สภาผู้บริโภคชนะ 10 คดีเงินกู้'ศรีสวัสดิ์’คิดดบ.เกิน ลงชื่อกระดาษเปล่า ได้เงินกู้ไม่ครบ หนุนDSIจัดการต้นตอ

จากกรณีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากปัญหาการทำสัญญาเงินกู้กับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จํากัด เช่นถูกคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้ลงลายมือชื่อบนกระดาษเปล่า ได้เงินไม่ครบจำนวนที่ขอสินเชื่อ ไม่ส่งมอบสัญญา เป็นต้น ซึ่งสภาผู้บริโภคได้สนับสนุนการฟ้องคดีจนผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) ให้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นั้น


23 ก.ค. 2567- นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาเงินกู้ หรือปัญหาธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ไม่จดจำนอง เป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแลโดยสภาผู้บริโภคได้จัดหาทนายความเพื่อสนับสนุนการถูกฟ้องคดีของผู้บริโภคทุกคดีจนได้รับความเป็นธรรม และได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เสนอให้ยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอดำเนินคดีอาญา กรณี คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และรับเป็นคดีพิเศษ ทั้งยังเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภคที่ไม่ดำเนินการส่งมอบสัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีการแสดงรายละเอียดสัญญากู้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุด สคบ. ได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรณี กลุ่มบริษัท“ศรีสวัสดิ์” ไม่ส่งมอบสัญญากู้แก่ผู้บริโภค เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522

สารี อ๋องสมหวัง

นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ดีเอสไอพิจารณารับคำร้อง กรณี บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นคดีพิเศษ เลขที่ 47/2567 พร้อมหนุนดีเอสไอทำคดีนี้อย่างเต็มที่ และยินดีสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีและเชิญชวนผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบในลักษณะเดียวกัน มาร้องเรียนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ผู้เสียหาย

นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐยังไม่ได้กำกับดูแลให้เป็นระบบ ผู้ประกอบการในแบบเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้อีก หากรัฐยังมุ่งแก้ไขเฉพาะผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล และเมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองและผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตก็ยังสามารถหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับข้อสัญญาของตัวเอง ดังนั้น การมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองได้มากขึ้น

จิณณะ แย้มอ่วม

นายจิณณะกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคารจะมีการติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระทรวงการคลังเร่งกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดินเช่นเดียวกับที่กำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาซึ่งกระทบต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้บริโภค สร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเองผ่านการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วย และหากปล่อยให้มีเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จะสร้างความเสียหายที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

นันณภัชสรณ์ เตชปัญญาพิพัฒน์ ทนายความผู้เสียหาย

นางสาวนันณภัชสรณ์ เตชปัญญาพิพัฒน์ ทนายความซึ่งรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับเงินกู้ศรีสวัสดิ์ 5 คดีกล่าวถึงพฤติกรรมของบริษัทสินเชื่อมีการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก โดยยกตัวอย่างคดีที่หนึ่งที่ตัวเองได้รับผิดชอบบริษัทฯ ฟ้องร้องว่าผู้บริโภคกู้เงิน 140,000 บาท ทั้งที่โอนเงินเข้าบัญชีของผู้บริโภครายดังกล่าวเพียง 130,726 บาท และอ้างว่าที่เหลือจำเลยรับเป็นเงินสด 9,274 บาท จึงมีข้อพิรุธว่าเหตุใดจึงไม่โอนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน จึงเชื่อได้ว่าผู้บริโภคได้รับเงินกู้เพียง 130,726 บาท นอกจากนี้ผู้บริโภคได้ชำระเงินรายงวดให้บริษัทไปแล้วจำนวน 70,901 บาท ศาลจึงพิพากษาให้ผู้บริโภคต้องชำระเฉพาะส่วนที่เหลือ คือ 59,825 บาท นอกจากนี้ เป็นปัญหาการคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทจะคิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกอบกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654ดังนั้น การที่บริษัทคิดดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมีผลทำให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ จึงไม่สามารถคิดดอกเบี้ยจากผู้บริโภคได้ทั้งนี้ ในบางคดี ทางบริษัทมีความพยายามจะเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ศาลไม่ต้องวินิจฉัยคดี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละคดีทนายความได้หารือกับสภาผู้บริโภคและผู้เสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือดำเนินคดีเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์


นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2565ถึงปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมากกว่า 126 ราย ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการทำสัญญาเงินกู้กับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ไม่จดจำนอง ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ถูกคิดค่าธรรมเนียมโดยไม่เป็นธรรม โดนคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ต่อปี ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าที่ยังไม่มีข้อความที่สมบูรณ์จะไปทำสัญญาโดยผู้กู้ไม่ได้มีโอกาสรับทราบเนื้อหา ไม่ได้รับคู่สัญญา ซึ่งต่อมาผู้ประกอบธุรกิจได้ฟ้องร้องผู้บริโภคซึ่งเป็นคดีที่สภาผู้บริโภคได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือจนชนะคดีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คดี

นายภัทรกร กล่าวอีกว่า ช่วงปลายปี 2566 สภาผู้บริโภคได้มีการแถลงข่าวเปิดเผยคำพิพากษาของศาลเพื่อชี้แจงข้อมูล และมีตัวแทนบริษัทศรีสวัสดิ์เข้ามาร่วมชี้แจงด้วย โดยตัวแทนของบริษัทฯ ระบุว่าจะรับข้อคิดเห็นไปพิจารณา แก้ไขปัญหา และปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงิน แต่ภายหลังจากนั้น สภาผู้บริโภคยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะผู้เสียหายที่เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค แต่ไม่ได้ปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงินให้เป็นไปตามกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี ผู้เสียหายคดีดิไอคอนกรุ๊ป​ 'ปปง.' เปิดให้ยื่นขอคุ้มครองสิทธิรับคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สิน

ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ได้นำส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี บริษัท

โฆษกดีเอสไอ โต้ทนายบอสพอล อุปสรรคคดีอยู่ที่ฝ่ายผู้ต้องหาเอง ไม่ใช่ DSI

ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูล ในและฐานะโฆษกดีเอสไอ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดี

ทนายบอสพอล กังวล 'ดีเอสไอ' ตัดพยาน 2,000 คนฝั่งดิไอคอน ยุติสอบปากคำ 3 ธ.ค.นี้

นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเยี่ยมบอสพอล ที่เรือนจำฯ ว่ายอมรับว่าหนักใจเนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ

'ดีเอสไอ' จ่อบุกเรือนจำสอบปากคำ 'เจ๊พัช' ปมคลิปเสียงจ่ายสินบนดีเอสไอ 10 ล้าน

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคลิปเสียงสาวอ้างจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้ ดีเอสไอ

'ดีเอสไอ' ให้เวลา 15 วัน '18 บอส' อธิบายธุรกิจดิไอคอน หลังแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่-ขายตรง

"โฆษกดีเอสไอ" เผยคณะพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่ - พ.ร.บ.ขายตรงฯ 18 บอสดิไอคอนฯ เรียบร้อย แย้มให้กรอบเวลา 15 วัน

'ทนายบอสพอล' มั่นใจชี้แจงได้หมด อ้าง 'ดีเอสไอ' แจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่ ค่อนข้างหลวม

นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมบอสพอล ว่า หลวมดี เพราะหากดูจากพฤติการณ์ที่ดีเอสไอแจ้งมา