ใส่บาตรพระล่องแพ 'ตลาดโอ๊ะป่อย ' สวนผึ้ง

พระล่องแพ ไฮไลท์ยามเช้าที่ตลาดโอ๊ะป่อย 

 สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กรุงเทพมาก ใช้เวลาเดินทางราวๆ 2-3 ชั่วโมง ก็ถึงแล้ว แต่ขอบอกว่าเหมือนอยู่คนละโลกกับกรุงเทพ ยังไงยังงั้น เพราะมีความสโลวไลฟ์  บรรยากาศธรรมชาติป่าเขา แม่น้ำลำธาร และยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ กรุบกริบเพิ่มเสน่ห์อีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

จุดหมายแรกมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในอ.เมืองราชบุรี เพื่อไปรู้จักกับความเป็นก่อนเริ่มท่องเที่ยวกัน อาคารที่มีการออกแบบและสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ท่ามกลาง อาคารบ้านเรือนสไตล์สมัยใหม่ แต่สีชมพูของอาคารมีความสดใสสะดุดตางดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก (baroque) เดิมทีอาคารแห่งนี้คือศาลากลางจังหวัดหลังแรกของราชบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2520 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 มีการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โดยมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของจ.ราชบุรี

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจยวร ปลัดวธ. ใส่บาตรพระยามเช้า ร่วมกับนักท่องเที่ยว

 ด้านในแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี ห้องถัดมาคือ ก่อนประวัติศาสตร์และโบราณคดีราชบุรี ตั้งแต่สมัยทราวดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูกมนุษย์จริง เศียรพระพุทธรูปศิลา พระอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุ 5 องค์ ที่พบบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 ตำบลคูบัว ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  ราชบุรียังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ซึ่งในห้องจัดแสดงมีหลักฐานแสดงให้เห็นคือ ซุ้มพระพุทธรูปบนกำแพงแลง วัดมหาธาตุ รูปปูนปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งพบเพียงร่างท่อนกลาง ในสมัยอยุธยามีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ส่วนองค์พระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย  ถัดมายังห้องเผ่าชนชาติพันธุ์วิทยา ที่มีเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม วิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภาคกลาง ไทยจีน ไทยยวน ไทยมอญ ไทยกะเหรี่ยง ไทยลาวโซง ไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม เรายังได้เห็นพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลราชบุรี ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ ส่วนห้องมรดกดีเด่น จะเล่าเรื่องประเพณีวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และบุคคลสำคัญ ห้องสุดท้ายเป็นการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรี

ซุ้มคังด้ง ตกแต่งสวยงามนักท่องเที่ยวถ่ายรูปน่ารัก

จากในเมืองเรามุ่งหน้าต่อไปยังบ้านท่ามะขาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางไฮไลท์ของทริปนี้ เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมได้คัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถีประจำปี  2566 เสน่ห์ของบ้านท่ามะขาม ก็คือ เป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ด้วยแข็งแรงและร่วมมือร่วมใจของคนภายในชุมชนจึงมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ ตลาดโอ๊ะป่อย  วัดป่าท่ามะขาม และตบสดไกวเปล ที่สะท้อนความอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนได้เป็นอย่างดี

เตรียมสำรับสำหรับใส่บาตร

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม ถือเป็นชุมชนที่มีผู้นำ พลังบวร และเครือข่ายในการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความสุข มีความรักสามัคคี  มีการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพมีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน

ผู้ใหญ่บ้านเป่าเขาควาย สัญญาณขบวนพระล่องแพ

 มาถึงบ้านท่ามะขาม เข้าวัดเสริมสิริมงคลที่ วัดป่าท่ามะขาม หลายคนอาจจะเคยไปวัดป่าหลายแห่งที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ ไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตบางที่มีเพียงกุฏิสำหรับพระไว้ทำกิจวัตร หรือโบสถ์แบบเรียบง่ายเพียง 1 หลัง แต่ที่นี่คึกคักไปด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังตลาดโอ๊ะป่อย โดยวัดได้อนุญาตให้นำรถมาจอดได้ แม้จะนักท่องเที่ยวจำนวนมากแวะเวียนมาตลอด แต่วัดก็มีความสงบร่มเย็น สิ่งก่อสร้างต่างๆไม่ได้ผุดขึ้นตามความเจริญจากภายนอก มีเพียงโบสถ์หลังงามที่ดูจะเป็นไฮไลท์ของวัดแห่งนี้

