'WHA' เปิดต้นแบบเมืองอุตฯอัจฉริยะสีเขียว

Mega Logistics Center ในจ.สมุทรปราการ

โมเดลการทำธุรกิจบนความยั่งยืน หรือแนวคิดการทำธุรกิจที่มีแนวคิด ESG  (Environmental Social Governance ) ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเทรนด์หรือกระแสที่มาแบบฉาบฉวย แต่เรื่อง “ความยั่งยืน” คือ “การสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐาน” ในการทำธุรกิจให้เติบโตครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยังเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ

 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่าง ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และบริการด้านดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พร้อมจะก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ที่มีมากกว่า 70 แห่ง  ล่าสุด ดับบลิวเอชเอ ได้เปิดต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว จากการบริหารจัดการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยพร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียวระบบกรีนโลจิสติกส์ (Green Logistics) ด้วยการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศรายแรกของไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อม ตลอดจนการใช้พลังงานและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อส่งเสริมการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคนทั้งชุมชน สังคม และประเทศ

จรีพร จารุกรสกุล

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาที่หลายคนพูดถึงภาวะโลกร้อน จนตอนนี้กลายเป็นโลกเดือด ซึ่งนับว่าช้าไปมากในการแก้ปัญหานี้ ดังนั้นในธุรกิจของ ดับบลิวเอชเอ สนใจเรื่องของสภาวะของโลกมานานมาก เนื่องจากธุรกิจอาจจะส่งให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหากมีการบริหารจัดการที่ไม่ดี ดังนั้นการคำนึงถึงการทำธุรกิจจะต้องสอดคล้องกับแนวคิด ESG ซึ่งอยู่ในสายเลือดของบริษัท เพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ดังนั้นในกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน จึงเริ่มมีการใช้พลังงานสะอาดสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่ปี 2021 พร้อมตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ในปี 2050 ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด นวัตกรรม และกรีนโซลูชั่น  รวมไปถึงการพัฒนา AI Transformation ในการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ต่อยอดพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน โดยในปีนี้ได้ลงทุนด้านความยั่งยืนกว่า 25,000 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในกลุ่ม สาธารณูปโภคด้านไฟฟ้ารวมกว่า 8 พันล้านบาท ด้านโซลูชั่นเพื่อให้บริการด้านสมาร์ทกรีนโลจิสติกส์ Mobilix สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยราว 5 พันล้านบาท

ด้านในอาคาร Mega Logistics Center อาคาร B

“รวมไปถึงพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) เพื่อโดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่  Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security สะท้อนการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนผ่านจากผู้ให้บริการด้านผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน สู่บริษัทด้านเทคโนโลยี ภายในสิ้นปีนี้”  จรีพร กล่าว

จรีพร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือ การใช้น้ำ อย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบ ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม รวมไปถึงจัดหาแหล่งน้ำสํารอง และดูแลคุณภาพน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกพื้นที่อุตสาหกรรม ในฐานะผู้ให้บริการและผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และผู้ให้บริการบําบัดน้ำเสียครบวงจร มีการวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ และเพื่อส่งเสริมทรัพยากรน้ำให้กับชุมชนข้างเคียง ด้วยแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการจัดหาแหล่งน้ำ การผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การบําบัดน้ำเสีย และการนําน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การลดการสูญเสียน้ำในระบบผลิตและจ่ายน้ำ รวมถึงการนํานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้บริหารจัดการน้ำอย่างหลากหลาย ได้แก่ กระบวนการอัลตราฟิลเตรชันและรีเวิร์สออสโมซิส ระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง แบบใช้ถังตกตะกอน แบบบึงประดิษฐ์ และแบบบ่อเติมอากาศ ตลอดจนริเริ่มโครงการ Clean Water For Planet เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบบําบัดน้ำเสียให้ชุมชนโดยรอบและบุคคลภายนอก

บ่อเติมอากาศ เพื่อบำบัดน้ำเสีย

จากโครงการนำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ที่ริเริ่มในปี 2560 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จนถึงปัจจุบัน ระบบของดับบลิวเอชเอมีกำลังในการบำบัดน้ำเสียรวมกันถึงกว่า 36,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งในปี 2023 ลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 7,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 84 ล้านบาท เทียบเท่ากับการใช้น้ำของจำนวนประชากรกว่า 2 แสนคน และตั้งเป้าหมายในการลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 21,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2027  ลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 242 ล้านบาท เทียบเท่ากับการใช้น้ำของประชากรกว่า 5.7 แสนคน พร้อมวางเป้าหมายลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้ 83,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในปี 2028 นอกจากนั้นยังมีโครงการ Demineralized Reclaimed Water ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำทางเลือก โดยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากระบบบําบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นน้ำเพื่ออุตสาหกรรมปราศจากแร่ธาตุจําหน่ายให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เครื่องบำบัดน้ำเสีย 

ในส่วนการลดพลังงานไฟฟ้า จรีพร กล่าวว่า เน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ และตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายรูปแบบ อาทิ Floating Solar โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง ที่มีขนาดไฟฟ้ารวม 8 เมกะวัตต์, Solar Carpark โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) มีขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์ และ Solar Rooftop โครงการผลิตไฟฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคาโรงงาน ที่ ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) มีขนาดไฟฟ้ารวม 24.25T เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนขยายโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ อย่างต่อเนื่อง

ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์

ในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า นอกจากในปี 2050 จะมุ่งมั่นเป็น Net Zero ยังรวมไปถึงการเป็น Circularity Goal 100% โดยมีแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและวัตถุดิบรีไซเคิลในการก่อสร้าง การผลิตทำให้สามารถกำจัดของเสียได้ สำรวจและค้นคว้าสิ่งใหม่เช่น นวัตกรรม วัสดุ โซลูชั่นใหม่เพื่อยืดอายุวัสดุและผลิตภัณฑ์ ร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ หน่วยงานกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น โดยดับบลิวเอชเอ ได้ดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แนวทาง Mission to the Sun ทั้งในเรื่องของนวัตกรรมหมุนเวียน หรือ การกำจัดและการบำบัดของเสีย โดยลดการฝั่งกลบ สร้างตลาดออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อแหล่งกำเนิดขยะ ผู้บริโภค และผู้แปรรูป ผ่านการเสนอรูปการขนส่ง การชำระเงิน การปฏิบัติตามกฎระเบียบและแดชบอร์ดสำหรับขยะประเภทต่างๆ รวมถึงน้ำเสีย ขยะมูลฝอย โดยเป้าหมายในปี 2024 คาดว่าจะสามารถเก็บขยะพลาสติกจากลูกค้าเพื่อรีไซเคิลได้ราวๆ 1.2 ล้านกิโลกรัม จากลูกค้าไม่น้อยกว่า 100 ราย  สู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่านแพลตฟอร์มของดับบลิวเอชเอ ตั้งแต่การลงทะเบียน การตรวจสอบ การจับคู่ การซื้อขาย การเรียกเก็บเงิน การชำระบัญชี เป็นต้น

นอกจากนี้ในแนวทางของการสร้างต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว  ดับบลิวเอชเอ ได้สร้างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า WHA Mega Logistics Center อาคาร B ในจ.สมุทรปราการ อาคารแห่งแรกที่ได้การรับรองมาตรฐาน LEED Gold  (Leadership in Energy and Environmental Design) เกณฑ์มาตรฐานรับรองอาคารเขียว ที่ได้ยอมรับในระดับโลกจากสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council : USGBC)  เวอร์ชั่น 4.1 Building Design and Construction (V4.1 BD+C) โดยการออกแบบและพัฒนาภายใต้หลักการอาคารสีเขียว เพื่อควบคุมตั้งแต่การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จนถึงการจัดการของเสีย สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน LEED ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพของอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร ซึ่งถือเป็นการช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมคลังสินค้าของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่เพียงในกลุ่มของอุตสาหกรรม ในการสร้างสังคม ชุมชนและประเทศให้ดียิ่งขึ้น ดับบลิวเอชเอ จึงได้ริเริ่มโครงการปันกัน เพื่อช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายของชาวชุมชนในท้องถิ่นภายในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ช่วยอนุรักษ์วิชาชีพ หัตถกรรม งานประดิษฐ์ คหกรรมอาหาร อาหารพื้นบ้าน ของชุมชนท้องถิ่น และยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้แก่ชาวชุมชน อย่าง ชุมชนบ้านชากมะหาด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ได้มีการเก็บผักตบชวามาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทั้งตระกร้า กระเป๋า และเครื่องใช้อื่นๆ

เพิ่มเพื่อน