'ปลุกมหา'ลัยไทย 'สร้างพันธมิตรก้าวสู่'มหาวิทยาลัยดิจิทัล'

“ในโลกปัจจุบันเราไม่สามารถหนีพ้นความเป็นดิจิทัล แต่ใครจะวิ่งได้เร็วกว่าพร้อมก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ และอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ มีประสิทธิภาพ และไม่ถูกหลอก   คนไทยควรตระหนักถึงความสำคัญและมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย”

คำกล่าวตอนหนึ่งของ รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ในเวที“DU Forum เปิดนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล” ณ ห้องประชุมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จัดโดยโครงการการสร้างนิเวศสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเพื่อสร้างพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดประตูสู่การสร้างความรู้จักพัฒนาเครือข่ายนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัลทั่วประเทศ  สร้างการเชื่อมต่อและผนึกกำลังกับเครือข่ายทั้งภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน


“งานนี้มหาวิทยาลัยจะเชื่อมต่อกับโลกได้ต้องปรับลดการทำงานแบบต่างคนต่างทำ (Silo) สร้างพื้นที่การเชื่อมต่อ โดยการเชื่อมต่อมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยกับชุมชน มหาวิทยาลัยกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นการ “เชื่อมเพื่อใช้” ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ในนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล”รศ.ดร.พีรเดช กล่าว

พร้อมกับกล่าวถึงบทยาทของ สถาบันคลังสมองฯ ว่า ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มุ่งสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’เต็มรูปแบบ จึงต้องมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความพร้อม ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่มหาวิทยาลัยจะขับเคลื่อนไปได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดควรจะมีองค์ประกอบใดบ้างเพราะระบบนิเวศดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายที่เดินไปด้วยกันโดยไม่โดดเดี่ยว

ขณะที่ อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลระบุว่า ความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบนิเวศดิจิทัล ประการแรกคือ การแบ่งปันทรัพยากรซึ่งจะทำให้เห็นชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยใดได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อนประการต่อมาคือ การนำไปใช้ให้ตรงกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มียุทธศาสตร์เป้าหมายของตน  ประการสุดท้ายการขับเคลื่อนขององค์กรต่าง ๆจะต้องมุ่งไปที่วัตถุประสงค์เป็นสำคัญมากกว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงต้องทำให้ผู้บริหารระดับบนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างตรงจุด  ทั้งยังเป็นการเหลาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มักเรียกกันว่า ‘หัวสี่เหลี่ยม’ ให้กลมขึ้นก่อนขับเคลื่อนองคาพยพทั้งประเทศต่อไป

“สำหรับการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกนั้น ในอดีตมองว่าเป็นโลกของการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริงมี 3 สิ่งที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่ไม่มีใครแย่งไปได้ จึงต้องหาให้เจอว่าเราเก่งเรื่องอะไร2. พันธมิตร มีหลายส่วนที่เพื่อนถนัดกว่าเรา การมีเพื่อนเข้ามาอยู่ร่วมวงจะทำให้อัตลักษณ์ของเรามีความแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น 3. กลุ่มดิจิทัลที่เชื่อมโยงการทำงาน เพื่อให้เห็นระยะเวลาความเร็วและน้ำหนักของงาน”

อ.ดนัยรัฐ กล่าวอีกว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อระบบนิเวศดิจิทัล อันดับแรกจะต้องเป็นลูกค้าหรือผู้รับบริการของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษามีทางเลือกขณะที่มหาวิทยาลัยเองยังสามารถประหยัดสุดและประโยชน์สุดเพียงแค่กะเทาะกรอบความคิดจากการแข่งขันเป็นการแบ่งปัน สิ่งที่จะได้กลับไปคือมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบของโลก  ที่ทำให้เราก้าวไปด้วยกันและไปได้ไกล นั่นคือคลัสเตอร์ของความสามารถทางเทคโนโลยีในโลกแห่งความจริง มิใช่เพียงนำข้อมูลมาแปะแล้วแต่งตัว  เราต้องเชื่อมเป้าหมาย เชื่อมกระบวนงาน แล้วจึงเชื่อมเทคโนโลยีถ้าเรากลัดกระดุมไปที่เทคโนโลยีก่อน หลายครั้งจะเจอคำว่าโมฆะแต่ดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อไปสู่ความร่วมมือ ทำให้คุยกันได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น

“ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราต้องเริ่มต้นจากการใส่ใจตัวเอง ใส่ใจคนอื่นให้เป็นหาตัวเองให้เจอ จึงจะหาคนอื่นมาหนุนเสริมได้ถูกต้องโดยไม่มีใครถูกทิ้งให้เสียเปรียบ และต้องยุติธรรมต่อกันสุดท้ายต้องแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี ทั้งนี้จะต้องหาให้เจอว่าสิ่งที่ทำมีเป้าหมายอะไร  ระยะที่สองจะเกิดอะไรขึ้นด้วยหลักการ care, fair และ share”อ.ดนัยรัฐกล่าว

ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันในเชิงนโยบายนั้น  ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัลสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัยมีนโยบายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัลโดยทปอ. ได้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้จึงจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยกันทำงานเพื่อสร้างความตระหนักแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ การใช้ดิจิทัลไอดีและการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยของไทยในภาพใหญ่สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยไม่มีความแตกต่างในการพัฒนาดิจิทัลมากนัก


“ทั้งนี้การพัฒนาดิจิทัลได้ผ่านมาหลายคลื่นแล้ว  แต่ในยุคนี้เป็นโอกาสที่สำคัญเนื่องจากเรามีคนที่มีความรู้และมีกำลังคนด้านดิจิทัลพอสมควรที่จะช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้การศึกษาของไทยก้าวสู่ยุคใหม่ และพัฒนากำลังคนศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต”ดร.วรา กล่าว

รศ. ดร.บวร ปภัสราทร ว่าที่ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติกล่าวย้ำว่าตนจะสานต่อนโยบายมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยเสริมบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยไทยในโลกปัจจุบันจากเดิมที่ต้องมาเรียนกันในรั้วมหาวิทยาลัยถึงจะได้รับปริญญาแต่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะทำให้ทุกคนทุกช่วงอายุได้เพิ่มทักษะของตัวเองให้มีความสามารถในการทำงานหรือการจ้างงานมากขึ้นประเทศไทยต้องการทักษะนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากเรากำลังมีปัญหาเรื่องวัยแรงงานที่มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“บทบาทของสถาบันคลังสมองฯ จะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างมหาวิทยาลัยไทยให้มีความเข้มแข็งด้านดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของไทยในบริบทของดิจิทัลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสได้งานมากขึ้นทั้งนี้ผลจากการวิจัยของตนยืนยันได้ว่าคนไทยยอมรับเทคโนโลยีใหม่ได้รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความจริงคือเรารับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้โดยที่ยังเข้าใจแก่นของเทคโนโลยีได้น้อยมากจึงขอฝากว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีแต่อย่าตกเป็นทาส อย่าหลงกลโดยเด็ดขาด” รศ. ดร.บวรกล่าวทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โปรดเกล้าฯ องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานช่วยน้ำท่วมแพร่

31 ส.ค.2567 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายนุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,000 ถุง ไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด

'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี67 ยกย่องแพทย์หนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ

ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน