จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553 ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน จึงมีการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็ว ก่อเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง ด้วยนิสัยดุร้าย และต้องการอาหารตลอดเวลา ส่งผลให้ปลาชนิดอื่นในธรรมชาติสูญพันธุ์ได้
ปัจจุบันมีรายงานปลาหมอคางดำรุกรานแหล่งน้ำในประเทศไทย ผลกระทบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำยังคงขยายเป็นวงกว้าง พบปลาหมอคางดำทั้งหมด 17 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.สงขลา และจ.นครศรีธรรมชาติ รวมถึงแหล่งน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุด มีรายงานชาวประมงออกเรือไปจับปลาในทะเลอ่าวไทย ปรากฎว่า จับปลาหมอคางดำได้ในระยะทาง 3 ไมล์ทะเล ซึ่งภาครัฐเร่งรีบแก้ไขปัญหา ขณะที่บริษัทนำเข้าเพียงรายเดียวปฏิเสธไม่ได้เป็นต้นตอแพร่ระบาด
จากเวทีเสวนาเรื่อง ” ปลาหมอคางดำ ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย ใครรับผิดชอบ? ” ณ ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 จัดโดย สภาที่สาม นายคัมภีร์ ทองเปลว สมาชิกประชาคมคนรักแม่กลอง กล่าวว่า บริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำ ปี 2553 ศูนย์วิจัยตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม ปี 2554 พบปลาหมอคางดำที่ อ.ยี่สาร ต่อมาปี 2555 พบระบาดถี่และชัดเจนในคลอง 3 สาย ได้แก่ คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองบางยาว ต.ยี่สาร ตั้งอยู่รายรอบที่ตั้งศูนย์วิจัย บ่อกุ้ง บ่อปลาได้รับผลกระทบเสียหาย จับปลาหมอคางดำได้มากกว่า นำมาสู่การร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ปี 55 ด้วยแม่กลองเป็นเมืองสามน้ำ มีคลอง 600 คลอง มีลำประโดง ส่งผลให้ปลาหมอคางดำแพร่ระจายไปทั่วคุ้งน้ำ เพชรบุรี บางตะปูน และสู่แหล่งน้ำในภาคใต้ ปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ลงตรวจสอบในพื้นที่สมุทรสงคราม นำมาสู่รายงานที่เผยแพร่กันในข่าว แต่ไม่ได้มีข้อสรุปเรื่องครีบปลา ก็ถือเป็นบทเรียน ขอให้เป็นบทเรียนสุดท้าย ตนไม่รู้กระทบตัวเลขเศรษฐกิจอย่างไร แต่ที่อยากย้ำถ้าระบบนิเวศล่มสลาย จะทำลายอาชีพที่ชาวบ้านหาอยู่หากินในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ต้องไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“ กลุ่มเกษตรกรเสนอให้รัฐบาลรับซื้อปลาหมอคางดำ 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้รัฐรับที่ราคา 15 บาท มันไม่ใช่การอุดหนุนสินค้าเกษตรปกติ เพราะต้องกำจัดอย่างรวดเร็ว เกษตรกรต้องใช้แรง ใช้เครื่องมือ ส่วนในแหล่งน้ำปิดมันมีต้นทุนการจัดปลา วอนนายกฯ มาช่วยเกษตรกร กรมฯ จะใช้วิธีเหนี่ยวนำพันธุกรรม หวังจะมีปลาหมันลงแหล่งน้ำเดือนธันวานี้ แต่อยากให้รัฐพิจารณาแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างรอบคอบ ถูกต้อง และตามหลักวิชาการ มิฉะนั้น เราอาจจะเจอเอเลี่ยนสปีชีส์ตัวใหม่ ส่วน 6 มาตรการกรมประมงยังทับซ้อน อย่างกำจัดกับนำมาใช้ประโยชน์มันขัดแย้งกัน กลุ่มเกษตรกรเสนอควรจับปลาหมอคางดำเข้าโรงงานปลาป่นอย่างเดียว อย่ากระจายไปโรงงานพื้นที่อื่นที่ไม่มีการระบาด จะเหมือนลิงแก้แห อย่าเสี่ยงกับเรื่องนี้ และฝากติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ “ นายคัมภีร์ ระบุทางออก
ส่วนใครรับผิดชอบกรณีนี้ นายคัมภีร์แสดงทัศนะว่า ผู้บริหารบริษัทเอกชนอ้างน้ำท่วมปี 54 ทำลายหลักฐานที่ส่งให้กรมประมงไป ส่วนอธิบดีกรมประมงก็เหมือนรับเผือกร้อน แถลงว่าไม่มีข้อกฎหมายจะไปเอาผิด ถ้าไม่ทำตามระเบียบคณะกรรมการ IBC ครั้งหน้าก็ไม่ได้รับอนุญาติแค่นั้น อยากให้กระทรวงเกษตรฯ กล้าหาญแก้ปัญหา และค้นหาความจริงให้สิ้นสงสัย เมื่อเป็นวาระแห่งชาติ นายกฯ ควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ตั้งคณะทำงานสืบค้นผู้ก่อการระบาดจากทุกภาคส่วน ถึงจะจบแบบมีคำตอบ
บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้รัฐรณรงค์ปลาหมอคางดำกินได้ ชวนมากินเมนูปลาหมอคางดำ แต่ทำไมต้องกิน ในเมื่อมีเนื้อปลาที่อร่อยกว่านั้น ที่สำคัญปลาหมอคางดำทำลายปลาท้องถิ่นอื่นๆ ผู้บริโภคมีทางเลือกในการกินปลาน้อย ปลาหมอคางดำปรับตัวได้น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ที่บอกเล็ดลอดออกทะเลไม่ได้ ตอนนี้ออกอ่าวไทยแล้ว กินกุ้งเคย ไข่หอย ไข่ปลา หอยหลอด อีกหน่อยไทยจะได้กินแต่ปลาหมอคางดำ ตอนนี้หลุดมาถึงบึงมักกะสัน กรุงเทพฯ ถ้าบริษัทนำเข้าอยากจบสวย เพราะประชาชนเชื่อว่า คุณเป็นต้นเหตุ เพราะเริ่มระบาดตรงฟาร์มวิจัย มีการต่อสู้เรียกร้องมาก่อน ทางเลือกผู้เสียหายร้องเรียนผ่านสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อแสดงถึงการติดตามตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
“ ความรับผิดชอบหนีไม่พ้นกรมประมงในฐานะผู้อนุญาต แต่นั่นคือภาษีประชาชน การกำจัดไม่ใช่ควรจับกิน แต่ควรมีมาตรการหยุดระบาด กระบวนการจัดการต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ การขนย้ายไม่ให้น้ำปลาที่มีไข่ไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ที่กังวลมาก อย่าจำกัดภายในกี่วัน จำนวนกี่กิโลกรัม ต้องกำจัดจนหมด เห็นด้วยกับปล่อยกระพง ปลานักล่า แต่ต้องมีขนาดใหญ่พอกินทั้งลูกปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำตัวเล็ก แต่ถ้าปลาหมอคางดำตัวใหญ่ต้องใช้ชาวประมง รวมถึงต้องปล่อยปลาให้ถูกที่ การจัดการต้องให้สิ้นซากสูญพันธุ์ “ บุญยืนย้ำ
ขณะที่ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ กล่าวว่า จากการศึกษาพบระบาดรอบฟาร์มวิจัย ก่อนกระจาย สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงปี 2555 ฝั่งตะวันออกไปถึงบางขุนเทียนสมุทรปราการ ข้ามช็อตไประยอง จันทบุรีแถวท่าใหม่ คุ้งกระเบน ทางใต้เลาะชายฝั่งเพชรบุรีไป จ.ประจวบคีรีขันธุ์ การศึกษา DNA เมื่อปี 65 ตั้งแต่บางขุนเทียนถึงสุราษฎธานีมาจากแหล่งเดียวกัน 2 ปีต่อมาไปนครศรีธรรมราช สุราษฎธานี ตอนนี้ไปสุดที่แม่น้ำลำคลองแถวอำเภอระโนด จ.สงขลา
“ หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที การระบาดจะข้ามไปมาเลเซียอ้อมไปสิงค์โปร์ ขึ้นมาถึง จ.ภูเก็ต ภายใน 10 ปี อย่างเร็ว ความเดือดร้อนจะไม่อยู่เฉพาะไทย แต่คนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจนถึงบังคลาเทศจะเดือดร้อน ผลกระทบหากแหล่งน้ำมีแต่ปลาหมอคางดำ ไทยจะสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของสามสมุทร และอ่าวไทยตอนบน เพชรบุรี ชลบุรี ซึ่งได้ผลผลิตสัตว์น้ำหลายหมื่นตันต่อปี ไม่ได้เลี้ยงคนกรุงเทพ แต่หล่อเลี้ยงคนเชียงใหม่ ลาว ส่งออกกุ้ง หอยแครง หอยแมงภู่ นี่คือจีดีพีจากประมงชายฝั่งของไทย ขณะนี้ปลาหมอคางดำระบาดรุนแรงที่สุดในโลกเท่าที่พบมา อดีตปลาซัคเกอร์กระทบ เพราะแพร่พันธุ์เร็ว อัตรารอดสูง ตัวอ่อนขนาดเล็กฝูงหนึ่งหลายพันธุ์ตัวว่ายกระจายไปทั่ว อยู่ได้ทุกระดับความลึก อยู่ได้ทุกน้ำ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แม้แต่น้ำเน่าบึงมักกะสันยังอยู่ได้ ไม่ต้องกลัวปลานี้จะไม่รอด จะกระจายไปทั่วตามภูมิภาคที่ว่ายน้ำไปถึง “ ดร.