ระบำเชือกของชาวกะเหรี่ยง

 โบสถ์หลังนี้ได้สร้างขึ้นแทนโบสถ์หลังเก่าที่ผุพังไปตามกาลเวลา โดยทางขึ้นสวยงามด้วยบันไดพญานาคที่ทอดยาวขึ้นไปด้านบน รูปแบบการสร้างคล้ายกับโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งโบสถ์ทั้งหลังจะก่อสร้างด้วยดินเผาทั้งหมดเคลือบความมัววาว จึงทำให้มีสีน้ำตาลมีโดดกับแสงแดดจะเห็นถึงความแวววาวงดงาม โดยรอบตัวโบสถ์จะมีการสลักเป็นพรรณไม้สวยงาม

เด็กๆชาวกะเหรี่ยง แต่งตัวน่ารัก

 ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามวัดก็ถึง โอ๊ะป่อย ตลาดเช้าสุดน่ารักริมลำน้ำภาชี เมื่อเข้ามาก็จะพบกับน้องๆ กะเหรี่ยงแต่งตัวสวยด้วยชุดประจำชาติพันธุ์มารอต้อนรับ พร้อมกับตกแต่งใบหน้าด้วยแป้งทานาคาเป็นรูปดอกไม้ให้กับนักท่องเที่ยว ภายในตลาดจะตกแต่งด้วย คังด้ง เป็นชื่อในภาษากะเหรี่ยง  แปลเป็นภาษาไทยก็คือใยแมงมุม คือการนำเส้นไหมพรมสีสันต่างๆ มาทักทอให้คล้ายกับใยแมงมุม จากเรื่องเล่าสืบต่อของชาวกะเหรี่ยง เมื่อเดินทางเข้าป่าหากพบเห็น คังด้ง ระหว่างทางให้ทำการเคารพสักการะ เพราะถือว่าเป็นการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้ปลอดภัย

ข้าวห่อกะเหรี่ยง อาหารถิ่นต้องมาชิม

 ปัจจุบันคังด้ง จะนำมาประดับเป็นใบฉัตร ในพิธีซ่งทะเดิ่ง หรือ ประเพณีแห่ฉัตรรับพระพุทธองค์ของชาวกะเหรี่ยงในช่วงหลังจากวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา ชาวกะเหรี่ยงพุทธถือเป็นโอกาสที่จะได้ขอขมาต่อพระพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองได้ละเมิดศีลและข้อห้ามต่างๆ ถือเป็นการชำระจิตใจให้ผ่องใสเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าอีกด้วย คังด้ง ยังเป็นเอกลักษณ์ของตลาดโอ๊ะป่อย เพราะมีการนำมาร้อยต่อกันทำเป็นโมบายห้อยตามจุดต่างๆ และตกแต่งเป็นซุ้มทางเดินจุดถ่ายรูปให้กับนักท่องเที่ยว เรียกได้ทั่วทุกจุดของตลาดแห่งนี้เต็มด้วยคังด้งหลากสีสันสดใสรับอากาศยามเช้าจริงๆ

นักท่องเที่ยวสาวประทับใจข้าวห่อใบตอง

 ไฮไลท์ของตลาดแห่งนี้คือ ตักบาตรพระล่องแพ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตักบาตรพระถ่อแพ ริมลำน้ำภาชีที่ใส่สะอาด มีต้นไม้และพุ่มไม้ที่ขึ้นอยู่อีกฝั่งทำให้มองดูแล้วสบายตยิ่งอากาศยามเช้ากำลังดีสายลมที่พัดอ่อนๆ ช่วยให้ประชาชนที่มานั่งรอใส่บาตรสดชื่น เมื่อทุกคนเข้าประจำที่เตรียมสำรับสำหรับใส่บาตรเรียบร้อย ก็รอฟังเสียงเป่าเขาควายจากผู้ใหญ่บ้านที่ส่งเสียงเป็นสัญญาณว่าแพใกล้เข้ามาแล้ว ภาพแพที่ค่อยๆลอยตามแรงของฝีพาย บนแพนำขบวนด้วยผู้ใหญ่บ้านที่เป่าเขาควาย แต่งองค์ทรงเครื่องหัวคล้ายเขาที่มีการผู้กด้วยผ้าบ่งบอกสถานะของความเป็นผู้นำ และพระสงฆ์จากวัดป่าท่ามะข้ามจำนวน 4 รูป ยืนด้วยท่าทางสงบนิ่งอยู่บนแพ และฝีพายอีก 2 คน เคลื่อนเข้ามายังท่าน้ำ สะท้อนถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงพุทธที่ให้ความสำคัญกับการทำบุญทำทาน

บ้าบิ่นวินเทจ ชิ้นใหญ่ๆ

หลังจากใส่บาตรเสร็จ ได้เวลามาเดินเล่นช้อปปิ้งและทานอาหารอร่อยภายในตลาดๆกัน ที่นี่จะมีของประเภทงานฝีมือมากมายไม่ว่าจะเป็นตระกร้าสาน กระเป๋าสาน เสื้อกะเหรี่ยงหากหลายรูปแบบที่ทักทอด้วยมือ โซนของกินก็มีให้เลือกหลากเมนู ไม่ว่าจะเป็น ข้าวห่อ อาหารถิ่นของชาวกะเหรี่ยง ที่ทำจากข้าวเหนียว ทานคู่กับมะพร้าวคลุกกับน้ำตาลปี๊บ โดยการกินข้าวห่อถือเป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี  คืออยู่ในราวเดือนสิงหาคม-กันยายน หรือข้าวหลาม ข้าวแกงกะเหรี่ยง บ้าบิ่นวินเทจ ข้าวปุกงา  ขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย และอื่นๆ อีกมากมายให้เลือกกินจนอิ่มท้องกันเลย ความพิเศษของตลาดโอ๊ะป่อยยังใส่ใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะภาชนะใส่อาหารจากร้านทุกร้านจะไม่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถุงที่นี่ยังมีเด็กกะเหรี่ยงอาสาที่คอยทำหน้าที่เก็บของที่นักท่องเที่ยวรับประทานไปคัดแยกก่อนทิ้ง ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างก็พยายามแยกขยะและนำไปทิ้งด้วยตนเอง เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว และมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำลายกัน  

ทางขึ้นวัดป่าท่ามะขาม
โบสถ์วัดป่าท่ามะขาม

 ไปต่อที่ตลาดไกวเปล อยู่ไม่ไกลจากตลาดโอ๊ะป่อย ที่นี่มีอีกชื่อว่าศูนย์เรียนรู้เฌอซี๊ญ่า โดยในพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนตามปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีการปรับตกแต่งพื้นที่ให้มีความน่ารัก ซึ่งในพื้นที่จะมีต้นหมากสูงยาวใหญ่แผ่ใบปกคลุมให้ร่มเงา ชาวบ้านจึงได้มีการนำเปลมาผูก ตกแต่งและสามารถนั่งหรือนอนรับลมเย็นๆได้ด้วย ร้านค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นของคนในชุมชน แต่อาจจะไม่มากเท่าตลาดโอ๊ะป่อย แต่หากต้องการความสงบนั่งรับลมริมน้ำชิวๆ ที่นี่ก็ไม่ควรพลาดนะ

 จบทริปที่บ้านท่ามะขาม ทำให้เราได้เข้าใจเลยว่าทำไมที่นี่ถึงเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี เพราะพลังความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจกันของตนในชุมชนที่ได้สรรสร้างแหล่งท่องเที่ยว สอดแทรกเรื่องราวของวิถีชีวิตวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเปิดประสบการณ์ใหม่ๆอีกมากมาย

ต้มหมากสูงใหญ่ที่ตลาดไกวเปล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กตู่’ เหน็บพวก 3 นิ้ว อีก 2 นิ้วหาย ไล่ไปหาหมอป่วยหรือไม่

นายกฯ บอกไม่โกรธกลุ่มเห็นต่าง คนไทยด้วยกัน  แต่เหน็บพวก 3 นิ้วอีก 2 นิ้วหาย ไล่ไปหาหมอป่วยหรือไม่  ฝากผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน ลั่นไม่ได้สั่งอะไรโง่ๆ อยู่ 8 ปี ยันมีคณะทำงานสั่งในสิ่งที่ถูกต้อง-ไม่ทุจริต

ผบ.พล.พัฒนา1 ปล่อยผี 'วิโมกสิวาลัย' ให้เร่งแก้เป็นมูลนิธิใน 30 วัน

ผบ.พล.พัฒนา 1 ชี้ศูนย์ปฏิบัติธรรมสถานวิโมกสิวาลัยต้องทำให้ถูกต้องใน 30 วันที่จะตั้งเป็นมูลนิธิฯ เผยเป็นหน้าที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลัง บอกไม่แจ้งดำเนินคดี เพราะหวั่นกระทบชาวบ้าน

'เจ้าอาวาสวัดท่าไม้' แจงเหตุย้ายสถานที่ ยืนยัน 'ไฮโซปอ-โรเบิร์ต' บวชแล้ว!

หลังจากมีข่าวลือว่าทางไฮโซปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และ โรเบิร์ต-ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ ได้เปลี่ยนสถานที่บวชพราหมณ์ ไม่ได้มาที่วัดท่าไม้แล้ว ล่าสุดวันนี้ หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ได้สัมภาษณ์ พระญาณวิกรม หรือ พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ และ หลวงพี่แซม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในรายการโหนกระแส โดยทั้งสองท่านยืนยันว่าไฮโซปอกับโรเบิร์ตได้บวชพราหมณ์เรียบร้อยแล้วเมื่อเช้าวันนี้ที่สถานปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นสาขาของทางวัดท่าไม้ ตั้งอยู่ในเขาที่สวนผึ้ง