ยอดชมมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ 5 วัน 5 แสนคน

วธ.เผยยอดผู้ร่วมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ ที่สนามหลวง 5 วัน 5 แสนคน เงินสะพัดกว่า 173 ล้านบาท ช่วยสืบสาน รักษาต่อยอดวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ

16 ก.ค.2567 – นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย มีการจัดริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ 26 ขบวน และผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ สวนแสงเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีเฉลิมพระเกียรติ ตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ การสาธิตอาหารย้อนยุคและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า การจัดงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติฯ มีประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมเป็นจำนวนมากและสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมด 60 หน่วยงาน ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ ทำให้การจัดงานเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียนรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและร่วมกันสืบสาน รักษาและต่อยอด งานศิลปวัฒนธรรมของชาติและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่นานาชาติ ช่วยส่งเสริมการเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างงานสร้างรายได้ไปสู่ประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

นางยุพา กล่าวต่อว่า ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ วันที่ 15 ก.ค.2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานมีการแสดง “สิงโตบนเสาดอกเหมยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” การแสดง “มังกรเบิกฟ้า 72 พรรษามหามงคล ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร” บริเวณหน้าเต็นท์นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงดนตรี “แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี” เป็นการแสดงดนตรีออร์เคสตร้าร่วมกันของนักดนตรี 5 สถาบันการศึกษา การแสดงนาฏศิลป์โขนสดใต้ร่มพระบารมี ตอน ศึกทศกัณฐ์ยกรบ และตอน ยักษ์บรรลัยกัลป์ออกศึก การแสดง”ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” เป็นการแสดงประกอบแสง สี เสียงและสื่อผสม สะท้อนแนวคิดการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 10 รัชกาล

นอกจากนี้ มีการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,200 ลำ ชุด “พระราชปณิธานเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย” ประกอบด้วย 11 ภาพ ได้แก่ ภาพที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาทรงปฏิบัติ ทรงแสดงความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรง”สืบสาน รักษา ต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ภาพที่ 2 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ภาพที่ 3 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ภาพที่ 4 “โขน”เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่ยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาต

ภาพที่ 5 “โนรา” ภาพที่ 6 “นวดไทย” ภาพที่ 7 ประเพณีสงกรานต์ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติในปี พ.ศ. 2566 ภาพที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ภาพที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน”โครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ภาพที่ 10 ในหลวง พระราชินี เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และภาพที่ 11 ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม

” จากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน และเครือข่ายทางวัฒนธรรมมากกว่า 60 หน่วยงาน โดยมีนักแสดง ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัยได้มีพื้นที่นำเสนอผลงานและร่วมแสดง 3,225 คน เด็ก เยาวชนและประชาชนสนใจเข้าร่วมงาน ณ ท้องสนามหลวง และรับชมกิจกรรมผ่านทางสื่อออนไลน์ อาทิ Facebook live ของกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมเกือบ 5 แสนคน และได้รับรายงานว่าจากการจัดงานเกิดการสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปิน นักแสดง ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และร้านอาหารกว่า 200 บูธ ในพื้นที่การจัดงานสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ รวมกว่า 173 ล้านบาท ถือเป็นการร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้เกิดความยั่งยืน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง ” นางยุพา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันอาสาฬหบูชา' เปิดพื้นที่อนุรักษ์วิถีแห่งศรัทธา

วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567  ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสน อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย มักตรงกับเดือน ก.ค. หรือ

ชวนเที่ยว'สวนแสง'งานมหรสพสมโภช ชมนิทรรศเฉลิมพระเกียรติ

13 ก.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หั

พัฒนาแหล่งโบราณคดีโคราช สู่หมุดหมายระดับโลก

จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองมรดกโลกที่คนทั่วโลกรู้จักจากผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่  ถิ่นโคราชยังมีความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีแหล่งโบราณคดีเป็นวัตถุดิบชั้นดีใน