ซ่อมเรือพระราชพิธีใกล้เสร็จ

วธ. ซ่อมแซมเรือพระราชพิธีใกล้เสร็จ! จัดพิธีบวงสรวง-อัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ 2 ก.ค. นี้ พัฒนาพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรือพระราชพิธีหนึ่งเดียวในโลก ดึงต่างชาติ สร้างเม็ดเงิน

21 มิ.ย. 2567 – เวลา 9.15  น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โอกาสนี้ พลเรือตรี ฉัตรชัย ศุกระศร เสนาธิการกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ผู้แทนเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ  พลเรือตรี สมบัติ จูถนอม เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ พลเรือตรี ไพฑูรย์ ปัญญสิน ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เข้าร่วม 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ การอนุรักษ์ ซ่อมแซมเรือพระราชพิธี และอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบ จำนวน 52 ลำ โดยกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการอนุรักษ์เรือพระราชพิธี  ซึ่งมีสถานะเป็นโบราณวัตถุ และการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธี ด้วยการลงรัก ปิดทองประดับกระจกตามแบบศิลปะไทยโบราณ รวมทั้งการซ่อมแซม และจัดสร้างอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบเรือพระราชพิธี โดยยึดหลักการให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน คงความเป็นของแท้ดั้งเดิม งดงามตามแบบฝีมือช่างไทยโบราณ สมพระเกียรติ และสืบสานประเพณีการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้แนวทางอนุรักษ์เรือพระราชพิธีตามแบบโบราณ  ขณะนี้การบูรณะเรือพระราชพิธีคืบหน้าเกือบ 100 %  เหลือขั้นตอนตกแต่งและเก็บรายละเอียด มั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2567 ตามแผนงาน

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า วธ.เตรียมความพร้อมสำหรับรองรับผู้ที่จะเข้าชมความงามของเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ภายหลังพระราชพิธีฯ ด้วย ซึ่งเรือพระราชพิธีที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี 8 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือรูปสัตว์ 4 ลำ  ได้แก่ เรือเอกไชยเหิรหาว เรืออสุรวายุภักษ์ เรือครุฑเหิรเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือพระราชพิธีแห่งเดียวของโลก มอบให้กรมศิลปากรจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเรื่องเรือพระราชพิธี และการจัดกระบวนเรือ ในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ของกรมศิลปากร และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ  รวมทั้งการนำเอาความสำเร็จของการจัดกิจกรรมชมพิพิธภัณฑ์ยามราตรี (Night Museum) มาประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี โดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงเรือพระราชพิธี ทั้ง 8 ลำ ในเดือนตุลาคม 2567 ด้วยการติดตั้งไฟจัดแสดงเพิ่มเติมเน้นความงามของเรือพระราชพิธี ให้สอดรับกับบรรยากาศยามค่ำคืนริมคลองบางกอกน้อย ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดแสดง แสง สี สำหรับการจัดแสดง และการจัดบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ออกแบบเป็นพิเศษ คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักท่องเที่ยว และหนุนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และเดินทางเข้าชมทางเรือ  การปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ครั้งนี้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50 % พร้อมทั้งจะเพิ่มเวลาเข้าชมจาก 16.00 น. เป็น 20.00 น. โดยจะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อไป

นาวาเอกทรงชัย จิตหวัง หัวหน้านายทหารฝ่ายอำนวยการ กรมการขนส่งทหารเรือ กล่าว ขณะนี้กองทัพเรือได้ฝึกซ้อมกำลังพล โดยรอบแรกเป็นการฝึกครูฝึกฝีพาย เพื่อทำหน้าที่นายเรือ นายท้าย และเพื่อฝึกซ้อมกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี จำนวน 2,200 นาย ซึ่งตามขั้นตอนจะมีการฝึกซ้อมการพายและเห่เรือในเรือ ในน้ำ ของหน่วยรับเรือ แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ฝึกในหน่วย 25 วัน จากนั้นเป็นการฝึกในน้ำ ตั้งแต่วันที่ 8-30 กรกฎาคม เพื่อให้ฝีพายมีความคุ้นเคยกับเรือขุด โดยไม่ได้ใช้เรือพระที่นั่ง และไม่ได้ใช้รูปสัตว์ ซึ่งถือเป็นเรือที่ทรงคุณค่าอย่างสูง หลังจากนั้นจะมีการซ้อมขบวนย่อย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม รวม 10 ครั้ง จนถึงเดือนตุลาคม จะมีการซ้อมใหญ่อีก 1 ครั้ง ก่อนจะถึงพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม ส่วนความพร้อมตัวเรือกองทัพเรือได้ดำเนินการซ่อมตัวเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์ และเรือในขบวน รวม 52 ลำ รวมเรือขุด อีก 10 ลำเป็น 62 ลำ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งมอบให้กรมศิลปากรประดับตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงาม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.

