‘ทีมแอสโทรนัต’ คว้าแชมป์ 'โรบ็อต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5’

ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย มีงานวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับอวกาศน้อยมาก  ขณะที่ ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ประกาศว่าประเทศไทยจะไปดวงจันทร์  ทั้งนี้ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในองค์ความรู้เกี่ยวกับอวกาศ ทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จับมือร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ประกาศผลการแข่งขัน “โครงการ The Kibo Robot Programming Challenge” มาเป็นเวลา 4ปีและในปี2024 เป็นการดำเนินการปีที่ 5

แกนหลักของโครงการคือ การเฟ้นหาเยาวชนผู้มีความสามารถ ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมกิจกรรมศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2567 และในการแข่งขันThe 5th Kibo Robot Programming Challenge ปรากฎว่า “ทีมแอสโทรนัต (Astronut)” คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ  ในภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดย สวทช. ร่วมกับแจ็กซา และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมกันจัดแข่งขันโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge ทั้งนี้ สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้ โดยมีโจทย์ภารกิจ เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบจำลองหรือ Simulation ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee เพื่อค้นหาอุปกรณ์ที่สูญหายในสถานีอวกาศ ซึ่งทีมแอสโทรนัต ทำคะแนนได้ดีที่สุดจากผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 200 ทีมทั่วประเทศ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติต่อไป

ทีมแอสโทรนัต มีสมาชิก 4 คน ประกอบด้วย นายธรรญธร ไชยกายุต ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ ชั้นปีที่ 1 สาขากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายชยพล เดชศร ชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ ชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

หลังจากนี้ทีมแอสโทรนัตจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ในรายการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge ร่วมกับตัวแทนเยาวชนอีก 11 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567


ดร.จุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมซินแท็กซ์ ไวยกรณ์ (Syntax Waiyakorn) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมพลัมเมอร์ พัปส์ (Plumber Pups) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลทีมนำเสนอดีเด่น ได้แก่ ทีมโครนอสบีส์ (Kronosbees) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในปีนี้มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 200 ทีม เป็นจำนวนที่สูงมากที่สุดในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วมกิจกรรม แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 21 ทีม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 140 ทีม ระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 39 ทีม “

รองผอ.สวทช.กล่าวอีกว่า ประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้ จะทำให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อย่างบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และประสบการณ์ที่เยาวชนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ จะมีส่วนส่งเสริมต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

นายทาเคฮิโระ นากามูระ (Takehiro Nakamura) ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ  กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 200 ทีม ว่ารู้สึกตื่นเต้นและประทับใจกับการเข้าร่วมแข่งขันของเยาวชนไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทุก ๆ ทีม ในการพัฒนาโค้ดเพื่อเอาชนะโจทย์การแข่งขันให้ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการทำงานจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ขอแสดงความยินดีกับทุก ๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และขอต้อนรับทีมผู้ชนะเลิศสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพและการทำงานในอนาคต

ด้าน นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้บริหาร บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเสริมว่า ขอแสดงความยินดีกับทีมตัวแทนประเทศไทย พวกเรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทีมเยาวชนจากประเทศไทยสำหรับการแข่งขันนี้ และดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นเยาวชนไทยจำนวนมากให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมแข่งขันในงานนี้ ภารกิจในอวกาศถือว่าเป็นภารกิจที่มีความท้าทายสูง ต้องอาศัยองค์ความรู้หลายแขนง ประกอบกับต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ

“ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ยังเป็นที่ขาดแคลนในประเทศไทย ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้ตัวแทนประเทศไทยที่ไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น ตลอดจนเยาวชนที่รักและสนใจด้านการบินและอวกาศทุกคน แม้ว่าประเทศไทยจะยังมีงานทางด้านนี้ไม่มาก แต่โอกาสมีอยู่เสมอถ้าเราพยายามมากเพียงพอ”นายวสันชัย กล่าว

ขณะที่ นายจุติวัฒน์ เสงี่ยมศักดิกร รองกรรมการผู้จัดการสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกท่านในโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge โดยเฉพาะน้อง ๆ ทีม แอสโทรนัต ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้และคว้าโอกาสการไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีแสดงความสามารถด้านการบินและอวกาศระดับนานาชาติ

“ทางเรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนเยาวชน  ต่อยอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากเวทีระดับประเทศและระดับสากล  ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการ พัฒนาบุคคลากรของประเทศให้มีความพร้อมรองรับเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ ที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักบินอวกาศอวกาศญี่ปุ่น และได้สัมผัสกับประสบการณ์ล้ำค่าในศูนย์อวกาศสึกุบะซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และฝึกฝนนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศนานาชาติ

ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 5 ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation หรือเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นาโนเทค สวทช.-สภาเภสัชกรรม-สปสช. ร่วมนำร่องผลักดันชุดตรวจคัดกรองโรคไตในร้านยา

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม