ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  หลายฝ่ายหาแนวทางแก้ปัญหาลดอุณหภูมิโลก ในวันที่ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่มีชื่อเล่นเรียกว่า “กฎหมายโลกร้อน” ซึ่งเชื่อว่า จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ  คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในปี 2567 นี้ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 แต่ทว่าในหลายหมวดหลายมาตราในร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับรัฐบาลนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นใบเบิกทางให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปัดความรับผิดชอบผ่านการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงความเหลื่อมล้ำจากระบบภาษีคาร์บอน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน เมื่อวันก่อน  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายโลกร้อนจาก  4 ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ฉบับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทส.,ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ฉบับพรรคก้าวไกล ,ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. …. ฉบับพรรคพลังประชารัฐ และร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ฉบับเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ  เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น

นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผอ.กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ผลสะท้อนออกมาสิ่งที่เราทำอยู่ยังไม่เพียงพอ แม้แต่ละประเทศจะได้ยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ไทย ไทยเคยประกาศจะลด 20-25% จากที่ปล่อยอยู่เดิม ก่อนจะยกระดับเป็น 40% ภายในปี 2030 แต่เป้าหมายโลก 43% ในขณะที่เป้าต่อไปปี 2035 ต้องยกระดับให้ได้ 60% แสดงว่า เราห่างไกลเป้าหมายที่กำหนด เป็นเหตุที่เราต้องกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใครปล่อยมากต้องรับผิดชอบ  ใครได้รับผลกระทบต้องเยียวยา ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….   จะเป็นเครื่องมือช่วยดูเป้าหมายลดก๊าซ อีกส่วนสิทธิในดำรงชีวิต สิทธิด้านสุขภาพ กฎหมายนี้เอื้อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และอีกส่วนสำคัญมากๆ กฎหมายนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของไทยต่อสาธารณะว่าเดินไปถึงไหน นอกจากนี้ กำหนดกลไกราคาคาร์บอน

ร่างกฎหมายนี้กำหนดไว้ 14 หมวด เกี่ยวกับสิทธิมนุษชน การกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศ ทั้งระยะยาวและระยะสั้น คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติกำกับดูแลการดำเนินงานเรื่องนี้ทั้งหมด แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก โดยเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดูว่าใครปล่อยเท่าไหร่ แล้วไปกำกับดูแล เค้าทำเพียงพอแล้วหรือยังเทียบกับต่างประเทศ  แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ประเด็นหลักภาคธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน กฎหมายใหม่นี้เขียนถึงระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าปล่อยเกินสิทธิต้องจ่ายหรือหาสิ่งทดแทน ระบบภาษีคาร์บอน เพื่อให้ทุกคนตระหนักความสำคัญว่าต้องจ่ายภาษี  ส่วนคาร์บอนเครดิตจะกำหนดมาตรฐานและสัดส่วน ไม่ได้ชดเชยได้ทั้งหมด เพื่อให้ลดมากที่สุด

 “ ส่วนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกฎหมายนี้ กำหนดให้ประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ และมีแผนปฏิบัติการรายสาขา 6 สาขา เกษตร น้ำ ท่องเที่ยว ทรัพยากร การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ และสาธารณสุข เป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการและเยียวยาประชาชน เงินส่วนหนึ่งจากการซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซจะเก็บเข้ากองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยประชาชนปรับตัว อีกส่วนเอื้อ SME ปรับตัวทำธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ “ นารีรัตน์ กล่าว

ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า เกษตรกรปรับตัวไม่ได้ ผลผลิตเสียหาย เจอภัยความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม ความสูญเสียรุนแรงกระทบชีวิต ต้องเลิกอาชีพไปเลย ชุมชนปกป้องทรัพยากรเผชิญความยากลำบาก มิติการปรับตัวเป็นเรื่องใหญ่ การเข้าถึงกองทุนยากมาก  มีโครงการใหญ่กระทบต่อภาวะโลกร้อน อย่างแผน PDP2024 ส่วนใหญ่เป็นพลังงานฟอสซิล โลกให้ลดลง 43% ภายใน 6 ปี ทางเดียวต้องยุติฟอสซิล เปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนทุกภาคส่วน เกษตรเชิงเดี่ยวเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงนิเวศที่ประชาชนใช้ปรับตัวลดก๊าซ ขณะนี้เราพุ่งเป้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ไม่เห็นหัวของคนเหล่านี้   เรากำลังอยู่ในยุคทุนนิยมสีเขียว จากร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับรัฐบาล ต่อไปนี้อุตสาหกรรมสามารถซื้อทรัพย์สินที่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมได้  สามารถแปลงการลดก๊าซเป็นคาร์บอนเครดิต แล้วมาชดเชยระบบการปล่อยก๊าซ ชดเชยเป็นการเปิดกลไกตลาดเข้ามาบริหาร การปล่อยก๊าซร้อยละ 60 มาจากอุตสาหกรรม  ประชากร 3 พันล้านคนเดือดร้อนกับภาวะโลกร้อน

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า  กฎหมายโลกร้อนในฉบับภาคประชาชนที่ยื่นเข้าสภาเมื่อวันก่อนยืนบนหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อม เจตนารมณ์มุ่งให้รัฐแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่เป็นภาคส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่มีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อประชาชน ชุมชน กลุ่มเปราะบาง และธรรมชาติ มุ่งปกป้องระบบนิเวศ เน้นที่หลักการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ นิยาม “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไว้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุจากพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุหลัก เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหประชาชาติ โดยเร่งเป้าหมายให้เข้าสู่คาร์บอนเป็นกลางในปี 2035 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ในปี 2050 และสามารถทบทวนให้เร็วขึ้นได้กว่าแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐเสนอต่อสหประชาชาติ

“ กฎหมายนี้แยกขาดระหว่างความรับผิดชอบและการสร้างแรงจูงใจลดก๊าซฯ ออกจากกัน จะไม่ใช้หลักการชดเชยคาร์บอนด้วยการเอาการสร้างแรงจูงใจ เช่น คาร์บอนเครดิตที่ไปลงทุนหาซื้อมาไปชดเชยกับการปล่อยคาร์บอนของตนเอง เพราะเป็นการลดทอนหรือเบี่ยงเบนความรับผิดชอบในการลดปล่อยคาร์บอนฯ ระบบความรับผิดชอบของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การถูกควบคุมจำกัดการปล่อยคาร์บอนตามเป้าหมายและการเสียภาษีคาร์บอน กองทุนเป็นอีกประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายโลกร้อน ฉบับประชาชนมีระบบแรงจูงใจจากการเข้าถึงกองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ลดการปล่อยคาร์บอนโดยเร็ว กฎหมายภาคประชาชนใช้ระบบภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ในการลดคาร์บอน โดยเฉพาะกับกลุ่มพลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมรายใหญ่ ไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ป้องกันการฟอกเขียวอันอาจเกิดจากระบบตลาดคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต และภาษีที่ได้จากภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่จะป้อนเข้ากองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่จัดสรรเพื่อแก้ไข เยียวยา ผลกระทบ ส่งเสริมการปรับตัวของประชาชน กลุ่มเปราะบางไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกองทุน “ ดร.กฤษฎา กล่าว

เวทีมีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำกฎหมายโลกเดือด รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า  ร่างกฎหมายโลกร้อน 4 ฉบับ ทั้งภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคประชาชน เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องชัดเจน  วิเคราะห์องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายให้ชัด เพื่อนำไปสู่การผลักดันกฎหมายให้บรรลุเป้าหมาย ถ้าใช้ฐานคิดเรื่องสิทธิ กระบวนการออกแบบจะชัดเจนเรื่องสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิเชิงกระบวนการ แต่ถ้าใช้การบริหารจัดการรัฐเป็นฐาน การออกกฎหมายจะยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน   อีกข้อเสนอในกฎหมายโลกร้อน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และบทลงโทษในกฎหมายต้องไปด้วยกัน รวมถึงต้องมีกลไกการตรวจสอบ  ประการสุดท้ายให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เจตนารมณ์ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้

ด้าน ร่มฉัตร วัชรรัตนากรกุล สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษญชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีมติชัดเจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญพูดถึงความไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะผลกระทบกับคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางสุ่มเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อกังวลร่วมกันของมนุษยชาติ เมื่อรัฐจะจัดการปัญหานี้ ต้องเคารพ และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รวมถึงชุมชนท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีบทบัญญัติพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  สิทธิของการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี 4 ร่างกฎหมายโลกร้อนของไทย พูดถึงผู้มีสิทธิ ผู้มีหน้าที่ และขยายถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ พันธกรณีการปรับตัว การลดปล่อยก๊าซ

“ ร่างกฎหมายที่พยายามผนวกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสิทธิมนุษยชนยังถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ หลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีร่างกฎหมายคล้ายหลายประเทศเน้นการปรับตัวเป็นหลัก ขณะที่น้อยประเทศพูดถึงหลักความสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากๆ ในกระบวนการเจรจาระหว่างประเทศตอนนี้ โดยเฉพาะผลเจรจา COP28 ให้จัดตั้งกองทุนความสูญเสีย ในเชิงสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับผลกระทบต้องมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการเยียวยา  อีกทั้งหลายประเทศพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ พลังงานหมุนเวียน การผลิตแบตเตอรี่ทดแทน การสกัดแร่ เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่พลังงานที่ยั่งยืน  ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน  .oร่างกฎหมายโลกร้อนจะมีการบัญญัติถึงกระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร หลักๆ ต้องยึดโยงกฎหมายฉบับต่างๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมือง อีกประเด็นค่าชดเชยจากการอพยพย้ายถิ่นกรณีได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนหรือภัยพิบัติต่างๆ  นอกจากนี้ ในการเข้าถึงกองทุนต้องไม่สร้างภาระหนี้สินให้กลุ่มคนเปราะบาง   “ ร่มฉัตรเสนอในการจัดทำร่างกฎหมายโลกร้อนของไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2

กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม

ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

'ดร.ธรณ์' เปิดภาพ 'ไต้ฝุ่น ยางิ' เห็น Eye of a storm ชัดเจน เหนือ อีสาน เตรียมรับมือ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

กรมลดโลกร้อน หนุน 8 แนวทางเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายฯ เน้น “รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”

กรมลดโลกร้อน ทำงานเชิงรุกเสริมแกร่งเครือข่ายภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือ จัดประชุมใหญ่เสริมความเข้มแข็ง เน้น“รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”