” ทางกองทัพเรือได้มีหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบวงสรวงและอัญเชิญเรือพระราชพิธีลงน้ำในวันที่ 2 ก.ค. ส่วนวันที่ 27-29 ก.ค. จะมีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญเรือพระที่นั่ง 3 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ไปผูกทุ่นประกอบการเห่เรือที่ท่าราชวรดิฐ ในวันที่ 28 -29 กรกฎาคม วันละ 2 รอบ ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นจึง ขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับชม ” นาวาเอกทรงชัย กล่าว

นางอัจฉริยา บุญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ในการดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมเรือพระราชพิธี ขณะนี้เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์  ซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยการซ่อมแซมโครงสร้าง การลงรัก ปิดทองประดับกระจกตามแบบศิลปะไทยโบราณ อนุรักษ์ลวดลายที่ขาดหายหรือแตกหักให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน แต่ละขั้นตอนเป็นงานประณีตศิลป์ขั้นสูง ส่วนเรือพระราชพิธีที่ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ คือ  เรืออสุรวายุภักษ์อยู่ในขั้นตอนการเขียนลายรดน้ำตามแบบลวดลายดั้งเดิม จากนั้นจะลงรัก ปิดทอง โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ 10-15 คน  จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2567 อีกส่วนเป็นการจัดสร้างอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบเรือพระราชพิธีที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ของเดิมชำรุดเสียหาย เป็นผ้าลายทองแผ่ลวด งานประณีตศิลป์ที่คู่งานราชประเพณี  กำหนดแล้วเสร็จก่อนเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งหลังการฝึกซ้อมฝีพาย สำนักช่างสิบหมู่ต้องสำรวจเรือพระราชพิธีเป็นระยะก่อนจะมีพระราชพิธีจริง โดยการดำเนินการมุ่งอนุรักษ์คุณค่างานศิลปกรรมโบราณและเผยแพร่ความงดงามของประณีตศิลป์ของไทย  สำหรับประชาชนสามารถมาชมความงามของเรือพระราชพิธีและเรียนรู้การซ่อมแซมเรือพระราชพิธีได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด

28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็

วธ.ส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ลุยเผยแพร่เทรนด์บุ๊กออกแบบผ้าไทยที่ภาคเหนือ ดึงดีไซเนอร์ดังหนุนฉีกกรอบ

วันที่ 28 มิ.ย.2567 นางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ดำเนินงานโครงการเสวนาวิชาการ

องคมนตรีเปิดการแสดงมหาดุริยางค์เยาวชนไทยร้อยดวงใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 27 มิ.ย.2567 เวลา 13.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการแสดงมหาดุริยางค์เยาวชนไทยร้อยดวงใจเฉลิมพระเกียรติ

เที่ยว'บ้านฟ้าหยาด' ยลวัฒนธรรมครบรส

มนต์เสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านฟ้าหยาด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย  จ.ยโสธร พร้อมใจกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเฉพาะประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกมีอัตลักษณ์คู่เมืองยโสธร  ที่คนในชุมชนนำข้าวเปลือกมาคั่วใ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สุดวิจิตรประณีตศิลป์ไทย

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศไทย งานพระราชพิธีสำคัญที่จะเกิดขึ้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

วธ.ชูSoft power อาหารถิ่น เดินหน้า‘1 จังหวัด 1 เมนู ’ เฟ้นคาว-หวาน-ของว่าง หากินยาก 77 จว.

77 จังหวัดของประเทศไทยเต็มไปด้วยอาหารอร่อย เมนูเด็ด ทั้งคาว หวาน และอาหารว่างกินเพลิน บางเมนูหาทานได้เฉพาะในจังหวัดนั้นๆ