ผลประเมินความคิดสร้างสรรค์ PISA 2022 ' สิงคโปร์'นำโด่ง-'เด็กไทย'ยังอยู่ระดับพื้น ๆ

 การประเมินความสามารถของเด็กนักเรียนแต่ละชาติ ในระดับสากล ผ่านการสอบPISA(Programme for International Student Assessment)  ไม่ได้มีแต่การประเมินความสามารถความรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย โดยในการสอบPISAปี2022ที่ผ่านมานักเรียนแต่ละชาติได้สะท้อนความคิดความสามารถด้านการสร้างสรรค์เป็นอย่างไร  

รศ.ธีระเดช  เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ดำเนินงานโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง   PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย  PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

นอกจากการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว PISA 2022 ยังได้มีการประเมินเพิ่มเติมอีกหนึ่งด้านคือ “ความคิดสร้างสรรค์” (Creative Thinking) ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการมีส่วนร่วมในการสร้าง ประเมิน และปรับปรุงแนวคิด ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และหลากหลาย มีการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นการแสดงออกถึงจินตนาการที่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการประเมินดังกล่าวจะทำให้ทราบว่า ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินได้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีการคิดนอกกรอบในการทำงานตามบริบทต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด โดยมี 64 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมทดสอบความคิดสร้างสรรค์ และ 74 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมทดสอบและตอบแบบสอบถามดังกล่าวด้วย

การประเมินความคิดสร้างสรรค์ครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กระบวนการ ได้แก่ “กระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลาย” “กระบวนการสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์” และ “กระบวนการประเมินและปรับปรุงแนวคิด”โดยนักเรียนจะได้แสดงออกใน 2 ด้านของการทำงานตามบริบทต่าง ๆ คือ 1) ด้านการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย และ การแสดงแนวคิดด้วยภาพ และ 2) ด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทางวิทยาศาตร์ และ การแก้ปัญหาทางสังคม

ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ของ PISA 2022   พบว่า นักเรียนสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ41 คะแนน สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนเฉลี่ยรองลงมา ได้แก่ เกาหลี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย และฟินแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 36 คะแนนขึ้นไป โดยประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 33 คะแนน  สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย 21 คะแนน ผลการประเมินของประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดสิบอันดับแรก และผลการประเมินของประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมการประเมินความคิดสร้างสรรค์เป็นดังนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนชาย โดยประเทศสมาชิก OECD นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ย 34 คะแนน ส่วนนักเรียนชายมีคะแนนเฉลี่ย 31 คะแนน  สำหรับประเทศไทย พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ย 23 คะแนน ในขณะที่นักเรียนชายมีคะแนนเฉลี่ย 19 คะแนน

PISA 2022 ยังรายงานผลการประเมินความคิดสร้างสรรค์ตามระดับความสามารถซึ่งมี 6 ระดับ (ระดับ 1 – ระดับ 6)  โดยที่ระดับ 3 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนมีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ นั่นคือ นักเรียนสามารถเสนอแนวคิดสำหรับงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และเริ่มเสนอแนวคิดที่แปลกใหม่สำหรับปัญหาที่คุ้นเคยได้
จากผลการประเมินพบว่า นักเรียนมากกว่า 80% ของสิงคโปร์ ลัตเวีย เกาหลี เดนมาร์ก เอสโตเนีย แคนาดา และออสเตรเลียมีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปอยู่ 78%  ในขณะที่อีก 20 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปไม่ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยที่มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปอยู่ 37%

หากพิจารณากระบวนการของการประเมินความคิดสร้างสรรค์ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำข้อสอบด้านกระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลายและกระบวนการสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ได้มากที่สุด (61% และ 58% ตามลำดับ) ส่วนนักเรียนเกาหลีทำข้อสอบด้านกระบวนการประเมินและปรับปรุงแนวคิดได้มากที่สุด (46%) สำหรับนักเรียนไทยทำข้อสอบด้านกระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลาย (30%) ได้มากกว่ากระบวนการอื่น ๆ  สำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในบริบทต่าง ๆ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาทางสังคมได้มากที่สุด (66% และ 58% ตามลำดับ)  ในขณะที่นักเรียนโปรตุเกส ทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยภาพได้มากที่สุด และนักเรียนเกาหลีใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุด (41% และ 47% ตามลำดับ) สำหรับนักเรียนไทยทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการการแก้ปัญหาทางสังคมได้มากกว่าบริบทอื่น ๆ (28% และ 28% ตามลำดับ)

เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อและทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์ พบว่า นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) นั่นคือ นักเรียนที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่ไม่คิดเช่นนั้น  สำหรับประเทศสมาชิก OECD การมีกรอบความคิดแบบเติบโตส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 1 คะแนน ส่วนประเทศไทยส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 3 คะแนน โดยประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่ที่ 46% ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับประเทศไทย  
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สภาพแวดล้อมและบทบาทของครูก็ส่งผลต่อคะแนนความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน ซึ่งนักเรียนที่รายงานว่าครูให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ครูกระตุ้นให้นักเรียนหาคำตอบที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และเมื่ออยู่ที่โรงเรียน นักเรียนได้รับโอกาสในการแสดงแนวคิด นักเรียนกลุ่มนี้จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้รายงานเช่นนี้ โดยในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 60% – 70% ส่วนประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 70% – 80%

จากผลการประเมินมีข้อค้นพบเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างสร้างสรรค์ด้านการศึกษาที่อาจเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้ เช่น การสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างสร้างสรรค์ไว้ในหลักสูตรการศึกษา  การส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาตระหนัก พัฒนา และประเมินความคิดสร้างสรรค์โดยมีการกำหนดความก้าวหน้าหรือเกณฑ์ในการเรียนรู้  การสร้างโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ในหลากหลายสาขาวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตร และการส่งเสริมให้มีการติดตามและประเมินผลความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ

ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนไทยยังต้องได้รับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันนักเรียนต้องสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์และปรับตัวเข้าให้เข้ากับแนวคิดและการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องมีการพึ่งพานวัตกรรมและการสร้างองค์ความรู้มากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงบางอ้อ ดร.เสรี เผยเหตุ 'กัมพูชา' ยอมตกลง MOU44

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม MOU44 มีหรือจะพูดว่า MOU44 ไม่ดีสำหรับประเทศไทย เขาย่อมพูดว่าเป็นผลดี

'แพทองธาร' หารือทวิภาคี 'สี จิ้นผิง' จีนยันสนับสนุนไทยในเวทีระดับโลกทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) โรงแรม Delfines Hotel

เอาแน่ 'คมนาคม' เร่งศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด

“คมนาคม” เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ-สิงคโปร์-สวีเดน-อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์-ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

‘ภูมิธรรม’ เหวี่ยง! โดนซักปมเกาะกูด ปัด ‘ทักษิณ-ฮุนเซน’ มีดีลลับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

รองนายกฯ ปัด ‘ทักษิณ-ฮุนเซน’ มีดีลลับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ลั่นไม่มีบทบาท-หน้าที่ ถามประชาชนส่วนไหนไม่ไว้วางรัฐบาล ชี้ มีแค่ไม่กี่กลุ่ม ซัดพูดจนกระทบคนเกาะกูด มั่นใจไม่กระทบการเจรจา