เป็นเวลาหลายปีที่ประเทศไทยปักหมุดหมายที่จะเป็น”ครัวโลก” แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่บรรลุเป้าอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกได้ก็คือ “อาหารไทย” ซึ่งต้องมีพลังขับเคลื่อนในระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถส่งออกและมีมูลค่าตลาดที่สูง
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายสุริยะ กล่าวว่า คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้นโยบายรัฐบาล IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง สามารถประสบผลสำเร็จ ในการยกระดับประเทศไทย สู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี ที่ประชุมฯได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในการจัดทำแผนพัฒนาและบริหารจัดการด้านอาหาร สู่การปฏิบัติระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบในหลักการให้กำหนดนิยาม “อาหารอนาคต” และ “ระบบการผลิตสินค้าเกษตรเพื่ออาหารในอนาคต” เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็นแนวทางกำหนดขอบเขตและจัดทำแผนงานการพัฒนาระบบเกษตรเพื่ออาหารในอนาคต ทั้งนี้ ให้ทบทวนและปรับนิยาม“อาหารอนาคต”และแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทางด้านภาควิชาการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 7 เพื่อสร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้ยั่งยืนบนเวทีโลก พร้อมระดมความเห็นจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นด้านข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนำเสนอประเด็นโจทย์วิจัยสำคัญ และรับข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
รศ. ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่าสำหรับ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มีแผนงานย่อย Flagship F3 (S1P2) ยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients, Functional Food, Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยจะต้องมีมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ Functional Ingredients, Functional Food และ Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2566 – 2570 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ซึ่งเวทีเสวนานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ ววน.
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ใน 4 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 1 เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 4 การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 6 อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุสาหกรรมดิจิทัล และหมุดหมาย 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ที่จะเป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูงต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องต้องมีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม
ขณะที่ รศ. ดร. ณัฐดนัย หาญการสุจริต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านอาหารอนาคต สกสว. และ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรรูปเพียงขั้นต้นเท่านั้น เกษตรกรไทยจึงมีความเปราะบางสูงและมีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลับมีต้นทุนการผลิตที่สูง การผลิตยังต้องพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ (น้ำ ที่ดิน และสภาพดินฟ้าอากาศ) ที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหารจะเน้นไปในเรื่องความยั่งยืน สุขภาพและโภชนาการ ความซื่อตรงและโปร่งใส รวมถึงการใช้ปีญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา นอกจากนี้เทรนด์ทางด้านอาหารจะเน้นไปที่อาหารสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน อาหารโภชนาการจำเพาะบุคคล โปรตีนทางเลือก รวมถึงการใช้กระบวนการใหม่ ๆ ปัญญาประดิษฐ์ การหมักแบบแม่นยำ และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและมาตรฐาน และผู้บริโภคและการค้า อีกด้วย
โดยภายในเวทีเสวนา ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเป็นวิทยากรพร้อมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. การวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหารอนาคต โดย นางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. ความท้าทายและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทย โดย ผศ. ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า 3. แนวโน้มและโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยในเศรษฐกิจโลก โดย เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
4. การขับเคลื่อนกฎระเบียบและมาตรฐานเพื่อคุณภาพ ความปลอดภัยและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต โดย เภสัชกรหญิง สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 5. ประเด็นที่น่าจับตามองและการรับมือสถานการณ์โลกที่กระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร โดย ดร.พิเชฐ อิฐกอ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 6. นโยบายการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย โดย นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ 7) ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย รศ. ดร. ณัฐดนัย หาญการสุจริต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
เล่น 'ภูมิใจขวาง' ซะแล้ว! 'สุริยะ' ยันมีหลักฐาน เขากระโดง 5 พันไร่เป็นที่รถไฟ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนายทรง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
'วันรัฐธรรมนูญ' 10 ธ.ค. นี้ ขึ้นทางด่วนฟรี 3 สายทาง รวม 61 ด่าน
เช็คที่นี่ 'วันรัฐธรรมนูญ' 10 ธ.ค. นี้ การทางพิเศษฯประกาศยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ 3 สายทาง รวม 61 ด่าน ชี้ช่วยอำนวยความสะดวก-ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน
'สุริยะ' เล็งหารือกรมบัญชีกลางปมออก 'สมุดพกผู้รับเหมา'
“สุริยะ" เผยเดินหน้ามาตรการ "สมุดพกผู้รับเหมา" พบทำผิด พร้อม “ตัดคะแนน-ลดชั้น-ถอดจากทะเบียน” เตรียมเข้าหารือกรมบัญชีกลางเร็วๆนี้ ด้าน “กรมทางหลวง”คาดสอบสาเหตุเสร็จใน14 วัน
'คมนาคม' คาดเดินทางปีใหม่พุ่ง17 ล้านคันสั่งหยุดก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ชั่วคราว
'คมนาคม'เปิดตัวเลขประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลปีใหม่ รถยนต์เข้า - ออกกรุงเทพฯ พุ่งกว่า 17 ล้านคัน สั่งหยุดงานก่อสร้าง 'ถนนพระราม 2'หวังประชาชนเดินทางสะดวก