'คอนกรีต ลดโลกร้อน'-จับมือ'บ้านคาร์บอนต่ำ'

ทุกวันนี้ในวงการภาคอุตสาหกรรมไม่มีที่ไหนจะไม่ตื่นตัวกับเทรนด์ความยั่งยืน ที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพราะในปัจจุบันโครงการก่อสร้างอาคาร บ้าน ถนน โรงงาน และอื่นๆ ที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการก่อสร้างแต่ละโครงการต้องอาศัยการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นน้ำ ซีเมนต์ ทรายธรรมชาติ  ที่ผสมกันกลายเป็นคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีปริมาณความต้องการใช้มากที่สุด แต่ในการบวนการผลิตคอนกรีตที่มีทั้งหิน ดิน ทรายและซีเมนต์ หากพิจารณาในกระบวนการผลิตแล้วมีส่วนที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ที่ส่งผลกระทบต่อโลกมหาศาล

ในประเทศไทย ภาครัฐได้เดินหน้าสนับสนุนการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้หันมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ซึ่งทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2556 โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่าง ๆ และมีการแบ่งชนิดครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต และงานโครงสร้างขนาดใหญ่

รวมถึงการแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่าง ๆ แล้ว จำนวน 71 มาตรฐาน อาทิ คอนกรีตทนไฟ กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยแผ่นลอน  ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จรูป  คอนกรีตบล็อกกลวงรับน้ำหนัก และคอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น  กระเบื้องหินขัดชนิดสองชั้น  เสาเข็ม คอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงหล่อสําเร็จ กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น  และคอนกรีตบล็อกประสานปูพื้น เป็นต้น

ดังนั้นในวงการอุตสากรรมปูนจึงตระหนักและหันมาพัฒนาการใช้คอนกรีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงคุณภาพสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ล่าสุด สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างไทย บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนธุรกิจคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม นำปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow กลุ่มผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน พร้อมคอนกรีตคาร์บอนต่ำมาใช้ในโครงการพฤกษาแนวราบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างที่อยู่อาศัยรักษ์โลก ยกระดับสู่การก่อสร้างสีเขียว-ยั่งยืน

มนตรี นิธิกุล

มนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานด้านความอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเป้าชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปี 2573 คือ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 25% เพิ่มศักยภาพสัดส่วนการใช้ปูนเม็ด 65% เพิ่มอัตราการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 40% และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด 50% ผ่านกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ซึ่งปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่าง ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภท GU ตามมาตรฐาน มอก. 2594-2556 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั่วไปมากกว่า 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหนึ่งตันซีเมนต์ จึงสามารถนำไปคำนวณเรตติ้งสำหรับการจัดอันดับอาคารสีเขียวได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

มนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow ยังมีคุณสมบัติเด่นอีกหลายด้าน อาทิ ช่วยเพิ่มความไหลลื่นให้กับคอนกรีตได้ดี เทเข้าแบบได้ง่าย เพิ่มความสะดวกในการทำงาน รับกำลังอัดได้สูง ใช้ได้ในงานก่อสร้างโครงสร้างทั่วไป โครงสร้างขนาดใหญ่ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์คอนกรีตหล่อสำเร็จ นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสการเกิดรอยแตกร้าวที่ผิวคอนกรีต เนื่องจากการหดตัวจากเนื้อคอนกรีตที่ละเอียดและไหลตัวได้ดี ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow จึงตอบโจทย์โครงการของพฤกษาและสร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้านของพฤกษาด้วย

เครก สจ๊วต บิ๊กคลีย์

เครก สจ๊วต บิ๊กคลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด กล่าวเสริมว่า ในการเลือกส่วนผสมของคอนกรีต ได้มีแนวคิดในการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคาร์บอนต่ำ อย่าง หินฝุ่น หากการคัดเลือกส่วนที่ดีก็สามารถนำมาแทนที่ทรายธรรมชาติได้เกือบ 100% นอกจากนี้ยังต้องมองถึงการเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทเพื่อลดการใช้วัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนา คาร์บอนเคียว (Carbon Cure) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดการใช้ซีเมนต์ ซึ่งยังคงคุณภาพของคอนกรีตไว้ได้ โดยคาร์บอนเคียว คือการจับคาร์บอนอัดฉีดเข้าไปในคอนกรีตผสมเสร็จ ซึ่งได้ทำการทดลองใช้มาปีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองหาสูตรการผสมที่เหมาะสม เพื่อขยายการใช้งานในวงกว้าง ทั้งนี้ในโครงการบ้านพฤกษาก็มีการใช้คาร์บอนเคียวมาใช้ในการผลิตพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ ที่ใช้เป็นวัสดุสำหรับในโครงการด้วย

อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต อยู่ดี มีสุข ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ แนวคิด Green to Great เดินหน้าพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของ ESG และได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยและนานาประเทศ จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรในปูนอินทรี มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเลือกใช้ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นำร่องในโครงการพฤกษาแนวราบ ปัจจุบันมีการใช้ ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow ในโครงการแนวราบ ประมาณ 327 โครงการ ซึ่งสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) เทียบเคียงกับการปลูกต้นไม้ทดแทนถึงกว่า 524,483 ต้น  

อุเทน กล่าวต่อว่า บ้านภายใต้แบรนด์พฤกษา จึงเป็นบ้านคาร์บอนต่ำ นอกจากการก่อสร้างโครงการโดยเลือกใช้ปูนรักษ์โลก ในด้านเทคโนโลยีสีเขียว ก็นำมาการผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำในการสร้างบ้าน โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญในการทำลายชั้นบรรยากาศมาฉีดกักเก็บเข้าไปในขั้นตอนการผสมคอนกรีต จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ขณะเดียวกันยังสามารถลดปริมาณการใช้ซีเมนต์ลงร้อยละ 5 แต่ยังคงประสิทธิภาพความแข็งแกร่งได้ตามมาตรฐาน ซึ่งทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ประกาศรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับ อินโน พรีคาสท์ โดยได้รับฉลาก Carbon Footprint Reduction (CFR) หรือฉลากลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นพรีคาสท์รายแรกและรายเดียวของอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ได้การรับรอง

“วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ด้วยเช่นกันที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ Carbon Footprint of Product (CFP) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ ดีไซน์บ้านที่ช่วยลดความร้อน และใช้นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงาน อาทิ โซล่าเซลล์ ระบบระบายอากาศ นวัตกรรมกรองอากาศและลดพลังงาน รองรับ EV Charger และมีบริการจากแอปพลิเคชัน MyHaus ซึ่งเป็นนวัตกรรมระบบบ้านอัจฉริยะที่ช่วยควบคุม IOT และความปลอดภัยในบ้าน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้อยู่อาศัยได้ด้วย” อุเทนกล่าว.

เพิ่มเพื่อน