หลักจริยธรรมเอไอ ประเทศไทยมีแล้วหรือยัง?

ปัจจุบันในโลกแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม   AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่มีการพัฒนาให้มีความสามารถเท่าเทียมหรือเหนือกว่ามนุษย์ ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาต่อมนุษย์และมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานขององค์กรหรือในอุตสาหกรรมที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ แบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้แรงงานคน ที่สำคัญคือคลังสมองของเอไอที่สามารถช่วยในการเก็บข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ ภาพสะท้อนบทบาทของเอไอที่เข้ามาช่วยในการทำงานมนุษย์ อาทิ  การแพทย์ ที่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค การติดตามอาการผ่านทางออนไลน์ หรือในองค์การที่ต้องการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า

หรือระบบตอบกลับอัตโนมัติ (Chatbot) ที่ทุกธุรกิจสามารถนำไปใช้งานเพื่อสนับสนุนการให้บริการแก่ลูกค้า ในรูปแบบที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ หรือในด้านการศึกษาแชทบอท สามารถค้นหาและรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งและการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนหรือครูสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนอย่างมาก และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมการพัฒนาเอไอ ไม่ได้มีการปิดกั้น แต่เงื่อนไขสำคัญของการมีตัวตนและมีความคิดคือการมีจิตรู้สำนึก ซึ่งเป็นสิ่งซับซ้อนและยากที่คอมพิวเตอร์จะสามารถเลียนแบบมนุษย์ การที่จะให้เอไอ มีจิตสำนึกแบบมนุษย์ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเป็นได้ ต้องมีพัฒนาการ ต้องอยู่ในชุมชนมนุษย์ ต้องผ่านวิวัฒนาการทางภาษาและประสบการณ์ ในขณะที่มนุษย์ย่อมกลัวการที่ตัวเองจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งไม่มีชีวิต กลัวการไม่มีที่อยู่ กลัวการสูญพันธุ์ การที่มนุษย์กลัวเอไอ อาจจะเหมือนกับการกลัวหุ่นยนต์ครองโลกเหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง      

 ดังนั้นประเด็นทางจริยธรรมของเอไอจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรมีกลไกทางจริยธรรมเป็นข้อกำหนดแนวทางให้นักพัฒนาและผู้ใช้เอไอ ได้รู้เป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้เอไอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความท้าทายอย่างมาก เพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างเอไอกับมนุษย์มีความเป็นปกติในบริบทของโลกที่กำลังพัฒนาไปข้างหน้า โดยในงานเสวนาจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูล และอัลกอริธึ่มประเทศไทย 2567 AI : Ethics Exhibition Thailand 2024 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น มีการนำเสนอมุมมองทางจริยศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์อย่างรอบด้านเพื่อการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างกลมกลืนกับบริบทในชีวิตยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อุปนายก สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า ๅเอไอ เปรียบเสมือนกับการจำลองความฉลาดของมนุษย์โดยส่งต่อไปที่ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้งานช่วยเบาแรงมนุษย์ ซึ่งระบบของเอไอก็จะเกิดการเรียนรู้จากพฤติกรรมของมนุษย์ แต่จะทำอย่างไรให้มนุษย์กับเอไออยู่ด้วยกันได้  ดังนั้นจึงมี Human Centered AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งนักวิจัยเอไอในปัจจุบันได้หาเทคนิคการพัฒนาเอไอ โดยมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมการทำงานของเอไอ เพื่อไม่ให้ไปสู่จุดที่เอไอเป็นผู้ทำร้ายโลก ดังนั้นหากเอไอมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างไม่รอบคอบ ตัวอย่างเคสที่ใช้เอไอรับสมัครพนักงานเมื่อปี 2018 โดยคนได้ส่งใบสมัครเข้ามา และเอไอจะเป็นฝ่ายเลือกรับหรือไม่รับเข้าทำงาน โดยในตำแหน่งวิศวกร มีผู้หญิงสมัครเข้ามากี่คนก็จะถูกปฏิเสธทั้งหมด จึงเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเอไอถึงมีการเหยียดเพศ ซึ่งสาเหตุมาจากอคติของข้อมูลที่ระบุในเอไอ เพราะในอดีต 10 ปีที่แล้ว ข้อมูลของผู้หญิงที่เรียนหรือทำงานวิศวกรยังไม่มี เพราะฉะนั้นการที่เอไอทำงานผิดพลาดส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่ฝึกฝนยังไม่เพียงพอ

“ประเด็นที่สำคัญของนักพัฒนาเอไอ คือ ในการฝึกสอนเอไอต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลให้ครอบคลุม หลากหลาย เท่าเทียม และไม่มีอคติ ซึ่งเป็นข้อสำคัญในหลักจริยธรรมของเอไอ รวมไปถึงหลักด้านจริยธรรมเอไออื่นๆ เช่น ไม่ทำลายมนุษย์ ปลอดภัย เกิดนวัตกรรมใหม่ๆและยั่งยืน ที่สำคัญคือสอดคล้องกับกฎหมาย เช่น การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องไม่เข้าข่ายละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) เป็นต้น มีความโปร่งใส เพราะในขณะที่เอไอเรียนรู้ได้เอง อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่มนุษย์สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ และมีความน่าเชื่อถือให้ได้ประมาณ 80% ดังนั้นจึงต้องมีจริยธรรมเอไอขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้การพัฒนาเอไอถูกทำขึ้นมาอย่างปลอดภัย” ผศ.ดร.รัชฎา กล่าว

ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม กล่าวถึงปัญหาของเอไอที่มนุษย์ต้องให้ความสำคัญว่า หากเอไอ เป็นเพียงแบบฝึกหัดที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเอไอได้ถูกพัฒนาขึ้นผนวกรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆและถูกนำไปใช้ในสังคม อย่างรถยนต์ที่มีการผลิตด้วยเทคโนโลยีเอไอ นำสู่การขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งมีกรณีที่ออกเป็นข่าวว่ารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่สามารถตรวจจับคนที่อยู่ด้านหน้ารถจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพราะมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า ซึ่งการสะท้อนปัญหาของเอไอไม่ได้หมายความว่าเอไอไม่มีข้อดี แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างของการใช้เอไอให้น้อยที่สุด แต่ก็มีการใช้เทคโนโลยีเอไอที่มุ่งทำร้ายคนตั้งแต่ต้นคือ การนำไปทำอาวุธสงคราม อาทิ เอไอควบคุมการทำงานของโดรนที่ใช้เป็นอาวุธ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาระดับสหประชาชาติ ที่ทุกประเทศอาจจะมีการแนวนโยบายในการบังคับควบคุมการพัฒนาและใช้เอไอในการทำขึ้นเพื่อทำร้ายมนุษย์

ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นคนจะต้องเป็นผู้ควบคุมและนักพัฒนาจะต้องมีการคำนึงและตระหนักต่อจริยธรรมเอไอ เปรียบเทียบกับเอไอที่สะท้อนผ่านในภาพยนตร์เดอะ เมทริกซ์ ทำให้เห็นภาพของเอไอที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตมนุษย์ซึ่งเป็นไอเดียผู้เขียนทำให้เห็นความล้ำหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งในฐานะมนุษย์อาจจะมีความกลัวหากเกิดเทคโนโลยีลักษณะแบบในภาพยนตร์ ก็คงต้องย้ำเรื่องเดิมคือ มนุษย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการสร้างกรอบและแนวทางของการพัฒนาและการใช้เอไอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด

เอไอกับนโยบายภาครัฐ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า หลังจากที่ทุกคนได้รู้จัก Chat GPT ก็กลายเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าในเงื่อนไขการใช้งานจะมีการระบุว่า ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ใน Chat GPT อาจจะไม่ถูกต้องและมีอันตราย แม้แต่บริษัทที่พัฒนา Chat GPT ขึ้นมาก็บอกชัดเจนไม่รับzผิดชอบในการใช้งาน ถึงอย่างนั้นคนก็ยังนิยมใช้กัน เพราะข้อดีคือ การตอบคำถามได้ทุกอย่าง ซึ่งคนก็สามารถเรียนรู้ได้เองว่าคำตอบที่ได้ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานระดับโลก อย่าง  องค์การสหประชาชาติ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้มีการออกหลักการเพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับระบบเอไอ

สำหรับประเทศไทย ได้มีการออกข้อกำหนดหลักจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ที่ได้แนวทางมาจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ทำเป็นมาตรฐานสากล และเพิ่มเติมเพื่อให้ตรงกับบริบทของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้ออกหลักจริยธรรม เช่น เคารพหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน ค่านิยมประชาธิปไตย และความหลากหลายอย่างเท่าเทียม, มีความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล, ความโปร่งใส และภาระความรับผิดชอบ, ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำหลัการจริยธรรมไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรฐานการพัฒนาและใช้เอไออย่างปลอดภัยในแต่ละบริบทอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดธรรมมาภิบาลในการประยุกต์ใช้เอไอจะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล 2.การกำหนดกลยุทธ์ในการประยุกต์ใช้เอไอ และ3.การกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเอไอ  .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7

จุฬาฯ ปักธงยุทธศาสตร์ปี 68 ดันสยาม-บรรทัดทอง สู่พื้นที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน

ถ้าใครมีโอกาสแวะมาเดิน Siam Square ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ อาจจะแปลกใจ ที่สยามสแควร์ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับนักช็อป หรือวัยรุ่นที่มาเปิดหมวกร้องเพลงเท่านั้น

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand