'เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์' สู่การวางรากฐาน'สุขภาพหนึ่งเดียว' เพื่อปวงประชา

กว่า 3 ทศวรรษที่ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ทรงมุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย วิชาการ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านโครงการวิจัยเชิงบูรณาการรอบด้าน สอดคล้องกับแนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) 

ขณะเดียวกัน องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงมีพระนโยบายให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มุ่งบูรณาการงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างนวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ ดังเรื่องการวิจัยและพัฒนายารักษาโรค ด้วยพระอัจฉริยภาพในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านเคมีและวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ด้วยทรงใช้พระปรีชาสามารถ และพระประสบการณ์ในการวางรากฐานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาต้านโรคมะเร็ง”

ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการคิดค้นพัฒนายา เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ความมั่นคงทางยาที่มีนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน อีกทั้งยังทรงแสวงหาความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนชั้นนำระดับโลกในหลายประเทศ ตลอดจนทรงริเริ่มจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุที่ได้มาตรฐานภายในประเทศไทย จึงนำมาสู่การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ” สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI’s Center for Biologics Research and Development – CBRD) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยและพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถนำไปใช้รักษาโรคต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย ทำให้คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง “ทราสทูซูแมบ” (Trastuzumab) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนยา ถือเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย โดยนักวิจัยชาวไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการพัฒนายาต้านมะเร็งนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากการได้รับมลพิษทางอากาศ  การศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของสารเคมีที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็ง ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม หรือสารที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมดังเช่น “สารหนู” ทั้งนี้ กลไกการเกิดของสารพิษต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง และเป็นอันตรายต่อชีวิตหากสัมผัสเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิดโรคเรื้อรังชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ ระบบหัวใจ และการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น

อีกหนึ่งพระกรณียกิจสำคัญ ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ได้เสด็จไปทรงงานด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วประเทศ ในการให้บริการออกตรวจรักษาโรค และฟื้นฟูสุขอนามัยของประชาชนผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ดีและทั่วถึง   พร้อมกันนี้ ยังทรงให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีของสัตว์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา “โรคพิษสุนัขบ้า” ที่สามารถคร่าชีวิตทั้งคนและสัตว์ได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุนี้ จึงทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานฯ ” และโปรดให้มีการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ทั่วประเทศ   เพื่อให้สัตว์เลี้ยงและสัตว์ไร้ที่พึ่งได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างถูกวิธี ทั้งการได้รับการฉีดวัคซีน การผ่าตัดทำหมัน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมแบบบูรณาการ เผยแพร่ความรู้ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชนตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย

ทรงมีพระดำริให้จัด การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn International Science Congress – PC)  ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม พ.ศ. 2567  ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และเพื่อเป็นเวทีการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่จะเน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำแนวความคิดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้อย่างบูรณาการระหว่างสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแพทย์ การสัตวแพทย์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ถือเป็นพระนโยบายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหาและทำให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าของงานวิจัยตามแนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งมีความพยายามในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้าแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยสืบไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ

เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้