ชวลิต กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านปลา กล่าวต่อว่า อีกประเด็นกรมประมงยืนยันสิ่งที่บริษัทนำเข้าอ้างส่งคืนตัวอย่างปลาหมอคางดำให้กรมนั้นไม่มีในระบบราชการ ส่วนกระแสข่าวและเป็นข้อมูลจริง ปี 56-59 มีการส่งออกปลาใส่ชื่อไทย “ปลาหมอเทศข้างลาย” กว่า 5 แสนตัว แต่ใส่ชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกับปลาหมอคางดำ ก่อนปี 61 กรมประมงประกาศห้ามนำเข้า-ส่งออกปลาต่างถิ่น 1 ในนั้นเป็นปลาหมอคางดำ ตนมีข้อสมมติฐาน ข้อแรก บริษัทส่งออกใช้ชื่อวิทยาศาสตร์คนละชนิด ใส่ชื่อผิด สอง อาจจะนำเข้าปลาหมอคางดำจริงแล้วส่งออก ต้องรับผิด เพราะไม่ได้รับอนุญาตนำเข้า สาม แม้ไม่ได้นำเข้า นำปลาคางดำจากในไทย ก็ไม่ผิดใด การส่งออกรอบนี้ต้องพิสูจน์เกี่ยวกับหลุดรอดหรือไม่ บริษัทตั้งอยู่ในสมุทรสงคราม ถ้าใช่อาจเป็นแพะรับบาปไป ถ้าอยู่ที่อื่นก็มีคำถาม ทำไมไม่ระบาดตรงนั้น ต้องสืบสวนต่อไปให้ชัดว่า ผู้ส่งออก-นำเข้า ปล่อยปลาหลุดมั้ย ขณะนี้เหมือนกับว่าบริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำป้ายความผิดให้กับผู้ส่งออก
“ ตัวเลขความเสียหายระดับประเทศอาจถึงหมื่นล้าน โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งเสียหายมาก เป้าหมายที่ต้องทำกำจัดให้เหลือศูนย์ในน่านน้ำไทยภายในเร็ววัน ก่อนระบาดไปประเทศรอบข้าง “ ดร.ชวลิตยืนยัน
นางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปี 2560 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประมงสมุทรสงครามเรื่องปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ผลตรวจสอบปี 2561 พบว่า ปี 2553 บริษัทนำเข้า 2,000 ตัว ปลาทยอยตายใน 2 สัปดาห์ และเติบโตไม่ดี หยุดวิจัย นำมาสู่การฝังกลบ และไม่ได้เก็บซากปลาตามเงื่อนไขกรมประมง กสม. ทำข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขการแพร่ระบาด กรมฯ กำจัดและทำแผนปฏิบัติการกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่น ปี 61 แต่การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง เครือข่ายชาวประมงร้องให้นำความเห็นชาวประมงมาประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาด้วย เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ชาวประมงในอ่าวตัว ก ประชุมร่วมกับ กสม. เสนอต้องแก้ไขเร่งด่วนและจะมีเงินเยียวยาอย่างไร มองไปถึงประกาศภัยพิบัติเพื่อขอเงินเยียวยาจาก ปภ. แต่ไม่เข้าเกณฑ์ จึงเสนอให้กรมประมงสอบถามกรมบัญชีกลางจะเยียวยาอย่างไร แต่ก็ไม่คืบหน้า จากประกาศยกเลิกอวนรุนเพื่อจับปลาหมอคางดำและปล่อยปลากระพงนักล่า แต่ราคารับซื้อไม่จูงใจชาวประมง รวมถึงอุตสาหกรรมปลาป่นจะรับซื้ออย่างไร
ทั้งนี้ น.ส.ศยามล ระบุจากการประชุมคณะกรรมการระดับชาติต้องเร่งทำแผนและจัดหางบประมาณ แต่เห็นว่า ถ้ารองบกรมประมงจะไม่ทันการณ์ รัฐบาลต้องบูรณาการประสานภาครัฐ ภาคเอกชน และเป็นเรื่องใหม่ อาจะต้องมีงานศึกษาวิจัยจะทำหมันหรือทำมาตรฐานผลิตภันฑ์ทางด้านอาหารอย่างไร กสม.ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ส่วนใครรับผิดชอบ ชาวบ้านสามารถฟ้องคดี กสม.ประสานกรมประมงให้จัดประชุมทำงบเร่งด่วนในจังหวัดที่พบปลาหมอคางดำระบาด
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการ แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนยังมี เพราะข้อมูลบริษัทเอกชนรายเดียวที่เป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและกรมประมงผู้อนุญาตรายเดียว เงื่อนไขผู้นำเข้า หากไม่มีนำส่งครีบปลา เหตุใดไม่มีการนำส่ง และไม่ส่งผลวิจัย ซึ่งกรมฯ ไม่มีรายงาน รวมถึงเมื่อบริษัทไม่ศึกษา ให้ส่งซากปลาให้กรม ไม่ใช่ฝัง ซึ่งทำไม่ตรงตามเงื่อนไข ส่วนการแพร่ระบาดพบครั้งแรก พบในตำบล จังหวัดเดียวกัน ของที่ตั้งศูนย์วิจัย มีข้อโต้แย้งอาจมาจากการส่งออก-นำเข้า ตนมองว่า ปลาสายพันธุ์นี้พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปี 55 เริ่มส่งออกปลายปี 56-59 มูลต่าส่งออก ตัวละ 5 บาทเท่านั้น แอบนำเข้าหรือพบเจอในประเทศ แล้วเอาไปขาย แต่หากเทียบไม่คุ้มค่ากับการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
“ สิ่งเดียวที่ยืนยันได้ ความวุ่นวายจากปลาอานุภาพทำลายล้างสูง เกิดจากเหตุใด นายกฯ แถลงจะหาต้นตอให้ได้ รมว.เกษตรฯ จะตั้งคณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริง จะเอาจริงเอาจังแค่ไหน การหาต้นตอต้องใช้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบ กมธ.จะไปกรมประมง วันที่ 23 ก.ค. นี้ จากนั้นวันที่ 25 ก.ค. เชิญบริษัทผู้นำเข้าปลาหมอคางดำรายเดียวมาสอบถามข้อมูลและข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่กล่าวอ้าง “ อนุ กมธ. ระบุ
จากเวทีสภาที่สาม มี 4 ข้อเสนอส่งต่อถึงรัฐบาลเศรษฐา 1.เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุดมีกระบวนการหยุดระบาดปลาหมอคางดำและกระบวนการทำลายให้สูญพันธุ์ไม่ใช่ส่งเสริมการขาย ซึ่งไม่ได้ป้องกันการแพร่ระบาดที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ ทำลายระบบนิเวศ 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ต้องมีมาตรการสืบค้นข้อมูลให้สิ้นสงสัย หากมีการทำลายพันธุ์ปลาไปแล้ว 50 ตัว เหตุใดมีปลาหมอคางดำหลายสิบล้านตัวแพร่กระจายทั่วประเทศ และเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสังคมให้กระจ่าง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป 3.บริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำที่ได้ชื่อว่ามีธรรมาภิบาล ควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ 5 มาตรการที่สนับสนุนภาครัฐแก้ปัญหา จะแสดงความจริงใจมากกว่าปัดความรับผิดชอบ และ4. รัฐบาลต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ บูรณาการแก้ปัญหาเรื่องนี้จริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เฉลิมชัย' เข้มสั่ง ทส. จัดการ 'ปลาหมอคางดำ' ต่อเนื่อง
“เฉลิมชัย” สั่งกำชับ ทส.แก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ”เข้มข้น ย้ำทำมาต่อเนื่อง ให้ประสานประมง-ท้องถิ่น เร่งแผนควบคุม-กำจัด พร้อมติดตามประเมินผลใกล้ชิด
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
ประมงนครฯ และสุราษฎร์ฯ ยันปลาหมอคางดำเบาบางลง หลังมาตรการได้ผล เดินหน้าต่อ จับมือ CPF ปล่อยปลาผู้ล่าลดปริมาณปลาในระยาว
ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี โชว์มาตรการปราบปลาหมอคางดำได้ผลดีทั้งสองจังหวัด หลังสำรวจพบปลาหมอคางดำเบาบางลง พร้อมเดินหน้ามาตรการต่อเนื่องทันที ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หนุนอีก 3
วิพากษ์นโยบายรัฐบาลขาดการนิรโทษกรรมสมานฉันท์ปชช. หากรบ.ฉ้อฉลจะไม่มีใครออกมาต่อสู้อีก
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สภาที่ 3 และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 จัดเสวนาวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยมี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวเปิดงาน