'อ่างกา' ป่าพรุในม่านเมฆ  บนดอยอินทนนท์                  

สูดโอโซนรับความชุ่มฉ่ำกับทิวทัศน์ป่าพรุในม่านเมฆ

ต้อนรับหน้าฝนกับการเดินท่องเที่ยวสุดโรแมนติก แม้จะมีเปียกและแฉะไปบ้าง แต่การได้เดินเที่ยวหน้าฝนสำหรับสถานที่บางแห่งนับว่ามีเสน่ห์น่าหลงใหลมากๆเลยนะ ทริปนี้เราและเพื่อนๆจะพาทุกคนไปสัมผัสป่าในม่านเมฆ เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แต่ยังเป็นห้องเรียนรู้เรื่องราวของพรรณไม้นานาชนิดอีกด้วย

จุดบอกอุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์

ก่อนจะไปผจญภัยมาทำความรู้จักอ่างกา หรือที่รู้จักกันในฉายา ป่าเมฆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฉายาที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่เพราะพื้นที่อ่างกาตั้งอยู่ดอยอินทนนท์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความหลากหลายทางระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า พืชพรรณนานาชนิด และในความพิเศษของยอดดอยแห่งนี้ คือ อ่างกา หย่อมป่าพรุนี้ ตั้งอยู่บนความสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นความสูงระดับเดียวกับก้อนเมฆ ทำให้อ่างกาเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นและอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี ระบบนิเวศของป่าแห่งนี้จึงแตกต่างจากที่อื่น และกลางผืนป่ายังเป็นแอ่งน้ำซับ

ศาลาริมทางเรียนรู้ก่อนท่องป่าอ่างกา

จากผลงานวิจัยการศึกษาละอองเรณูและสปอร์ของพืชในอดีตกาลบริเวณแอ่งพรุภูเขา บ่งชี้ว่า ผืนป่าแห่งนี้ เป็นป่าดิบเขาย้อนไปราวประมาณ 4,300 ปีก่อน อ่างกาจึงมีงดงามราวกับป่าตึกดำบรรพ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งพันธุ์พืช และสัตว์หายากหลายชนิด โดยเฉพาะนกที่มีมากกว่า 490 ชนิด ซึ่งบางชนิดพบได้ที่นี่ที่เดียว

 เมื่อได้รู้เรื่องราวคร่าวๆ ของอ่างกา เราอดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินป่า แต่การเดินป่าครั้งนี้ชวนน่าค้นหาจริงๆ มาถึงที่อ่างกาสายฝนก็ตกโปรยปราย เสื้อกันฝนสีสันฉูดฉาดสีแดงเข้มที่เตรียมถูกคลี่ออกมาสวมทับทันที อุณหภูมิที่ร่างกายได้สัมผัสกับความเย็นจนต้องเอามือกอดอกไว้ที่อ่างกาต่ำถึง 16 องศา อากาศเย็นฉ่ำๆ แบบนี้มีความแฉะอยู่บ้างนิดหน่อยก็เดินป่าได้สบายเลยนะ

ทะโล้ ต้นไม้ยักษ์ใหญ่ในป่าเมฆ

 มาถึงจุดแรกด้านหน้าทางเข้ามีศาลาพักริมทาง ซึ่งจะมีประวัติและเรื่องราวของอ่างกาให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาก่อนที่จะเดินเข้าไปด้านในและยังเป็นจุดชมวิวมุมสูงที่ทำให้ได้เห็นบรรยากาศภายในป่าที่มีสีเขียวเข้มขลับของต้นไม้สูงใหญ่ ถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกจางๆ และสายฝนที่ชะโลมผืนป่าแห่งนี้ให้สดชื่นราวกับหลุดไปอีกมิติ

เดินตามทางปูนค่อนข้างลาดชัน ระหว่างทางจะมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวพืชพรรณและสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ อย่างต้นไม้ใหญ่ที่เรามองเห็นตั้งแต่ศาลาริมทางคือทะโล้ ต้นไม้ยักษ์ใหญ่ในป่าเมฆ เป็นต้นไม้ที่ปรับตัวให้ขึ้นได้ในพื้นที่หนาวเย็น แถบเทือกเขาหิมาลัย จีนตอนใต้ผ่านไทยลงไปสู่ป่าเขตร้อนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในเมืองไทยสามารถขึ้นได้ดีในป่าที่มีภูมิอากาศร้อน อย่างป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบขึ้น และในอากาศหนาวเย็นของป่าเมฆ สามารถผสมเกสรได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยพัฒนาดอกให้มีสีขาว และยังใช้กลิ่นหอมอ่อยๆช่วยนำทางในที่มืด แต่รอบนี้ไม่เห็นดอกสีขาวมีแต่ไม้เลื้อยสีเขียวพันปกคลุมหนาแน่นทีเดียว

ส่วมชุดกันฝนเดินชมป่าอ่างกาหน้าฝน (เครดิตภาพ:soulfar)

ถึงปากทางเข้าที่เป็นสะพานไม้ จุดเริ่มต้นของการเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะเป็นการเดินวนรอบป่าแล้วมาถึงจุดทางออกเดียวกันกับทางเข้า ระยะทางรวมราวๆ 360 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที บริเวณนี่จะพบกับต้นหว้าอ่างกา ลำต้นสูงใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ตามริมน้ำในป่าเมฆ โคนต้นมีพูพอนแผ่ออก เสริมความแข็งแรงให้ทรงตัวได้ดีเมื่อต้องปะทะกับลมแรง ใบถูกสร้างให้แข็งหนาคล้ายแผ่นหนังเคลือบด้วยขี้ผึ้ง เจริญงอกงามได้ดีในที่ร่มด้วยสภาพแวดล้อมของความชื้นในดินและปริมาณแสงแดด และยังเอื้อให้กากหมากฤๅษีซึ่งเป็นกาฝากใต้ดิน มาเกาะกินอาหารที่รากด้วย ส่วนอีกด้านเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 3 ของจ.เชียงใหม่ที่ใช้ สำหรับเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งผืนป่าอ่างกา

เดินเข้ามาภายในผืนป่าอ่างกา สองข้างทางทำให้เราไม่อาจละสายตาได้เลย เพราะความงดงามของเฟิร์นที่หุ้มห่อตามต้นไม้ ราวสะพานไม้น้ำฝนเกาะคลุมทับอีกชั้นสะท้อนความเป็นธรรมชาติที่ได้รังสรรค์ความงามให้เราได้ชม ตามเนินดินเล็กจะมีข้าวตอกฤาษี หรือสแฟกนั่มมอส แหล่งกักเก็บน้ำของผืนป่า เป็นพืชไร้ดอกจำพวกมอสส์ สกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลก และเป็นเพียงชนิดเดียวที่มีชื่อภาษาไทย เติบโตได้ดีในที่ชื้นและหนาวเย็น สามารถขยายขนาดของเซลล์เพื่อรองรับน้ำ ได้ปริมาณมากถึง 8 เท่า ซากของข้าวตอกฤๅษีที่ตายแล้ว สามารถดูดซับน้ำได้ราว 20 เท่า แต่ก็มีความน่ากังวลเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลกอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของข้าวตอกฤาษีเช่นกัน

เตรียมเดินเข้าป่าอ่างกา เสน่ห์ในม่านเมฆ

มาถึงจุดไฮไลท์กับการมองหาดอกกุหลาบพันปี หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ ต้นไม้สีกุหลาบ หรือดอกคำแดง โชคดีที่เราได้เห็นดอกกุหลาบพันปี สีแดงสด 2 ดอกเล็กกำลังเบ่งบานให้ยลโฉมทามกลางม่านหมอก เสียงนกส่งเสียงจิ๊บๆ บ่งบอกว่ากุหลาบพันปีสายพันธุ์นี้เป็นแหล่งชุมนุมของนกกินปลีหางยาวเขียวที่กำลังบินไปมา สงสัยจะเขินอายที่มีกล้องหลายตัวจับจ้องทำให้เจ้านกบินหลบซ้อนตัวอยู่ตามกิ่งไม้ยากจะกดถ่ายภาพได้ทัน หยุดพักกางแขนสูดโอโซนให้เต็มปอดท่ามกลางทิวทัศน์ของป่าพรุและสายหมอก

กุหลาบพันปี ชูช่อสีแดงสดใส( เครดิตภาพ:soulfar)

เดินต่อตามทางสะพานเพลิดเพลินกับมอสส์และเฟิร์น ที่อิงอาศัยปกคลุมหนาแน่นตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ มองดูราวกับต้นไม้ใส่เสื้อ คือความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของป่าเมฆ เอาหล่ะ…คราวนี้ถึงเวลาที่ต้องอาศัยความว่องไวของประสาทสัมผัสหูและตาในการมองหานกในผืนป่าแห่งนี้ เพราะบนดอยอินทนนท์เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของนกมากกว่า 490 ชนิด จาก 1,071 ชนิดที่พบในประเทศไทย และเราก็ได้เห็นนกมุ่นรกหัวสีน้ำแดงกำลังบินเล่นเกาะไปตามกิ่งไม้ต่างๆ ตัวและสีของมันแทบจะกลืนไปหนึ่งเดียวกับกิ้งไม้ต้องสังเกตดีๆ ถึงจะสามารถมองเห็นความน่ารักได้อย่างชัดเจน

ในป่าอ่างกายังมีนกกระจิ๊ดคอเทา ที่สามารถพบได้ที่เดียวในประเทศไทย นกกินปลีหางยาวเขียวสายพันธุ์อ่างกา นกเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลก และนกเดินดงอกเทา นกพิราบป่าเขาสูง นกกระทาดงคอสีแสด และนกจู่เต้นจิ๋ว ความหลากหลายของนกสามารถบ่งชี้สภาพแวดล้อม ความสมบูรณ์ของ ระบบนิเวศของป่าแต่ละแห่งได้เป็นอย่างดี

ความงดงามของเฟิร์นที่หุ้มห่อตามกิ่งไม้

สิ่งที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่ายังมีสัตว์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ อย่าง หนูน้ำดอยอ่างกาและเพียงพอนท้องเหลือง สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก ที่มักหลบซ่อนตัวทำให้ยากแก่การสังเกต สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูทางมะพร้าวแดง ที่พบได้เฉพาะบนภูเขาสูงและเป็นหนึ่งใบสัตว์คุ้มครอง และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิด เช่น กบนิ้วปาดอินทนนท์ อึ่งกรายดอยอินทนนท์ และกระท่างภูพิงค์ ซึ่งพบอาศัยใกล้ลำธารในสภาพอากาศหนาวเย็น แต่คราวนี้ค่อนข้างที่จะมองหายากสักหน่อยด้วยสายฝนที่พร่ำตลอดเส้นทางอาจจะทำเหล่าสัตว์ทั้งหลายหลบซ้อนตัวอยู่ตามใบไม้ไม่โผล่มาให้เห็นเลย

ความน่าหลงใหลของป่าอ่างกา

 สะพานเชื่อมพาดผ่านสายน้ำที่ไหลเสาะตามก้อนหินมาจากต้นน้ำ นำพาความชุ่มชื้น ตะกอนดินอัน อุดมสมบูรณ์ ผ่านลำธาร ลัดเลาะผืนป่าไปยังปลายทาง คอยหล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิต ทั้งเหล่าสรรพสัตว์ ชนชาติพันธุ์ และคนพื้นราบ เดินมาจนถึงจุดทางออกเรารู้สึกได้เลยว่าเวลาผ่านไปไว้มาก แต่จริงๆเราใช้เวลาอยู่ในป่าเกินกว่า 30 นาที เพราะต้นไม้ทุกต้น สภาพแวดล้อมโดยรอบทำให้เราหลงใหลอยู่ในความสวยงามของธรรมชาติ แม้จะสายฝนและม่านหมอกยิ่งช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้อ่างกาเป็นอีกเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ไม่ควรพลาด

ข้าวตอกฤาษี บนเนินดินเล็กๆ
หยิบกล้องถ่ายเพลินๆตลอดทาง
จุดบอกอุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Dow ร่วมพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติไทย-สวิส ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เส้นทางธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์ พร้อมรับ นทท.

9 พ.ย. 2564- นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดําเนินการตรวจสอบอาคาร สิ่งก่อสร้าง และสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ภายในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ตามแนวทางการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ รูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พบว่ามีสิ่งอํานวยความสะดวกบางแห่ง มีความชํารุด บกพร่อง จําเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้ใช้การได้ตามปกติ