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยประเมินกันว่าอาจจะสูงถึง 71,800 ล้านเหรียญในปี พ.ศ.2570 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 17.8%ขณะที่เฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิกสูงถึงเกือบ 20% โดยปัจจัยกระตุ้นสำคัญ คือ ความต้องการเทคโนโลยีนี้ในทางทหารและการป้องกันประเทศเป็นหลักในส่วนของ สวทช. มีองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ระบบสื่อสาร และ AIทำให้สามารถบูรณาการองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด การที่มีระบบฐานข้อมูล ระบบควบคุมและประมวลผลที่พัฒนาขึ้นเองจึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า

8. เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่โดยเฉพาะแบบลิเทียมไอออนเพราะมีการใช้กับยานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอัตราความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเติบโตมากกว่า 25% ต่อปีโดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในปี พ.ศ.2573 จึงเกิดความต้องการเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ปัจจุบันมักอาศัยความร้อนสูง หรือใช้กระบวนการที่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ  ความพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการทั้งสองแบบนี้ นำมาสู่ “เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง”ที่ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากอาศัยกระบวนการทางกายภาพในการร่อน ตัดย่อย บด และคัดแยกนำสารเพื่อนำกลับมาใช้สร้างเป็นขั้วแคโทด (cathode) ของแบตเตอรี่ขึ้นใหม่  ประเมินกันว่าเทคโนโลยีแบบนี้อาจไปถึงจุดที่มีความสามารถในการนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90%อีกทั้งจะสามารถลดความต้องการสินแร่ใหม่เพื่อนำมาผลิตแบตเตอรี่ได้มากกว่า 25% ในปี พ.ศ.2573

9. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H 2 for Mobility)รถยนต์ปัจจุบันกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆคาดกันว่าพลังงานจากไฮโดรเจนจะเป็นอีกตัวเลือกของพลังงานอนาคตในส่วนของประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจน (biohydrogen)จากพื้นฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีสารตั้งต้นจากก๊าซมีเทนในมูลสัตว์หรือชีวมวลต่าง ๆที่จัดเป็นกรีนไฮโดรเจน (green hydrogen) แบบหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีต่าง ๆจนได้ผลิตภัณฑ์เป็นไฮโดรเจนออกมาในที่สุด ต้นทุนการผลิตไบโอไฮโดรเจนก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบนี้ ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon footprint)และนำมาขายเป็นคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ของประเทศไปพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย

10. ยุคถัดไปของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Next Generation of Recirculating Aquaculture System: RAS)การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี  แต่การเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิม เช่น การเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในกระชัง มีข้อเสียหลายประการ เช่นใช้น้ำมากและสร้างมลพิษทางน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคสัตว์น้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยเทคโนโลยี RAS เป็นการเลี้ยงแบบใช้น้ำหมุนเวียนโดยมีการบำบัดของเสียออกจากน้ำและเติมออกซิเจนให้กับน้ำ มีข้อดีคือไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างหนาแน่นในพื้นที่น้อย สามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยงและมีการติดตามปัจจัยต่าง ๆได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิม จึงลดความเสี่ยงจากโรคสัตว์น้ำได้มาก  ที่ผ่านมา สวทช. ได้พัฒนาระบบ RASสำหรับกุ้งและปลากะพงซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยระบบที่พัฒนาขึ้นมีราคาที่ถูกลงกว่าในท้องตลาด ทำให้คืนทุนได้เร็วและสามารถควบคุมระบบการเลี้ยงได้ง่ายขึ้น

“จากทั้ง 10เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2567 ครึ่งหนึ่งเป็น digital technology และมี AI ร่วมอยู่ด้วยแสดงให้เห็นถึงการมาถึงของยุค AI ได้เป็นอย่างดี ขณะที่มีอยู่ 3 เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กับอีก 2เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และอีก 1 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านการประมงคาดหวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ ทั้งในแง่ของข้อมูลเทรนด์โลกที่ควรให้ความสนใจและในแง่ข้อมูลการตลาดเบื้องต้น เพื่อเปิดโอกาสภาคธุรกิจที่สนใจ ได้มีโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป”ศ.ดร.ชูกิจกล่าว.

เพิ่มเพื่อน