รพ.กรุงเทพฯชู'Da Vinci Xi'ก้าวสู่ 'ศูนย์เป็นเลิศหุ่นยนต์ผ่าตัดระดับโลก'

ปัจจุบันในวงการแพทย์อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยาการใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมการดูแลรักษาของแพทย์ อย่างการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด ที่เข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดเข้าถึงในอวัยวะที่ยากและซับซ้อน สามารถลดผลข้างเคียง เจ็บน้อย และฟื้นตัวได้ไว

ล่าสุดโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ได้เปิดตัว “Da Vinci Xi”  เทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ทันสมัยในปัจจุบัน ด้วยแขนกลอัจฉริยะ เพื่อจะยกระดับการรักษาโรคและการผ่าตัดที่ซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น

 นพ.เอกกิตติ์ สุรการ

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำให้กับการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาล ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้ว่ามีต้นทุนที่สูงและอาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยมีผลลัพธ์ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการรักษาผ่าตัดที่แม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อนช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว และรักษาโรคได้ตรงจุด ลดค่ารักษาพยาบาลได้ในระยะยาว การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ The da Vinci Xi  ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมากกว่า 200 ราย ในการนำเอาระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วย ซึ่งมีข้อดีคือ ผู้ป่วยสูญเสียเลือดน้อยลง ระยะเวลาการฟื้นตัวสั้นลง ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลง และอัตราการกลับเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ลดลง ในการผ่าตัดเฉพาะทางบางโรค เช่น การผ่าตัดเพื่อรักษาการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในผู้ป่วยมะเร็งปอด หุ่นยนต์ช่วยให้ผ่าตัดไม่กระทบหรือทำลายเส้นประสาท ส่งผลให้ผลการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

“โดยแผนงานระยะ 5 ปีนับจากนี้ คือการขยายขีดความสามารถในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ศัลยกรรมหู คอ จมูก ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านพัฒนาทักษะ การศึกษาและอบรมเพื่อให้โรงพยาบาลกรุงเทพก้าวขึ้นเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ระดับโลกในอนาคต”  นพ.เอกกิตติ์ กล่าว

ผศ.นพ.สุปรีชา อัศวกาญจน์  สาธิตการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi

ด้าน ผศ.นพ.สุปรีชา อัศวกาญจน์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านตับ ตับอ่อน ท่อทางเดินน้ำดี และการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้อธิบายว่า  หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci XI คือ ระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะในรูปแบบแขนกล 4 แขนที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ หมุนได้รอบทิศทาง เปรียบเสมือนแขนของแพทย์ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยผ่าตัดในบริเวณที่ซับซ้อนหรือเข้าถึงยาก แต่ละแขนจะมีเครื่องมือผ่าตัดและกล้องส่องอวัยวะภายในที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนแบบ 3 มิติ โดยศัลยแพทย์จะควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลตามรูปแบบของการผ่าตัด ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถทำการผ่าตัดได้ในทุกสาขา เพราะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา

การทำงานของหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci XI  ผศ.นพ.สุปรีชา กล่าวว่า มีอยู่ 3 ส่วนประกอบหลัก ได้แก่  1.ส่วนควบคุมการผ่าตัด (Surgeon Console) โดยศัลยแพทย์ควบคุมการทำงานของแขนกลได้เหมือนการผ่าตัดปกติ มีจอภาพ 3 มิติแสดงให้เห็นอวัยวะภายในอย่างละเอียด ระบบจะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวจากมือศัลยแพทย์ไปยังแขนกลของหุ่นยนต์ที่ทำการผ่าตัดภายในร่างกายผู้ป่วย 2. หุ่นยนต์ผ่าตัดผู้ป่วย (Patient Cart) แขนกลทั้ง 4 แขนเข้าไปทำการผ่าตัดโดยเลียนแบบการเคลื่อนไหวจากมือของศัลยแพทย์ แขนที่ 1 จะถือกล้องเพื่อส่งภาพมาแสดงผลบนจอแบบ 3 มิติ อีก 3 แขนจะถือเครื่องมือหุ่นยนต์ที่หมุนอย่างอิสระได้รอบทิศทาง สามารถเข้าไปผ่าตัดในบริเวณที่เข้าถึงยากได้ ช่วยให้ผลลัพธ์การผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ และ3.ระบบประมวลผลและควบคุมภาพ (Vision Cart)อุปกรณ์เสริมที่ช่วยแสดงภาพอวัยวะภายใน มีหน่วยประมวลผลและซอฟต์แวร์ที่ช่วยควบคุมและวิเคราะห์การทำงานของระบบ ทำให้ปรับค่าต่าง ๆ ได้สะดวกและเหมาะสมกับผู้ป่วย อีกทั้งหุ่นยนต์ผ่าตัดไม่มีข้อจำกัดเรื่องมือสั่น จึงหมดกังวลกับปัญหามือสั่นที่อาจพบในศัลยแพทย์  และวิธีการนี้ยังได้แผลผ่าตัดที่เล็ก ผู้ป่วยจึงเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดระยะเวลานอนพักฟื้นในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci XI อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน ขณะทำการผ่าตัดเหมือนกับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ

“ดังนั้นหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci XI เหมาะกับการผ่าตัดในตำแหน่งที่ยากและโรคมีความซับซ้อน อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ฯลฯ โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน เช่น  มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต ฯลฯ โรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ฯลฯ และโรคทางระบบหายใจและทรวงอก เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผนังทรวงอกฯลฯ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci XI ต้องเป็นไปตามการประเมินและคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ เพราะอาจไม่ได้เหมาะกับการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยในบางราย”  ผศ.นพ.สุปรีชา กล่าว

 นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม

 นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยแพทย์ทรวงอก เชี่ยวชาญทางด้านการผ่าตัดโรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียวและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกใช้มากว่า 20 ปี เพราะสามารถใช้ในการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องและการผ่าตัดแบบเปิด ที่สามารถใช้แขนของหุ่นยนต์ควบคุมทิศทางได้มากกว่าการผ่าตัดด้วยแพทย์เพราะในการผ่าตัดส่วนที่เป็นอวัยะภายในทรวงอก อาจจะต้องมีส่วนที่ต้องผ่าตัดเข้าไปในส่วนที่ลึก  เช่น ต่อมน้ำเหลือง ต่อมไทมัส ซึ่งที่ผ่านมาการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ da Vinci Xi กว่า 50 เคส ผลออกมาดีมาก คนไข้เกือบ 100% พักฟื้นและกลับบ้านได้ใน 4 วัน

 นพ. ธเนศ ไทยดำรงค์

 นพ. ธเนศ ไทยดำรงค์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเฉพาะทางด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า การใช้หุ่ยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi ในคนไข้ อย่างเคสที่ต้องผ่าตัดต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ลึกในอุ้งเชิงกราน หากแบบเดิมจะต้องผ่าตัดแบบเปิดทำให้ปากแผลเปิดได้มากกว่าและทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลาย ส่งผลให้ 5-7 วันแรกหลังผ่าตัดมีอาการปวดนาน ฟื้นตัวใน 2-3 เดือน แต่เมื่อใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดจะไม่ต้องเปิดปากแผลเยอะ ลดภาวะแทรกซ้อนและสามารถฟื้นตัวได้เร็วลดการปวดหลังผ่าตัด และสามารถปัสสาวะได้เกือบปกติไม่ต้องรอฟื้นตัวนานหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จะอยู่ในการดูแลและควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใหล้ชิด และต้องเป็นไปตามการประเมินและคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ เพราะอาจไม่ได้เหมาะกับการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยในบางราย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BDMSลงนามกับกกท.เพื่อบริการทางการแพทย์ ให้นักกีฬาทีมชาติไทย

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือBDMS นำโดย พญ. เมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 BDMSและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ( MOU)ว่าด้วยการดำเนินงานบริการทางการแพทย์ กับการกีฬาแห่งประเทศไทย โดย นาย สุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา

ผ่าตัด'ฉัตรชัย'น่าพอใจ รอฟื้นฟูร่างกาย8เดือน ก่อนคืนสนาม

นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ และแพทย์ประจำทีมชาติไทยในรายการ AFF Suzuki Cup 2020 เผยอาการหลังผ่าตัด 'บอย' ฉัตรชัย บุตรพรม ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย หลังประสบอุบัติเหตุ เอ็นไขว้หน้าเข่าข้างซ้ายขาด ระหว่างการแข่งขัน และหลังรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาแล้ว ได้ทำการผ่าตัด เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ม.ค. 2565 โดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery (MIS) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้เจ็บน้อยและฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด

แพทย์ยืนยัน'ฉัตรชัย' หลัง 6 เดือนกลับมาแข่ง ลุ้นประตูมือ1ทีมชาติได้

ตามที่ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แถลงข่าว "อาการบาดเจ็บและขั้นตอนการรักษา ฉัตรชัย บุตรพรม ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย ชุดแชมป์ AFF Suzuki Cup 2020 โดยมี นพ.พรเทพ ม้ามณี ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ และ นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2565 เวลา 13.00-14.00 น. ณ BASEM ชั้น 5 โรงพยาบาลกรุงเทพ