จุดไหนที่ไทยต้องเร่งเครื่อง   เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

การสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   เป็นตัวแปรหลักที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและเหมาะสม ในวงเสวนา “Thailand Competitiveness Forum 2024” ที่จัดขึ้นโดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถในการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายและกลไกการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกัน จึงจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาด้านศักยภาพบุคลากรในหลากหลายมิติ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จากการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถด้านการแข่งขัน จากสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ในปีพ.ศ.2566 ซึ่งที่ผ่านมา อว.ได้ออกนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ อว. for EV ในการสร้างคนเพื่อตอบสนองในอุตสาหกรรมยานยนต์ EV,  อว. for AI ได้มีแนวทางในการทำ AI for Education การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด

ศุภมาส อิศรภักดี

อีกทั้งยังมีแผนที่จะพัฒนา AI Teacher ผ่านการใช้ในแพลตฟอร์ม Thai MOOC ที่มีอยู่แล้วให้นักเรียนสามารถเรียนวิชาต่างๆ เสมือนกับการเรียนตัวต่อตัวกับติวเตอร์ โดยมีทั้งวิชาพื้นฐานและLifelong Learning ที่ไม่เพียงแค่นักเรียนแต่สามารถใช้งานได้ทุกคน เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาซึ่งอยู่ในระหว่างการวางแผนงาน และมีการวางเป้าหมายให้นักศึกษาในระดับชั้นปี 2 สามารถใช้ AI เป็นทุกคน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ได้อย่างน้อยกว่า 30,000 คน ในช่วง 3 ปีนับจากนี้ และ อว. for  Semiconductor ในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี  เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ในนำอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างการลงทุนในประเทศ

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เดีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทดโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันองค์กรของประเทศไทย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันองค์กร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และหวังว่า มจธ. จะเป็นตัวกลางสำคัญใสการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย กับภาคอุตสหากรรม  เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาองค์กร และพัฒนาประเทศ ตลอดจนสร้าเครือข่ายเพื่อไปสู่ความร่วมมือในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.วัชพจน์ ทรัพย์สงวนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) กล่าวว่า  โจทย์สำคัญในเรื่องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน  ไม่ใช่เป็นการแข่งขันเพื่อชนะคู่แข่งในวันนี้และกลายเป็นผู้แพ้ในวันพรุ่งนี้  แต่โจทย์คือทำอย่างไรให้การแข่งขันมีความยั่งยืน บริบทของสังคมในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต องค์กรไม่ได้มุ่งเน้นผลลัพธ์ทางการเงินอย่างเดียว แต่มีความท้าทายเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นตัวแปรในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรนั้นๆ ซึ่งในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ศึกษาโดย Price water house Coopers(PWC) ใน 5 มิติ ได้แก่ 1.สภาพภูมิอากาศ เพราะโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง กลายเป็นโลกเดือด อุณหภูมิเฉลี่ยต่างๆ สูงขึ้น ส่งผลกับทรัพยากรธรรมชาติ และแน่นอนว่าในภาคธุรกิจต้องมีการใช้วัตถุดิบบางอยางจำกัดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น  2. เทคโนโลยี อย่างการใช้ AI ที่จะเป็นเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือให้คนนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในการทำงาน แต่บุคลากรมีความพร้อมความแค่ไหน

ผศ.ดร.วัชพจน์ ทรัพย์สงวนกุล

3.ประชากรศาสตร์ ทั่วโลกมีอัตราการเกิดน้อยลง คนสูงวัยมากข้น  ส่งผลต่อพฤติกรรมบริโภค คนมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศน้อยลง 4.ภูมิรัฐศาสตร์  ปัจจุบันมีทั้งสงครามที่ใช้อาวุธ และสงครามการค้า  โดยสงคราการค้าระหว่างประเทศในอดีตระหว่างสหรัฐ และจีน วันนี้มีประเทศเกิดใหม่ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย  ที่มีศักยภพาด้านการผลิต และความต้องการ ในฐานะผู้ประกอบการ ทำอย่าไรจะพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ และ 5. สังคม  สินค้าหรือบริการที่ลดการสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากกว่านั้นคือการบริหารองค์กกรต้องตอบโจทย์  มีความโปร่งใส ความถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับที่จะต้องมีแผนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้

