SAF น้ำมันอากาศยานยั่งยืน บทใหม่ของพลังงานสะอาด

ภาพจากAFP :  ลูกเรือภาคพื้นดินเตรียมเครื่องบินแอร์บัส A 380-800 ของสายการบินเอมิเรตส์ ซึ่งใช้น้ำมันSAF ร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับการสาธิตการบินที่สนามบินนานาชาติดูไบในดูไบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2023

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  สภาพภูมิอากาศโลกได้เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด “อย่างชัดเจน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่บนโลก เป็นสัญญาณเตือนว่า จำเป็นต้องมีการเร่งตัวเพื่อแก้ไขสถานการณ์ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญก็คือการลดใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่เป็นตัวการหลักของการเกิดก๊าซการ์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก และจำเป็นต้องหาพลังงานรูปแบบอื่นมาทดแทน ซึ่งในภาคขนส่ง ทางบกมีทางออกด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ ดังจะเห็นได้จากกระแสรถไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่พุ่งพรวด ในตอนนี้

แต่สำหรับ ภาคการบิน จำเป็นต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล ทำให้SAF  ( Sustainable Aviation Fuel )กำลังจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีบทบาทสำคัญในการบินระหว่างประเทศ  เพราะจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และยังเป็นผลสืบเนื่องจาก หน่วยงานกำกับการบินระหว่างประเทศ  ได้แก่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil AviationOrganization, ICAO) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association,IATA) ได้กำหนดนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการบิน  โดยก่อเกิดโครงการการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน สำหรับธุรกิจการบิน (ICAO’s Carbon Offsetting and Reduction Scheme,CORSIA) ขึ้น ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและทำให้เป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ในปี ค.ศ.2035 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2050 ทั้งนี้ เพื่อลดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นไปกว่า 1.5องศา ก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม

อีกมุมของสายการบินเอมิเรตส์เครื่องแอร์บัส A 380-800 ที่่ทดลองใช้น้ำมันSAF (ภาพจาก AFP )


ขณะที่  สหภาพยุโรปก็ขยับตัวด้วยเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อออกกฎหมาย ReFuelEU AviationInitiative กำหนดให้มีการใช้SAF ภายในปี 2568  ส่งผลให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงอากาศยานสองชนิด คือ เชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป และ SAF ตามสัดส่วนที่กำหนดในแต่ละปี  ซึ่งหากสายการบินใดฝ่าฝืน จะถูกเรียกค่าปรับเข้าสู่กองทุนสนับสนุนกองทุนการบินที่ยั่งยืนและกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านเทคโนโลยีการบินที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้  กฎหมายดังกล่าวยังมีผลในการควบคุมผู้ประกอบการธุรกิจการท่าอากาศยานของสหภาพยุโรป ที่จะต้องทำรายงานการใช้ SAFของเครื่องบินที่บินลงจอดในสนามบินของประเทศภาคี ในสหภาพยุโรปอีกด้วย

SAF ดีอย่างไรต่อธุรกิจการบิน จากการศึกษาของ ICAO พบว่า  SAF เป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน สำหรับการบินระหว่างประเทศที่มีศักยภาพที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน นอกจากนี้ ผลการศึกษา นักวิชาการจำานวนหนึ่งที่ได้เปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกในวงจรชีวิตของ SAF กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากวงจรชีวิตของเชื้อเพลิงฟอสซิล  พบว่า SAF ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานที่ใช้ในปัจจุบัน โดย SAF สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 16 – 67 %ตามชนิดของวัตถุดิบตั้งต้นและกระบวนการผลิต

 การผลิตSAF สามารถทำได้จากหลายกระบวนการ เช่น FT-SPK คือ SAF ที่ผลิตจากกระบวนการFischer-Tropsch synthesized isoparaffinic kerosene (FT-SPK) ที่ผลิตจากเศษวัสดุชีวมวลจำพวกไม้ HEFA-SPK  หรือวัตถุดิบที่มาจากการนำไขมันหรือน้ำมันที่โครงสร้างแบบไตรกรีเซอไรด์ มาผ่านกระบวนการ Hydroprocessing  Hydrosiomerization และ Hydrocracking    ส่วนการใช้SAF ในสัดส่วนเท่าไหร่ ตามมาตรฐาน ASTM D7566 นั้น จะมีการผสมน้ำมันเครื่องบินทั่วไป (JET Fuel  )กับSAF ชนิด HEFA-SPK ตามมาตรฐาน ASTM D7566 หรือประกอบไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ในประเภทนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ในน้ำมันชนิด JET A


ในส่วนประเทศไทย ข้อบังคับและกฎหมายการบินระหว่างประเทศดังกล่าว จะส่งผลให้ต้องมีการใช้SAF สาหรับสายการบินที่มีปลายทางไปยุโรป หรือประเทศที่เข้าร่วมโครงการ CORSIA เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น ก็จะต้องมีการใช้SAF เป็นส่วนผสมในเชื้อเพลิงเครื่องบิน  

ช่วงแรกๆ หลังจากองค์กรการบินระหว่างประเทศ ออกข้อกำหนดเรื่องการใช้SAF เป็นเชื้อเพลิงส่วนผสม มีการประเมินว่า  หากประเทศไทยอาจจะต้องการใช้ SAFตามค่ามาตรฐานที่องค์กรการบินสากลกำหนด ก็จำเป็นต้องมีการนำเข้า SAF จากต่างประเทศเพื่อให้บริการแก่สายการบินต่างๆ ที่มีเส้นทางการบินระหว่างประเทศ หรือในกรณีที่วัตถุดิบเพื่อการผลิต SAF ภายในประเทศขาดแคลน หรือมีราคาสูงเกินไป อาจจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อผลิต SAF

โรงกลั่นบางจาก พระโขนง ที่มีการติดตั้ง เทคโนโลยีใหม่รองรับการผลิตน้ำมัน SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ยว

อย่างไรก็ดี  ประเทศไทยไม่ได้ไปถึงจุดที่ต้องนำเข้า SAF เนื่องจาก  บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ  ได้ประกาศว่าจะผลิตน้ำมัน SAF เป็นรายแรกของประเทศ กลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่งานบริหารความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ เปิดเผยว่า บางจากมีแผนที่จะผลิตน้ำมันSAF  ตั้งแต่ปี 2565  แต่เปิดตัวในปี2567 ในนามของ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ธนโชค ออยล์ไลท์ จำกัด (ทำธุรกิจน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร  )โดยมีบางจากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  เพื่อรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว มาผลิต SAF  ต้องตอบโจทย์เรื่องNet Zero  ของประเทศและของบริษัท ตลอดจนธุรกิจการบิน ซึ่งในปี2566 มีการเซ็น เอ็มโอยู กับบริษัทเทคโนโลยี ที่ใช้ในการผลิต โดยลงนามกับบริษัท เดสเม็ก จากมาเลเซีย ที่มาทำเทคโนโลยีในกระบวนการขั้นต้น  บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ฮันนี่เวลล์ ของสหรัฐอเมริกา(UOP) ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี SAF ตลอดจนร่วมกันก่อสร้างหน่วยผลิต ที่โรงกลั่นที่พระโขนง คาดว่าไตรมาส 2ของปี 2568 จะสามารถผลิตและจำหน่ายได้ ในเชิงพาณิชย์

ตามแผนการผลิตSAF ของบางจากฯ ตั้งเป้าที่จะมีน้ำมันพืชใช้แล้วป้อนเข้าโรงงาน ประมาณ 1,000,000 ลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิต SAF ได้ภายในไตรมาส 1 ปี2568  ทำให้บางจาก ฯเปิดจุดรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว162 จุด ทั่วประเทศ พร้อมกับ เดินหน้าทำข้อตกลงกับผู้ผลิตอาหารรายใหญ่หลายราย อาทิ  บริษัท เอส แอนด์พีซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ เอสแอนด์พี บริษัท นาราไทย คูซีน จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด บริษัท Hong Bao Group & Water Library Group,  บริษัท ธนโชค  น้ำมันพืช  2012 จำกัด   มาดามแม่ในเครือนารา,  ไก่ห้าดาว  รวมถึงไก่ทอดเดชา และกล้วยแขกพระราม 5  และยังมีตัวแทนร้านอาหารชื่อดังที่อยู่ในสถานีบริการบางจากหลายสาขา  เพื่อส่งต่อน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหารแล้วให้บางจากฯ

กลอยตา  ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการฯ บางจาก 

นอกจากนี้ บางจากฯยังผุดความร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  โครงการ “ไม่ทอดซ้ำ ” เพื่อรณรงค์ให้ครัวเรือนต่างๆ และผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาขายให้กับบางจากฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันSAF โดยย้ำว่าการรณรงค์แคมเปญ”ทอดไม่ซ้ำ” เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งและความดันโลหิตสูงจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพมีสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ สารโพลาร์ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

กลอยตา  กล่าวว่า การใช้น้ำมัน SAF ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล”ปริมาณ 1 ล้านลิตร/วัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ช่วยให้การจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยการนำน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหารแล้วไป Recycle เป็นน้ำมัน SAF เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแทนการนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นกองขยะ พื้นดิน ท่อน้ำ หรือแหล่งน้ำ ล้วนก่อให้เกินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดที่ผิดวิธี  จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำมัน 1,000 ล้านลิตรต่อปี มีน้ำมันเหลือจากการทอด 250–300 ล้านลิตรต่อปี  และน้ำมันที่เหลือนี้เป็นที่มาของ “น้ำมันทอดซ้ำ” ซึ่งเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายแอบแฝงในร่างกาย  ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่รู้หรือไม่ทันระวังตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกันแต่เนิ่นๆเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ  นอกจากนี้ น้ำมันพวกนี้ ยังถูกทิ้งในที่สาธารณะตามแม่น้ำลำคลองที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

“pain point การใช้น้ำมันปรุงอาหารบ้านเราคือ  ใช้ซ้ำบ่อยๆ เราจึง ต้องนำคอนเซ็ปต์ “ทอดไม่ซ้ำ “กับ “ทอดไม่ทิ้ง” หมายถึงไม่ทิ้งน้ำมันลงที่สาธารณะ  มารวมกัน เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้น้ำมัน ให้ใช้เพียง 1 ครั้่ง แล้วเอามาขายให้บางจาก มาทำเป็นน้ำมันSAF  เป็นการช่วยทำให้ Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน  เกิดขึ้นจริง   เราอยากบอกเขาว่าไม่ต้องประหยัด ทอดแค่ครั้งเดียวก็เอามาขายได้เงินกลับไป แม้น้ำมันพวกทอดปาท่องโก๋ ทอดกล้วย  ที่ทอดซ้ำจนดำปี๋ จะนำมาทำเป็น SAF ได้ แต่ในแง่สุขภาพ ถือว่าเป็นการใช้น้ำมันไม่ถูกต้อง จึงอยากให้มองในภาพรวม เพื่อไม่ต้องมารักษาตัวปลายทาง   และโครงการนี้ยังถือว่าเป็นการช่วยดึงน้ำมันพวกนี้   ออกจากวงจรการฟอกสีน้ำมัน แล้วนำมาขายให้ผู้บริโภคนำไปประกอบอาหารใหม่อีกครั้ง  ซึ่งเป้นการช่วยลดความเสี่ยงของคนไทย ดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะน้ำมันไม่ถูกทิ้งในท่อไหลออกไปตามแม่น้ำ ลำคลอง”กลอยตากล่าว

การรณรงค์ของบางจาก ให้ประชาชนนำน้ำมันใช้แล้วมาขาย เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำมันอากาศยาน

แม้จะมีการณรงค์และเปิดตัว รับซื้อน้ำมันใช้เแล้ว เพื่อผลิตSAF มาระยะหนึ่งแล้ว  แต่ผลปรากฎว่า บางจากฯ ยังไม่ได้น้ำมันตามเป้า โดยมีน้ำมันที่ใช้แล้วเข้ามาขายให้กับบางจาก ฯเพียงวันละ 2-3แสนลิตร  ยังห่างจากเป้าที่ตั้งไว้ว่าต้องได้วันละ 1ล้านลิตร ล่าสุดในการร่วมโครงการกับอีก 6องค์กรชั้นนำของประเทศไทย ในโครงการ CHOICEISYOURS ปีที่ 3 เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีความคิด และใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียน  มาประชันไอเดียเพื่อเกิดแนวทางใหม่ๆในการบริหารจัดการปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมของแต่ละองค์กร ทางบางจากฯ ได้ตั้งโจทย์ เกี่ยวกับการหาโมเดลเพื่อให้มีการนำน้ำมันใช้แล้วมาขายให้กับบางจากฯ

“จุดที่เป็นpain point น่าจะเป็นครัวเรือน ที่อาจจะต้องมีน้ำมันใช้แล้ว เล็ดรอดออกไปตามที่สาธารณะ เราจึงต้องหากลไกบางอย่างที่มีประสิทธิภาพในการดึงน้ำมันใช้แล้วจากครัวเรือน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล  แม้จะมีปั๊มบางจาก 162 สาขา ที่รับซื้อน้ำมันใช้แล้วและเครือข่ายร้านใหญ่ๆ มาได้หมด  แต่คิดว่าตามครัวเรือน หรือชุมชน ยังไม่เข้าสู่ระบบ จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไร ที่จะให้น้ำมันตามครัวเรือนต่างๆ มาถึงเรา และทำอย่างไรถึงจะทำให้เป็น Business model สำหรับชุมชนได้ เราจึงตั้งโจทย์ให้น้องๆช่วยกันคิด “

ในแง่ราคาการรับซื้อน้ำมันใช้แล้ว กลอยตา บอกว่าอยู่ที่ราคาประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท และจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันปาล์มในตลาด  ส่วนราคาน้ำมันSAF ที่คาดว่าจะออกจำหน่ายให้สายการบินต่างๆประมาณไตรมาสที่สองของปีหน้า อาจจะสูงกว่าน้ำมันอากาศยานที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ประมาณ 30-40%

“เรื่องราคา นับเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ตามหลักการ Circular Economy  ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จะต้องแพงกว่าการผลิตใหม่แน่นอน  แต่ถ้ายอมจ่ายวันนี้ ก็เพื่อมีอนาคตที่สวยงามส่งต่อให้ลูกหลาน ก็เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน ไม่เฉพาะน้ำมันเครื่องบิน จะต้องมีเรื่องภาษีคาร์บอน ที่พวกเราจะต้องช่วยกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม “กลอยตากล่าว.

ความเคลื่อนไหวล่าสุดการใช้SAF ของสายการบินในประเทศไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้เดินหน้าโครงการ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ลดการปล่อยคาร์บอนจากส่วนปฏิบัติการด้านการบิน โดยล่าสุดจับมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำร่องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ในเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ส เส้นทาง สมุย-กรุงเทพฯ พร้อมกับประกาศอีกว่า บางกอกแอร์เวย์สจะนำร่องเริ่มใช้น้ำมัน SAF ที่สัดส่วน 1% ของการใช้น้ำมันทั้งหมดในปี 2026 ซึ่งอยู่ที่ความพร้อมของฝั่งซัพพลายเออร์ด้วย โดยปัจจุบันเฉลี่ยใช้ 10 ล้านลิตรต่อเดือน 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมืองรับมือโลกเดือดไหวหรือไม่ เช็กความพร้อมชุมชน

งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม

สปสช.จับมือ 'บางจาก' ยกระดับปั๊มน้ำมันให้บริการสุขภาพครบวงจร!

รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มช่องทางให้บริการสาธารณสุข จับมือบางจากฯ ยกระดับปั๊มน้ำมันเปิดจุดบริการสุขภาพครบวงจร ร่วมขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่

OR จับมือ ไทย เวียตเจ็ท ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ก้าวสู่การบินคาร์บอนต่ำ สร้างสังคมสะอาดอย่างยั่งยืน

OR ร่วมกับ ไทย เวียตเจ็ท นำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) มาใช้ในการบิน เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท

“สมาคมเพื่อนชุมชน” ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก

สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมมือกับจังหวัดระยอง ภายใต้คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จัดอบรม “แนวทางการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก

‘ดร.ธรณ์’ ชี้ธรรมชาติรับไม่ไหวแล้ว แจ้งเตือนรับมือฝนโลกร้อน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat"