ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สุดวิจิตรประณีตศิลป์ไทย

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศไทย งานพระราชพิธีสำคัญที่จะเกิดขึ้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่พสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติต่างรอคอยที่จะเฝ้าชมวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5  ริ้ว ยาว 1,200 เมตร  กว้าง 90 เมตร  กำลังพลประจำเรือ 2,200 นาย  ถือเป็นความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวไทยและความภาคภูมิใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น  จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก

นอกจากนี้ วันที่ 27 – 29 ก.ค. 2567 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

การจัดเตรียมความพร้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทุกหน่วยงานทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อให้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันหาที่สุดมิได้ สำหรับการซ่อมแซมและประดับตกแต่งเรือพระราชพิธี 52 ลำ เป็นภารกิจสำคัญและทรงคุณค่า กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ระดมสรรพกำลังกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่  ดำเนินงานด้านแกะสลักและช่างไม้ประณีต ซ่อมไม้ที่หักชำรุดให้สมบูรณ์ตั้งแต่หัวเรือ  ลวดลายประดับข้างเรือ บัลลังค์กัลยาเรือ นอกจากนี้ มีการลงรักปิดทองประดับกระจกส่วนที่หลุดหาย ทองที่หลุดลอกเติมให้งดงามดังเดิม ส่วนสุดท้ายงานช่างเขียนและลายรดน้ำเป็นการตกแต่ง เขียนสี โขนเรือให้วิจิตรงดงาม  ขณะนี้การซ่อมแซมเรือพระราชพิธีใกล้แล้วเสร็จ

จากการตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ  กรุงเทพฯ  นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม   กล่าวว่า การอนุรักษ์ ซ่อมแซมเรือพระราชพิธี ซึ่งมีสถานะเป็นโบราณวัตถุ  และอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบ จำนวน 52 ลำ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรยึดหลักการในการอนุรักษ์เรือพระราชพิธี ให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน คงความเป็นของแท้ดั้งเดิม งดงามตามแบบฝีมือช่างไทยโบราณ สมพระเกียรติ และยังเป็นการสืบสานประเพณีการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในโลก ขณะนี้ความคืบหน้าในการซ่อมแซมเรือพระราชพิธีเกือบ 100เปอร์เซ็นต์ เหลือขั้นตอนตกแต่งและเก็บรายละเอียด มั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2567 ตามแผนงาน

รมว.วธ กล่าวว่า เรือพระราชพิธีเป็นมรดกศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก ขอเชิญชวนประชาชนมาสัมผัสความงดงามของเรือพระราชพิธีที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือพระราชพิธีแห่งเดียวของโลก นอกจากนี้ วธ.เตรียมความพร้อมสำหรับรองรับผู้ที่จะเข้าชมความงามของเรือพระราชพิธี ภายหลังพระราชพิธีฯ ด้วย ซึ่งเรือพระราชพิธีที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี 8 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือรูปสัตว์ 4 ลำ  ได้แก่ เรือเอกไชยเหิรหาว เรืออสุรวายุภักษ์ เรือครุฑเหิรเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเรื่องเรือพระราชพิธี และการจัดกระบวนเรือ ในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ของกรมศิลปากร และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ  รวมทั้งการนำเอาความสำเร็จของการจัดกิจกรรมชมพิพิธภัณฑ์ยามราตรี (Night Museum) มาประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

“ วธ.จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงเรือพระราชพิธีทั้ง 8 ลำ ในเดือนตุลาคมนี้ด้วยการติดตั้งไฟจัดแสดงเพิ่มเติม เน้นความงามของเรือพระราชพิธี ให้สอดรับกับบรรยากาศยามค่ำคืนริมคลองบางกอกน้อยอันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดแสดง แสง สี สำหรับการจัดแสดง และการจัดบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ออกแบบเป็นพิเศษ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและเดินทางเข้าชมทางเรือ คาดว่า การปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งจะเพิ่มเวลาเข้าชมจาก 16.00 น. เป็น 20.00 น. โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

เบื้องหลังความวิจิตรงดงามเรือพระราชพิธีล้วนจากฝีมือช่างศิลป์ไทย นางอัจฉริยา บุญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ในการดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมเรือพระราชพิธี ขณะนี้เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์  ซ่อมแซมเสร็จแล้ว ประกอบด้วยการซ่อมแซมโครงสร้าง การลงรัก ปิดทองประดับกระจกตามแบบศิลปะไทยโบราณ การซ่อมเรือพระราชพิธีเป็นกระจกเกรียบแบบพิเศษ  อนุรักษ์ลวดลายที่ขาดหายหรือแตกหักให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน แต่ละขั้นตอนเป็นงานประณีตศิลป์ขั้นสูง

“ ส่วนเรือพระราชพิธีที่ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ คือ  เรืออสุรวายุภักษ์ อยู่ในขั้นตอนการเขียนลายรดน้ำตามแบบลวดลายดั้งเดิม จากนั้นจะลงรัก ปิดทอง โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ 10-15 คน  จะแล้วเสร็จสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ อีกส่วนเป็นการจัดสร้างอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบเรือพระราชพิธีที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ของเดิมชำรุดเสียหาย เป็นผ้าลายทองแผ่ลวด งานประณีตศิลป์ที่คู่งานราชประเพณี  กำหนดแล้วเสร็จก่อนเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งหลังการฝึกซ้อมฝีพาย สำนักช่างสิบหมู่ต้องสำรวจเรือพระราชพิธีเป็นระยะก่อนจะมีพระราชพิธีจริง โดยการดำเนินการมุ่งอนุรักษ์คุณค่างานศิลปกรรมโบราณและเผยแพร่ความงดงามของประณีตศิลป์ของไทย  สำหรับประชาชนสามารถเข้าชมความงามของเรือพระราชพิธีที่อนุรักษ์เสร็จแล้ว รวมถึงมาดูบรรยากาศการซ่อมแซมเรือพระราชพิธีของช่างเขียนลายรดน้ำได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี  “ นางอัจฉริยา กล่าว

กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร กำหนดจัดพิธีบวงสรวงเรือพระราชพิธีจำนวน 14 ลำ ในวันที่ 2 ก.ค.2567 แบ่งเป็นเรือพระราชพิธี 8 ลำ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เขตบางกอกน้อย และเรือพระราชพิธี 6 ลำ ที่ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ก่อนจะอัญเชิญลงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ ตลอดจนบุคลากรช่างสิบหมู่ที่ร่วมแรงร่วมใจซ่อมแซมเรือพระราชพิธีจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สมพระเกียรติอย่างยิ่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซ่อมเรือพระราชพิธีใกล้เสร็จ

21 มิ.ย. 2567 - เวลา 9.15  น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ เ

สหรัฐเตรียมส่งคืนเสาสลักหินทราย'ปราสาทพนมรุ้ง'กลับไทย

18 มิ.ย.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (The Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุให้กับกรมศิลปากร จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชิ้นส่วนเสาติดผนังสลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ

ชมสำรับ'กับข้าวเจ้านาย'ในสยาม

พูดถึงตำรับอาหารชาววัง บางคนนึกถึงเมนูอาหารสุดพิถีพิถันและประณีตบรรจงในทุกขั้นตอน  บางคนนึกถึงการประดิษฐ์ประดอยอาหารคาวหวานให้มีความสวยงามน่ากิน รสอาหารกลมกล่อม ตำรับอาหารชาววังนั้นครองใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

ปักหมุดเที่ยวงาน'มรดกสยาม 3 สมัย'

14 มิ.ย.2567 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นางยุพา  ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” โดยมีนายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล รองอธิบดี

ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

เหล่าทัพได้ทำการยิงสลุตหลวง 21 นัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567

ศิลปากร รุดตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณพันปี พร้อมภาชนะดินเผา ขุดพบกลางเมืองโคราช

นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และซากภาชะดินเผา ที่ถูกขุดค้นพบขณะที่ทางเจ้าหน้าที่