“ดังนั้นในภาวะที่ผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด19 โจทย์หลักคือการทำให้องค์กรแข่งขันได้ในภาวะวิกฤติ หลังโควิด19โดยใช้หลัก 5P คือ 1.หลักสำคัญองค์กรวันนี้คือ กำหนดคุณค่าและหัวใจของการมีอยู่ขององค์กร เป็นที่ยอมรับทั้งคนในองค์กรและลูกค้า 2.คนเป็นส่วนสำคัญขององค์กร ต้องทำให้เขาเข้าใจ และส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ผลงาน ต้องมีการประเมินหลากหลาย ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่าเดียว ต้องมีมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย 4.วิธีการ โดยกระบวนการต่างๆ ตอบโจทย์ลูกค้า และตอบโจทย์คนทำงาน 5.พันธมิตร ต้องตั้งเป้าหมายทั้งผู้ให้บริการ(Suppliers) และคู่แข่ง เพื่อขยายโอกาสทางอุตสาหกรรและจับมือกันให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง STECO มีหน้าที่ในการสร้างงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ และนำไปให้ผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจใหม่ การวางระบบองค์กร เพื่อให้เกิดการสร้างการเติบโตอย่างครบวงจร” ผอ. STECO กล่าว

ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมไทยคือ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นมาในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าขณะนี้อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ทำให้เมื่อมีการลงทุนเทคโนโลยีก็พร้อมที่จะตกรุ่น ซึ่งคือความท้าทาย และในปัจจุบันที่ Technology Disruption เป็นเทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นและกำลังมาในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Cloud , HybridWorkplace , Cyber Security, Data and AI Maturity , Blockchain cross industries , EdgeComputing และ Iot , Virtual รวมทั้ง Web 3.0 และ Metaverse (เมตาเวิร์ส) คือ สิ่งที่จะพลิกโฉมโลกธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ในด้านสงครามการค้า ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศสงครามการค้ากับจีนอย่างเป็นทางการ และยังมีสงครามเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันมีการแบ่งชัดเจนว่าโลกจะใช้เทคโนโลยีของค่ายตะวันตกหรือตะวันออก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและกำลังเกิดหนักขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายและคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล

“ล่าสุดมีข่าวว่าทางผู้นำยุโรปหลายชาติรวมทั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(NATO) ได้อนุมัติและอนุญาตให้อาวุธที่ส่งไปให้กับยูเครนสามารถยิงเข้าไปในรัสเซียได้ ทำให้รัฐเซียขู่กลับว่าจะมีการยิงนิวเคลียร์เกิดขึ้นแน่ และอาจเป็นฉนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ ส่วนในแถบเอเชีย ยังมีความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน รวมไปถึงในช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีนกับไต้หวันที่จะมีการประกาศตัวจะเป็นอิสระจากจีนอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้สร้างความตึงเครียดและทำให้ส่งผลต่อบรรยากาศในลงทุนและการค้าขายของโลก  ยังมีในช่วงวิกฤตโควิด19 ทำให้ทั่วโลกเกิดอาการที่เรียกว่า อาการลองโควิด SMEและภาวะโลกเดือด  “ประธานสภาอุตฯกล่าว

เกรียงไกร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในประเทศที่มีหนี้สูงเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 5 ของตลาดเกิดใหม่ เป็นหนี้จากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ บวกกับหนี้ภาครัฐ รวมกันมีอยู่ถึง 268%  ส่วนอันดับ 1 คือ ฮ่องกง รองลงมาคือ  สิงคโปร์ จีน  และเกาหลีใต้ อันนี้ยังคงเป็นแผลเป็นอยู่ซึ่งเป็นผลจากอาการลองโควิดที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่ากลัว คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 91% หมายความว่ามีเงิน 100 บาทใช้จ่ายจะเหลือในกระเป๋าไม่ถึง 10 บาท เพราะค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นกับรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กัน มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ นี่คือปัญหาที่กดทับเรื่องของกำลังซื้อของประเทศไทย และที่สำคัญเมื่อกู้ในระบบไม่ได้ก็ต้องไปกู้นอกระบบที่ต้องเจอกับดอกเบี้ยที่แพงมาก เป็นอีกปัญหาใหญ่ของประเทศไทย อีกความเชื่อที่ถูกกรอกหูมาตลอดว่าโลกนี้เป็นโลกาภิวัฒน์(Globalization) แต่จู่ๆเปลี่ยนเป็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์(Deglobalization) จากที่ผลิตสินค้าที่ไหนก็ได้ในโลก ก็เกิดการย้ายฐานผลิตไปอยู่ข้างๆ บ้านเพื่อป้องกันการถูกรบกวนทางด้านการขนส่ง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตอนนี้อเมริกาสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่เม็กซิโก จีนย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในเม็กซิโกและเกิดคำศัพท์ใหม่ คือ Friend Showing คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่เป็นมิตร

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังผลักดันการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เรื่องฮาร์ดดิสไดร์ฟ เรากำลังจะขยับเข้ามาสู่ช่วงกลางของการผลิตเราเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์อันดับ 1 ของโลก แต่มูลค่าการส่งออกไม่มาก เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มาก ข้อดีของประเทศไทยในการแข่งขันคือ แม้ว่าค่าไฟจะแพงแต่มีความเสถียร ซึ่งการลงทุนในเวียดนามเริ่มมีปัญหาเนื่องจากมีกลุ่มธุรกิจแห่ไปลงทุน ทำให้การใช้ไฟไม่เพียงพอเกิดไฟดับในหลายพื้นที่ จึงเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตออกมา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ประเทศไทยพร้อม และอยู่ในจอเรดาร์ของผู้ที่อยากเข้ามาลงทุนใช้วิกฤตครั้งนี้ในการสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้น สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในการที่จะออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยรวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

สนั่น อังอุบลกุล

ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ คือ Geo-Politics ที่เปลี่ยนแปลงและมีความรุ่นแรงมาก เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการลงทุน  แยกเป็น 3 ขั้ว คือ แดง-น้ำเงิน-เขียว โดยสีแดง คือ จีน เป็นมหาอำนาจขึ้นมาและไม่ยอมอยู่ภายใต้สีน้ำเงิน คือ อเมริกา เป็นสองขั้วใหญ่ โชคดีที่มีสีเขียว คือประเทศที่วางตัวเป็นกลาง  โดยไทยเราถูกบีบให้อยู่ในสีเขียว ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่จะมีการเปลี่ยนผู้นำในโลกกว่า 40 ประเทศ ที่รวมถึงถึงอเมริกา ซึ่งจีนในปัจจุบันและอนาคตกำลังล้ำหน้ากว่าอเมริกาทุกด้าน ทั้งเทคโนโลยี ทั้งคน

 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า ต้องบอกว่าไทยวางตัวเป็นกลาง จีนมาก็ต้อนรับ เพราะเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน ในส่วนอเมริกา ก็มีความสัมพันธ์กับยาวนาน เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย  ซึ่งกระทรวงต่างประเทศวางตัวเป็นกลางได้ดีมาก ทำให้เชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสดีกว่าปีนี้จากที่คาดว่าจะโต 2.2-2.7% แต่ในปีพ.ศ.2568 เศรษฐกิจไทยน่าจะโต 3% ได้ เพราะนอกจากการลงทุนจากต่างชาติแล้วยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลชุดนี้ได้คุยเรื่องยกเว้นวีซ่ากับประเทศต่างๆ จะสามารถทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้น จากปีนี้ที่เราคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 35-36 ล้านคน ในปีหน้าหากเหตุการณ์การเมืองไม่รุนแรงมากไป  ก็มีสิทธิ์ได้นักท่องเที่ยวมาไทยไม่น่าต่ำกว่า 40 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงเพิ่มขึ้นมาก  อุตสาหกรรมอยู่ที่กินบุญเก่า โดยสภาอุตสาหกรรมก็พยายามที่จะพัฒนาและส่งเสริมร่วมกับรัฐบาล ในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ประธานสภาหอการค้าฯ ยอมรับว่ามีแต่คนบ่น  โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีโรงงานปิดตัวเป็นพันแห่ง SMEs ไม่มีเงินหมุนเวียน จะกู้สถาบันการเงินก็ใม่ปล่อยหรือเข้าไม่ถึง  ซึ่งส่วนนี้สร้างความกังวล   แต่โชคดีในไตรมาสที่ 3 จะมีงบประมาณแผ่นดิน 3.4 ล้านล้านบาทอัดฉีดช่วยให้การลงทุนขั้นพื้นฐานและเอกชนมีการเบิกจ่าย ที่จะช่วยพยุงเศรษกิจดีขึ้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) ที่มีทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคาร  พยายามทำงานร่วมกับภาครัฐให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากที่สุด อีกเรื่องคือ เงินดิจิทัลวอลเลต ที่ตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถจะฟันธงได้  แต่ถ้าในกรณีที่รัฐบาลได้สัญญาว่าอย่างน้อยไม่แจก 50 ล้านคน แต่เริ่มแรกจะแจกให้ 15 ล้านคนในไตรมาส 3 ปีนี้ก่อน  หากทำได้ก็จะมีเงินมา 1.4-1.5 แสนล้านบาทที่จะทำให้ตัวเลข GDP เติบโต 0.5% เพราะปัจจุบัน GDP ของไทยโตได้ 2.2 – 2.7% ส่งออกโต 0.5-1%  แต่ขณะเดียวกันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ 0.1-1%

 ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ ไทยจะต้องปฏิรูปประเทศใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ด้านภูมิศาสตร์ ความขัดแยงระหว่างอเมริกากับจีน 2.ด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่ไทยมีความล้าหลัง ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย(กกร.) พยายามที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูเพื่อตัดกฎหมายที่ล้าสมัยให้ลดลงเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ  3.ความท้าทายด้านประชากรซึ่งไทยอยู่ในภาวะสังคมสู่วัยกว่า 13 ล้านคน และจะมากขั้นปีละ 1 ล้านคน และ4.ด้านการศึกษา ตอนนี้ประเทศจีน ขาดแคลนสถานศึกษา ม.หอการค้า มีทั้งโรงเรียนระดับมัธยมและมหาลัย เพื่อนำนักเรียนจากจีนมาเรียนในประเทศไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนคน  ดังนั้นจะต้องมาพิจารณาเราเรื่อง Long-Term Resident Visa (LTR) ให้คนกลุ่มนี้ เพื่อในอนาคตด้านแรงงาน หรือคนมีฝีมืออยากมาทำงานในไทย เพิ่มกำลังการลงทุน การผลิต ยกระดับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งศูนย์สืบสานอุปรากรจีน สานต่องิ้วศิลปะล้ำค่า

เปิดการแสดงงิ้วถ่ายทอดศิลปะล้ำค่า เชื่อมไมตรีประเทศไทยและประเทศจีนอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 42 ปี งิ้วไทย-จีน    การสืบสานงิ้วศิลปะโบราณครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม สมาคมอุปรากรศิลปะไทย-จีนแห่งประเทศไทย

'ศุภมาส' ให้ วศ.อว. ผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ล่าสุด 'เฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab)' ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จแล้ว

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก ไม่สามารถผลักดันสู่การใช้งานจริงได้ เนื่องจากขาดการรับรองคุณภาพของผลงานวิจัย โดยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมส่วนใหญ่ยังไม่มีเกณฑ์กำหนดหรือมาตรฐานมารับรองคุณภาพ

'อัลฟ่าเซค' จับมือ 'ส.อ.ท.' ทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศของงาน Made in Thailand

อัลฟ่าเซค ร่วมมอบ “ใบรับรองระบบมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001:2022” ให้กับ ส.อ.ท. ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ MiT และเตรียมรับมือกับ ภูมิทัศน์ไซเบอร์ในปี 2567

'รมว.ศุภมาส ห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ วศ.อว. เร่งสร้างความมั่นใจผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ'

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และสร้างปัญหาสุขภาพ รวมถึงความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยที่กระทรวง อว. มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน