ปลุกแนวคิด 'Learn to Earn' เรียนแบบตอบโจทย์สร้างรายได้ฉับไว

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  และมีปัจจัยพลิกผัน ที่พร้อมจะจู่โจม ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนได้แบบทันทีทันใด  เช่น โรคระบาดจากโวรัสโควิด-19 เป็นต้น ทำให้หลายคนเริ่มมาพิจาณาทบทวนรูปแบบการเรียนรู้แล้วว่า การให้การศึกษาผู้คนในห้องเรียน  อาจจะไม่เพียงพอและตอบสนองการแก้ปัญหาได้รวดเร็วเพียงพอ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ  โดยเป็นการเรียนแบบเน้นย้ำการมีทักษะการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด   ความสามารถในการยืนหยัดดำรงชีวิต  น่าจะเป็นการศึกษาอีกรูปแบบที่เหมาะสมกบกลุ่มผู้เรียนที่มีปัจจัย ฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน   ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเอสซีจี จึงได้จัดงาน Learn to Earn Talk มุ่งสร้าง mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทุกภาคส่วนทุก Generation เห็นความสำคัญของการมีทักษะวิชาชีพ (Hardskill) ที่ตลาดต้องการ และทักษะชีวิต (Softskill) สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง อย่างเป็นรูปธรรม

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุของการว่างงาน คือทักษะวิชาชีพไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ทำให้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทั้งทักษะ Hard Skills เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และต้องพัฒนาทักษะชีวิต Soft Skills เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องรักที่จะเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เป็นคนเก่งและคนดีและอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะด้าน Soft Skills ที่ได้ผลการศึกษาทั้งในรูปแบบ Qualitative และ Quantitativeresearch จาก TDRI ผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างกว่า 500 คน และการแลกเปลี่ยนทางความคิด จากเวที Opinion Panel พบ Skill Set ที่สำคัญจะทำให้อยู่รอดได้ในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่  1.ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านภาษา 2.ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น 3.ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์

ความจำเป็นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า  นอกจากการปลุก Mindset ของเยาวชน สิ่งสำคัญคือการปลุก Mindset ของระบบด้วย ดังนั้นหากระบบยืดหยุ่นไม่เพียงอาจจะส่งผลให้เด็กออกจากระบบการศึกษา ตัวเลขจากการสำรวจในปี 2566 มีกลุ่มเด็กฐานะยากจนและยากจนพิเศษออกจากระบบการศึกษาในระดับชั้นม.3 กว่า 33,000 คน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพียง 1,044 บาทต่อคนต่อเดือน และในระดับชั้น ปวช. ที่ออกจากระบบการศึกษาอีกกว่า 100,000 คน และมีเด็กที่เรียนในชั้น ม.3 จำนวนกว่า 166,000 คน สมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพียง 21,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าถ้าระบบการศึกษายังไม่มีการปรับตัว เส้นทางที่เด็กจะเลือกออกจากระบบการศึกษาจะมีแนวโน้มมากขึ้น

“นอกจากนี้ในการสำรวจเลข 13 หลักตามทะเบียนราษฎร์ มาเทียบกับจำนวนหน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาจำนวน 21 หน่วยงาน ทำให้เห็นภาพรวมในปัจจุบันที่มีเด็กอายุ 3-18 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา จำนวน 1.02 ล้าน มีเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ ป.1-ม.3 เพียง 3.94 แสนคน ตัวเลขจำนวนนี้ยังซ้อนนัยยะของปัญหาเด็กเล็กอายุประมาณ 3 ขวบที่เข้าเรียนช้าด้วย ดังนั้นเด็กที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตคน ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวจะต้องทำให้เด็กจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร เพราะตอนนี้มีจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ถึง 500,000 คน” ดร.ไกรยส กล่าว

เยาวชนกลุ่ม NEET ( Not in Education, Employment, or Training) สู่แรงงานนอกระบบ ดร.ไกรยส อธิบายว่า ปัจจุบันเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่เป็นกลุ่ม NEET  เป็นกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนนอกระบบมีจำนวนกว่า 1.4  ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขความท้าทายว่าไทยจะออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร หากมองในระยะยาวเรื่องสถานะทางสังคม วิจัยของทางธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวพ่อแม่ที่สำเร็จในระดับต่ำ แนวโน้มที่ลูกจะจบการศึกษาในระดับต่ำตามไปด้วยมีถึง 49% หรือ 1 ใน 3 ก็จะจบไม่เกินระดับมัธยม คือภาพของความยากจนข้ามรุ่นที่ไม่ได้วัดแค่รายได้ แต่วัดด้วยทุนมนุษย์ ดังนั้นหากไทยจะออกจากกับดัดรายได้ปานกลาง ต้องออกจากกับดัดความยากจนข้ามรุ่นให้ได้ก่อน โดยมีหัวใจสำคัญคือ ความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ไกรยศ ภัทราวาท

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า รายได้เฉลี่ยหลังสำเร็จการศึกษาของเยาวชนไทยตลอดช่วงชีวิต ถ้าเป็นเยาวชนในช่วงชีวิตวัยทำงานที่จบด้วยวุฒิการศึกษาป.6 จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท วุฒิการศึกษาม.ต้น เฉลี่ยอยู่ที่ 10,700 บาท วุฒิการศึกษาม.ปลาย เฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 บาท ปัจจุบันประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 20,900 บาท ต่อกำลังแรงงาน 38 ล้านคน ดังนั้นหากไทยจะเป็นประเทศออกจากรายได้ปานกลางสู่รายได้สูงประชากรต้องมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ถ้าเยาวชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ จะช่วยสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(IRR) ได้สูงถึง 9% และองค์การยูเนสโก ประเมินว่า หากไทยบรรลุเป้าหมาย ZERO-Dropout ได้สำเร็จตาม SDG4 จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละ 1.7%

“แนวทางการแก้ปัญหาเยาวชนออกจากระบบการศึกษาในเบื้องต้นด้วยระบบการศึกษาต้องการเข้าใจปัญหาของเยาวชนกลุ่มนี้ที่ต้องการมีรายได้ทันที ซึ่งการเรียนตามระบบไม่ตอบโจทย์ความต้องการให้เร็ว คือโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ชวยทันตแพทย์ 1 ปี ที่เปิดสอนในม.ขอนแก่นและม.เชียงใหม่  เพียงจบม.6 และเรียนต่อเพียงแค่ 1 ปี หลังจากจบหลักสูตรจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนถึง 20,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นระบบต้องความคิดที่ไม่มีเพียงแค่สูตรมาตรฐาน แต่ต้องตอบโจทย์ประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นอนาคตประเทศ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา เป็นแรงงานนอกระบบที่มีทักษะและรายได้ต่ำ” ดร.ไกรยส กล่าว

รศ.ดร. ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต ม.เชียงใหม่  กล่าวเสริมว่า เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง เกิดอาชีพใหม่มากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็จะต้องทำให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ โดยมีพื้นฐานการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะไม่สามารถที่จะรู้ได้เพียงศาสตร์เดียว ต้องรู้ในหลายศาสตร์ รู้แบบเชิงลึก ดังนั้นการทำให้คนมีความคิดที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่าทักษะที่ยังไม่รู้และมีทักษะที่มีอยู่แล้วจะเพิ่มเติมอย่างไรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน

รศ.ปรารถนา ใจผ่อง (ซ้าย) และ นคินทร์ วนกิจไพบูลย์(ขวา)

ความจำเป็นที่ต้องมี Mindset เรียนรู้เพื่ออยู่รอด นคินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ คือ การรู้ว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงและจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน อาจจะแบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก คือ 1.สังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะตั้งแต่ปี 2000 จะเห็นว่าการเรียนรู้หรือการทำงานไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา 2.เทรนด์ ที่มีทั้งดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ เอไอที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม หรือไบโอเทค การใช้ยาการรักษาโรคจากการใช้ยาเคมี ก็จะเป็นชีววัตถุมากขึ้น รวมถึงการใช้เอไอ เข้ามาช่วยในการแพทย์ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและไบโอเทค ทำให้วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และ3. เกิดงานและทักษะใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิตสุขภาพ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีผลต่ออนาคต ดังนั้นจึงส่งผลการเรียนรู้ การศึกษา ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

นคินทร์ กล่าวต่อว่า ในมุมของการศึกษาส่วนของ Hard Skills คือ ทักษะที่จำเป็นต่อวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง แต่ Solf Skills  คือ ทักษะที่จำเป็นต่อทุกวิชาชีพ ซึ่ง Learn to Earn สำคัญมาก แต่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมี Learn to Learn ด้วย คือ การวิจัยและพัฒนา ที่เป็นอีกปัจจัยในการพาไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะส่วนใหญ่ประเทศไทยมีการซื้อและนำเข้าเทคโนโลยี ที่มีความจำเป็นในระยะสั้น เพราะอาจจะมีการเรียนรู้ไม่ทัน อย่างไรก็ตามสุดท้ายไทยต้องสร้างนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง และเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในส่วนของการสร้างคนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน คือ การพัฒนาคนให้ทันต่อกระแสโลก มหาวิทยาลัยก็จะต้องจับมือกับภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือเอกชนทำตัวเองเป็นโรงเรียน ในการพัฒนาทักษะบุคลากรที่จำเป็นต่อองค์กร แต่อย่างไรก็พฤติกรรมของคนก็สำคัญที่ต้องมีแนวคิดพร้อมที่เรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย 

————————

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SCG ปรับตัวครั้งใหญ่ เปิด 4 ภารกิจ เดินหน้าทำกำไรจากธุรกิจสีเขียว 

SCG ชวนจับตาหลายวิกฤติทั่วโลก ลั่นเตรียมพร้อมรับทุก "เซอร์ไพรส์" เปิด 4 ภารกิจหลัก เดินหน้าสร้างสังคม Net Zero ตั้งเป้ายอดขายนวัตกรรมกรีน 67% ปี 2573