'วันอาสาฬหบูชา' เปิดพื้นที่อนุรักษ์วิถีแห่งศรัทธา

วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567  ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสน อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย มักตรงกับเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.

วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง และอริยสัจ, เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก ,เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ และเป็นวันที่พระรัตนตรัย  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์เป็นครั้งแรก

หลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา ที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันดี คือ พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ซึ่งมีอริยสัจ 4 ได้แก่

ทุกข์ คือ ปัญหาที่ทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นิโรธ คือ การดับทุกข์ และมรรค คือ กระบวนการแก้ปัญหา

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าวันวิสาขบูชา แบ่งเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน วัดทั่วประเทศไทยจัดกิจกรรม พระแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ส่วนพุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญ ตักบาตรและเวียนเทียนในวันสำคัญนี้ เพื่อแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2567 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 15 – 21 ก.ค. 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ด้วยการร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา บำเพ็ญศาสนกิจ รักษาศีล ลด ละ เลิก อบายมุข สืบทอดพระพุทธศาสนา สืบสานวัฒนธรรมและ ประเพณีอันดีของงามของไทย โดยในส่วนกลาง ร่วมกับคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายทางศาสนา ภาคเอกชน และสถานศึกษาจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์หล่อเทียนพรรษา พิธีปล่อยขบวนรถเทียนพรรษา จัดงานในวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 น. ณ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ จัดพิธีถวายเทียนพรรษา ณ พระอารามหลวงในเขตกรุงเทพมหานคร  15 วัด ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดปทุมวนาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระราม 9  กาญจนาภิเษก วัดปากน้ำ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสระเกศ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทวราชกุญชร วัดอรุณราชวราราม วัดหงส์รัตนาราม วัดชนะสงคราม และวัดราชาธิวาสวิหาร โดยมีพระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ. เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงาน และองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งจัดทำเกมส์ทายคำศัพท์ออนไลน์ เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทาง Facebook กรมการศาสนา ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับของที่ระลึก

กิจกรรมวันอาสาฬหบูชาในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด รมว.วธ. กล่าวว่า  ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และหน่วยงานต่างๆ บูรณาการการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยสืบสานวัฒนธรรม และประเพณีอันดีของงามของไทย รวมทั้งเปิดพื้นที่จัดเทศกาลประเพณีเพื่ออนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม เพราะเป็นงานรวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น  และนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการทางด้านศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี สร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 “ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ได้อุปสมบทเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่า จะพำนักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ที่เรียกว่า จำพรรษา ”นางสุดาวรรณ กล่าว

วันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ชวนชาวพุทธร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่วัดใกล้บ้าน พร้อมทั้งร่วมพิธีหล่อเทียนและถวายต้นเทียนพรรษาในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตั้งจิตน้อมใจเป็นกุศล สร้างบุญ ลด ละ เลิก อบายมุขตลอดพรรษา ถวายเป็นพุทธบูชา เสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว สืบสานพระพุทธศาสนาที่กำเนิดบนผืนแผ่นดินไม่น้อยกว่า 2,500 ปี ให้คงความรุ่งเรืองต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม

วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี

จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567  โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

ศน.ชวนแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 9 พระอาราม

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคล และเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไ

'นวราตรี' พื้นที่ของทุกศาสนา

หนึ่งปีมีครั้งเดียวเทศกาล “นวราตรี” ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวีจากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา“ ปราบอสูรชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วได้สำเร็จ หลังสู้รบกันมา 9 วัน 9 คืน

รุ่นใหม่วัยเยาว์ 5 ศาสนา ท่อง'กะดีจีน'

ชุมชนกะดีจีนหรือชุมชนกุฎีจีนถือเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางความวัฒนธรรมและความเชื่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับทุกวัยและทุกศาสนา ในพื้นที่มีชุมชนและศาสนสถานแต่ละศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อส่งต่อเรื่องราวพหุวัฒนธรรม เยาวชนรุ่นใหม่จาก 5 ศาสน