ความเป็นเมืองเก่าที่ผสมผสานวัฒนธรรมที่เรียกว่า ชิโน-โปรตุกีส ของจังหวัดภูเก็ต ทำให้จังหวัดไม่ได้มีดีแค่ธรรมชาติ ท้องทะเลที่สวยเลื่องชื่อเท่านั้น แต่ย่านในเมืองก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน เพราะอุดมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน โปรตุกีสที่ยังปรากฎให้เห็น
แต่เรายังไม่ไปท่องเมือง เพราะจุดหมายแรกเติมพลังบุญกันก่อนที่ วัดพระทอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ วัดพระผุด ตั้งอยู่ในอ.ถลาง เมื่อมาถึงเชื่อว่าหลายคนมองจากภายนอกอาจจะดูคล้ายกับวัดทั่วไป แต่ไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ คือ หลวงพ่อพระทอง หรือ พระผุด เป็นพระพุทธองค์ใหญ่สีทองอร่ามที่โผล่พ้นพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พระผุด เป็นองค์พระพุทธรูปทองคำ โผล่แต่เพียงพระเกตุมาลา อยู่ใต้องค์พระพุทธรูปพระทองครึ่งองค์ องค์จริงมีเพียงพระเกตุมาลาจากพื้นดิน สูงประมาณ 1 ศอก จึงได้มีรูปจำลองก่อสวมทับไว้แบบครึ่งองค์ ส่วนคนจีนในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงเรียกว่า ภู่ปุ๊ค หรือ พู่ฮุก เพราะเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาจากเมืองจีน
ประวัติความเป็นมาของพระผุด ยังไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ซัด แต่มีความเชื่อว่าชาวธิเบตที่ชนะสงครามจีน ได้นำพระผุดขึ้นเรือกลับประเทศ แต่เกิดเรือล่ม จึงทำให้เกิดเป็นเกาะภูเก็ต และพบพระผุดที่โผล่เพียงพระเกตุมาโผล่จากดิน อยู่กลางทุ่ง จนมีเด็กชายคนหนึ่งนำเชือกผูกกระบือไว้ที่พระเกตุมาลา ต่อมาเด็กชายและกระบือก็ได้เสียชีวิต พอทราบสาเหตุก็แจ้งเจ้าเมืองและได้มีการขุดพระผุด แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถเคลื่อนย้าย ได้ ต่อมามีชีปะขาวและชาวบ้าน เกรงว่าจะมีคนร้ายมาลักลอบขุด หรือตัดพระเกตุมาลา จึงได้นำเปลือกหอยทะเลมาเผา ทำเป็นปูนขาวผสมกับ ทรายมาโบกครอบทับพระเกตุมาลาของพระพุทธรูปทองคำไว้
ต่อมาในสมัยที่เกิดสงครามไทยกับพม่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้มารื้อปูนขาวออก จนเห็นพระเกตุมาลาของพระพุทธรูปทองคำผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ก็พยายามที่จะขุดจนสามารถขุดลงไปได้จนถึงพระศอ แต่ก็ไม่สามารถขุดลงไปได้ทั้งองค์ เพราะเกิดอุปสรรคต่างๆ นานา หลังจากนั้นได้มีพระธุดงค์มาพบว่ามีพระผุดโผล่ จึงได้ก่อองค์พระพุทธรูปปูนขึ้นสวมทับพระผุดที่เป็นทองคำดังกล่าว แต่สร้างเพียงครึ่งองค์ คือตั้งแต่พระอุระขึ้นไปมาสวมทับไว้ ดูคล้ายกับเป็นพระพุทธรูปผุดขึ้นมาจากพื้นดิน และได้มีการสร้างวัดขึ้น โดยมีพระผุด เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระธุดงค์รูปนี้ก็คือ หลวงพ่อสิงห์ ได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของแห่งนี้
อิ่มบุญแล้วก็มาอิ่มเอมใจที่ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต แม้จะชื่อว่าย่านเมืองเก่า แต่สถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันกับคึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งขาวไทยและต่างชาติมาเดินชมความสวยงามของอาคารสีสันสดใสที่ตั้งเรียงรายเลียบสองฝั่งถนน ซึ่งพื้นเพดั้งเดิมของย่านนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเป็นมากว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคภูเก็ตเมืองแห่งเหมืองแร่อันรุ่งเรือง มีการเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป การเข้าของชาวต่างชาติทั้งหลาย จึงทำให้เกิดอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร สถาปัตยกรรม อย่างที่เราได้เห็นกันในย่านเมืองเก่าที่อาคารจะเป็นสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งในอดีตเรียกได้ว่าได้รับความนิยมแพร่หลายในแหลมมลายู และมีการก่อสร้างเป็นจำนวนมากในย่านเมืองเก่าภูเก็ต
อาคารสไตล์ชิโน-ยูโรเปี้ยน ส่วนใหญ่ในเมืองเก่าภูเก็ต จะเป็นตึกสูง 2-3 ชั้น ด้านในตัวอาคารจะมีรูปแบบการใช้สอยเป็นแบบกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย ซึ่งพื้นที่ด้านหน้าจะส่วนของร้านค้า การออกแบบตกแต่งของอาคารจะลักษณะโค้งเว้า หน้าจั่วบ้านบางหลังก็จะมีการตกแต่งลวดลายดอกไม้สวยงาม แต่ปัจจุบันย่านเมืองเก่าแห่งนี้ได้ถูกเนรมิตรให้มีสีสันงดงาม เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเส้นทางให้เลือกเดินชม 6 เส้นทางหลักๆ ได้แก่ 1.ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎา และถนนระนอง 2.ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี 3. ถนนถลาง 4.ถนนกระบี่ และถนนสตูล 5.ถนนดีบุก ถนนเยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ และซอยรมณี 6.ถนนกระษัตรี
ในทริปนี้เราพาไปลัดเลาะกันที่แลนด์มาร์คสุดโดดเด่นที่สี่แยกถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี แยกนี้เรียกได้ฮอตฮิตมากๆ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกับอาคารสีเหลือง ซึ่งมี 2 อาคาร ฝั่งถนนพังงา ที่เดิมเป็นธนาคารชาร์เตอร์ด มีรูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยูโรเปียน ในรูปแบบบริติชโคโลเนียลสไตล์ ตัวอาคารเป็นรูปแบบสี่เหลี่ยมพื้นผ้าแบบโรมัน หลังคาทรงปั้นหยา เสาอาคารเป็นแบบโดริก อาคารแห่งนี้ได้เปลี่ยนการใช้งานไปตามยุคสมัย อีกด้านหนึ่งคือ หอนาฬิกาพรหมเทพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของย่านเมืองเก่าภูเก็ต รูปแบบของสถาปัตยกรรมคล้ายกับอาคารธนาคารชาร์เตอร์ด มีลักษณะเป็น 2 ชั้น และมีหอนาฬิกาโดดเด่นที่สูงถึง 4 ชั้น ปัจจุบันอาคารทั้งหมด2 หลัง ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าของชาวพื้นถิ่นภูเก็ต หรือ ชาวเพอรานากัน ที่มีการนำเสนออย่างน่าสนใจ
เดินข้ามแยกมุ่งหน้าไปยังถนนถลางและซอยรมณีย์ ที่ขวักไขว่ไปด้วยผู้คนและรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สวนกันไปมา แต่ก็อบอวลไปสีสันของอาคารที่ตั้งเรียงรายริมสองฝั่งถนน ด้านหน้าของอาคารแต่บางหลังถูกปรับโฉมให้เป็นร้านคาเฟ่เก๋ๆ มากมาย อย่างร้านตรงหัวมุมซอยรมณีย์ ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มุงถ่ายรูปกับดอกไม้สีชมพู มีเครือไม้เรื่อยพาดพาด ซึ่งทางร้านได้นำมาตกแต่งด้านนอกผนังขอร้านอย่างสวยงาม ยังมีร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าทั้งแบบสมัยใหม่ และผ้าบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และยังมีอาคารบางหลังที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ให้เราได้เห็นเค้าโครงของสถาปัตยกรรมในอดีตยอดนิยม ในย่านเมืองเก่ายังมีถนนให้เดินชมความงดงามอีกหลายสาย แม้ว่าครั้งนี้อาจจะไปไม่ครบทุกเส้นทาง แต่เชื่อว่าหากใครที่ได้มาเยือนล้วนต้องได้ภาพความประทับใจกลับไปแน่นอน
มาต่อยังที่สุดท้าย ณ บ้านอาจ้อ ในอ.ถลาง สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และร้านกาแฟชื่อดังในภูเก็ต หากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงบันเทิง จะรู้ว่าบ้านหลังนี้คือสถานที่จัดพิธีวิวาห์บาบ๋า ของปอย-ตรีชฎา และ โอ๊ค – บรรลุ หงษ์หยก ซึ่งเจ้าบ่าวเป็นทายาทของบ้านอาจ้อนั้นเอง เมื่อได้มีโอกาสเดินทางมาลิ้มรสอาหารที่บ้านอาจ้อในยามเย็น พี่จุ๋ม – อรสา โตสว่าง สมาชิกในครอบครัวหงษ์หยก ผู้ออกแบบบ้านในช่วงรีโนเวท และเป็นน้าของสัจจ หงษ์หยก ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ในปัจจุบัน สุดใจดีก็ได้พาเราเดินชมบ้านด้วย
สำหรับร้านอาหารมีทั้งส่วนที่ตั้งอยู่โซนในบ้านและด้านนอกในบริเวณบ้าน เพื่อรองรับแขกได้อย่างเพียงพอ และมีส่วนตัวบ้านที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ตัวบ้านสีขาวให้ความรู้สึกอบอุ่นสไตล์แบบชิโน-โปรตุกิส สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2479 ปัจจุบันอายุของบ้านหลังนี้ 88 ปีแล้ว สัมผัสได้จากด้านในของบ้านที่ยังมีโครงสร้างแบบดั้งเดิม พี่จุ๋ม เล่าว่า อาจ้อ แปลว่า ทวด ในภาษาจีนฮกเกี้ยน บ้านหลังนี้เจ้าของคือหลวงอนุภาษภูเก็ตการ หรือ จิ้นหงวน หงษ์หยก ซึ่งเป็นทวด ผู้บุกเบิกการทำธุรกิจเหมืองแร่ในภูเก็ตที่เฟื่องฟู โดยบ้านหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศระหว่างมาดูแลธุรกิจเหมืองเจ้าฟ้าและเหมืองที่พังงา บ้านที่อยู่อาศัยจริงๆ จะอยู่ในเมืองภูเก็ต ต่อมาบ้านหลังนี้ก็มีลูกชายและภรรยามาอาศัย ก่อนที่ในปีพ.ศ.2522 จะย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านในตัวเมือง ทำให้บ้านอาจ้อถูกทิ้งร้างไปเกือบ 40 ปี
ต่อมาในปีพ.ศ.2559 ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลหงษ์หยก ได้กลับปลุกให้บ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยการรีโนเวทเป็นทั้งร้านอาหาร ที่พัก และพิพิธภัณฑ์ โครงสร้างของบ้านหลังนี้มีลักษณะตัวบ้านอยู่ตรงกลาง และมีปีกยื่นออกไปจากตัวบ้านซ้ายขวา คล้ายกับค้างคาวที่กำลังบิน ซึ่งเป็นความเชื่อในการสร้างบ้านของคนจีนว่าที่ไหนมีค้างคาวที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ภายในบ้านยังได้กลิ่นอายของการออกแบบผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและฝรั่ง แม้จะมีการรีโนเวทแต่โครงสร้างหรืเข้ามาอข้าวของเครื่องใช้บางส่วนยังคงเดิมไว้เกือบทั้งหมด
เข้ามาที่ส่วนของชั้นล่างโถงกลางบ้านจะใช้เพื่อรับแขก จุดสังเกตวัฒนธรรมของที่ซ้อนอยู่ภายในบ้านคือ กระเบื้องลายดอกไม้ที่ปูอยู่บริเวณขอบประตูทางเข้าห้องหรือทางเชื่อมไปยังพื้นที่บ้าน เป็นนัยยะบ่งบอกถึงเขตแดนที่แขกผู้มาเยือนไม่สามารถที่จะข้ามไปยังส่วนอื่นๆในบ้านได้ เมื่อมองยังผนังกลาฝบ้านจะพบภาพจิตรกรรมดอกโบตั๋นสีชมพูเบ่งบานงดงาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัว และเป็นโลโก้ของบ้านหลังนี้ แสดงถึงความสุข หากสังเกตๆดีตรงกลางดอกจะเป็นภาพของหญิงสาวที่สื่อถึงอาจ้อหญิง ภรรยาของทวดอีกด้วย นอกจากนี้ทางซ้ายมือยังเป็นห้องนอนของทวด อยู่ในทิศตะวันออก อิงตามหลักฮวงจุ้ยของมังกร ตอนนี้ได้กลายเป็นห้องจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกต่างๆ รวมไปถึงห้องทำงานที่ได้จัดแสดงของเก่าในอดีตที่หาชมได้ยาก ห้องสูบฝิ่น ห้องนั่งเล่น ยังมีการจัดแสดงภาพของครอบครัวหงษ์หยกในโอกาสต่างๆ จำนวนหลายภาพ โต๊ะ เก้าอี้แบบดั้งเดิม โซนแต่งตัวที่อยู่ด้านหลังจิตรกรรมดอกโบตั๋น มีการจัดแสดงเครื่องหอม เครื่องสำอางที่มีทั้งของไทยและฝรั่งใช้ในการชะโลมร่างกายให้มีกลิ่นหอม และโซนห้องครัว ที่ปัจจุบันคือร้านอาหาร มีชื่อว่า โต๊ะแดง
เดินขึ้นไปบนชั้นบนจะมี 5 ห้องนอน แบ่งเป็นห้องหอของอาม่าและอากง มีการจัดแสดงชุดแต่งงาน การจัดเตียงนอนสำหรับคู่บ่าวสาว ส่วนห้องของลูกๆ ได้ทำเป็นห้องพักแบบโฮมสเตย์สำหรับแขก 1 ห้อง มีการตกแต่งแบบเรียบง่าย เสมือนให้แขกเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ ตรงกลางชั้นบนมีความโปร่งสบาย มีการจัดแสดงชุดแต่งกายบ่าวสาว ชุดไปรเวท และห้องสาวใช้ เป็นโอกาสที่ดีที่พี่จุ๋มได้เปิดให้ชมห้องใต้หลังคา ที่มีเครื่องดนตรีของอากง ไม้เท้ารูปแบบต่างๆ และมุมโต๊ะหมู่บูชาที่มีความขลัง และห้องใต้หลังคา เมื่อเดินชมและฟังความเป็นมาของบ้านหลังนี้อย่างเพลิดเพลิน รับรู้ได้ถึงความอบอุ่น ความสวยงามของสถาปัตยกรรม และความเชื่อของชาวจีนที่ทุกอย่างที่สร้างขึ้นภายในบ้านล้วนสื่อถึงความหมายอันเป็นมงคลที่ส่งผ่านมาให้เราได้ชมในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ยอมรับแล้ว! ดอดพบ 'อันวาร์' บนเรือยอชต์กลางทะเล
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวสะพัดขึ้นเรือยอชต์จาก จ.ภูเก็ต ไปเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม
จับ 'หนุ่มออสเตรีย' ขับเจ็ตสกี ชนนักท่องเที่ยวรัสเซียดับ
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา สภ.กะรน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. สถานีตำรวจภูธรกะรน
'ในหลวง-พระราชินี' เสด็จฯ ไปงานแข่งขันเรือใบ 'ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า'
เมื่อเวลา 07.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติ
'ไทยซีเนียร์'จัดกอล์ฟนานาชาติ 'โซโก้ มาเลเซีย ซีเนียร์' มอบทุนฯให้โรงเรียนในภูเก็ต
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.67 ที่ี่สนามกอล์ฟ ภูเก็ต คันทรี คลับ จ.ภูเก็ต นายสุทิน ดรุณโยธิน นายกสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพอาวุโสไทย เป็นประธานแถลงข่าวจัดกอล์ฟ ไทย ซีเนียร์ ทัวร์ ระดับนานานาชาติ รายการ "โซโก้ มาเลเซีย ซีเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ 2024" ชิงเงินรางวัลรวม 2 ล้านบาท แข่งขันที่สนามกอล์ฟ ภูเก็ต คันทรี คลับ จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.67 รับเกียรติจาก พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ รวมถึงตัวแทนจากผู้สนับสนุน และนักอล์ฟสมาชิกในทัวร์ ร่วมมอบทุนด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนเขตพื้นที่ อ.กะทู้ และ อ.ป่าตอง จำนวน 1 แสนบาท